Thai / English

อุตฯทุ่มไม่อั้นชิงแรงงาน ออร์เดอร์ล้นยอมจ่ายเพิ่ม-โอที-ใช้ต่างด้าว



12 .. 53
ประชาชาติธุรกิจ

ภาคอุตสาหกรรมเปิดศึกแย่งแรงงาน หลังออร์เดอร์พุ่ง ตัวเลขขาดแคลนคนงานทะลุ 3 แสนโรงงาน ยักษ์ใหญ่พลิกกลยุทธ์ทุ่มสุดตัวจูงใจแรงงานกลับเข้าโรงงาน ทั้งเพิ่มค่าจ้าง-สวัสดิการ-โอที-เบี้ยขยัน-จัดที่พักอาศัย บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังยอมจ่ายสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ โรงงานย่านปทุมธานี-สมุทรปราการ-พระนครศรีอยุธยา ตั้งโต๊ะประกาศรับคนเพิ่มอุตลุด บอร์ดบีโอไอตีกลับ ยังไม่ยอมให้เพิ่มโควตาใช้แรงงานต่างด้าว

ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากกระทรวงแรงงานระบุว่าจนถึงขณะนี้ ภาวะการขาดแคลนแรงงานพื้นฐานในภาคอุตสาห กรรมการผลิต-ส่งออก เพิ่มสูงถึงระดับ 200,000-300,000 คน ภายหลังคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, อาหาร ฯลฯ ต่างต้องเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง แต่ติดปัญหาเรื่องจำนวนแรงงาน ทำให้ในขณะนี้ นอกจากภาคเอกชนจะปรับกลยุทธ์ด้วยการยอมจ่ายค่าตอบแทนเพิ่ม เปิดรับสมัครแรงงานอย่างต่อเนื่องทั้งย่านปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครราชสีมา ฯลฯ แล้ว ผู้ประกอบการบางส่วนยังหันมาใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น ในขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ยอมพิจารณาขยายเพดานในการให้สิทธิ์ผู้ประกอบการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ อุตสาหกรรม

นายพงศักดิ์ เปล่งแสง โฆษกกระทรวงแรงงาน ฝ่ายการเมือง ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตแรงงานในส่วนของกระทรวงแรงงานว่า หลังจากที่นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมได้นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาหลายข้อ เช่น การอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวทำงาน ในจังหวัดที่มีสถานศึกษาอยู่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นราชภัฏ ราชมงคล ภาคอุตสาหกรรมสามารถดึงเด็กเหล่านี้เข้ามาทำงานได้ในบางช่วง นอกจากนั้น บางบริษัทยังได้จัดโครงการให้พนักงานในโรงงานไปชักชวนญาติมาทำงานที่โรงงานโดยจ่ายเงินพิเศษให้

นอกจากนั้น นายไพฑูรย์ยังมีแนวความคิดให้สำนักงานประกันสังคมศึกษา กรณีแรงงานที่ขึ้นทะเบียนว่างงานและกลับมาทำงานเร็วจะให้โบนัสพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลพบว่าปัจจุบันความต้องการแรงงานพื้นฐานในโรงงานมีสูงถึง 2-3 แสนคน โดยมีการแจ้งความประสงค์ผ่านกรมการจัดหางานสูงถึงเดือนละ 4-5 หมื่นคน

บอร์ดบีโอไอไม่โอเคใช้ต่างด้าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาข้อเสนอนโยบายผ่อนผันการจ้างแรงงานต่างด้าว ไร้ฝีมือเป็นการชั่วคราว แต่เนื่องจากยังมีกรรมการในที่ประชุม อาทิ นายอำพน กิตติอำพล เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กับกรรมการจากเอกชนบางคน มีความเป็นห่วงในเรื่องสถานภาพของแรงงานไทยในอนาคต รวมถึงการควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาจึงยังไม่มีมติในเรื่องนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้บีโอไอกลับไปหารือกับผู้ประกอบการแต่ละราย ทั้งรายที่ขอและได้รับการส่งเสริมการลงทุนถึงความจำเป็นในการจ้างแรงงานต่างด้าว

ข้อเสนอดังกล่าว จะเป็นการผ่อนผันให้โครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนสามารถจ้างแรงงานต่างด้าวได้ โดยได้กำหนดอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในการผลิตเป็นหลัก 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์-ชิ้นส่วนยานยนต์-อาหาร-สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า โดยผ่อนผันให้จ้างแรงงานต่างด้าวได้ในสัดส่วน 20-40% ของการจ้างในแต่ละโครงการ

โรงงานทุ่มจ่ายค่าแรงเพิ่ม

แหล่งข่าวจากโรงงานอุตสาหกรรมใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการจ่ายค่าแรงสูงกว่าแรงงานขั้นต่ำเพื่อดึงดูดแรงงานเข้ามาทำงาน ทำให้ขณะนี้เกิดการแข่งขันเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพื่อแย่งชิงแรงงาน

กรณีบริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ ที่มีโรงงานอยู่ที่บางปะอิน ปกติต้องจ่ายค่าแรงตามมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดพระนคร ศรีอยุธยาที่วันละ 181 บาท ก็ใช้วิธีจูงใจด้วยการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามเรตของกรุงเทพฯ ที่ 206 บาท ขณะที่บางแห่งจ่ายสูงกว่า นั่นทำให้โรงงานต่าง ๆ เกิดการแย่ง แรงงานด้วยการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงงาน ขั้นต่ำ

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันดังกล่าวทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและต้องหันมาปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ แทน

อุตฯชิ้นส่วนรถยนต์พึ่งต่างด้าว

นายประสาทศิลป อ่อนอรรถ นายกสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวยอมรับว่า ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์นั้น ปัจจุบันมีการใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยที่มีอยู่ประมาณ 60% ของผู้ประกอบการชิ้นส่วนซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคม

โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะให้ความนิยมและเลือกใช้แรงงานต่างด้าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20-30% หรือ 2,000-3,000 คน โดยแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับอัตราค่าจ้างที่ถูกกว่า อัตราจ้างงานขั้นต่ำ 5-10% ส่วนสวัสดิการอื่น ๆ ก็จะยังคงมีให้ ยกเว้นเพียงแต่โบนัสประจำปีเท่านั้น

"ตัวเลขแรงงานต่างด้าวต้องบอกว่าแม้เราจะไม่เคยสำรวจกันอย่างจริงจัง แต่จากการพูดคุยกับสมาชิก พบว่าแต่ละโรงงานก็มีการใช้แรงงานกลุ่มนี้ ส่วนแรงงานที่เป็นคนไทยวันนี้ว่าเจอกับภาวะขาดแคลน ซึ่งแรงงานบางคนได้อาชีพใหม่ และบางคนอาจจะไปเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งคาดว่าในเร็ว ๆ นี้ทุกอย่างน่าจะคลี่คลาย" นายประสาทศิลปกล่าว