Thai / English

แรงงานขาด 3 แสนคน รง.อุตฯออร์เดอร์ล้น ยอมจ่ายเพิ่มกว่าค่าแรงขั้นต่ำจูงใจ



11 .. 53
เครือมติชน

ภาคอุตสาหกรรมเปิดศึกแย่งแรงงาน หลังออร์เดอร์พุ่ง ตัวเลขขาดแคลนคนงานทะลุ 3 แสนคน โรงงานใหญ่พลิกกลยุทธ์ทุ่มสุดตัวจูงใจแรงงานกลับเข้าโรงงาน ทั้งเพิ่มค่าจ้าง-สวัสดิการ-โอที-เบี้ยขยัน-จัดที่พักอาศัย บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังยอมจ่ายสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากกระทรวงแรงงานระบุว่าจนถึงขณะนี้ ภาวะการขาดแคลนแรงงานพื้นฐานในภาคอุตสาห กรรมการผลิต-ส่งออก เพิ่มสูงถึงระดับ 200,000-300,000 คน ภายหลังคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, อาหาร ฯลฯ ต่างต้องเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง แต่ติดปัญหาเรื่องจำนวนแรงงาน ทำให้ในขณะนี้ นอกจากภาคเอกชนจะปรับกลยุทธ์ด้วยการยอมจ่ายค่าตอบแทนเพิ่ม เปิดรับสมัครแรงงานอย่างต่อเนื่องทั้งย่านปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครราชสีมา ฯลฯ แล้ว ผู้ประกอบการบางส่วนยังหันมาใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น ในขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ยอมพิจารณาขยายเพดานในการให้สิทธิ์ผู้ประกอบการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ อุตสาหกรรม

นายพงศักดิ์ เปล่งแสง โฆษกกระทรวงแรงงาน ฝ่ายการเมือง ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตแรงงานในส่วนของกระทรวงแรงงานว่า หลังจากที่นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมได้นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาหลายข้อ เช่น การอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวทำงาน ในจังหวัดที่มีสถานศึกษาอยู่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นราชภัฏ ราชมงคล ภาคอุตสาหกรรมสามารถดึงเด็กเหล่านี้เข้ามาทำงานได้ในบางช่วง นอกจากนั้น บางบริษัทยังได้จัดโครงการให้พนักงานในโรงงานไปชักชวนญาติมาทำงานที่โรงงานโดยจ่ายเงินพิเศษให้

นอกจากนั้น นายไพฑูรย์ยังมีแนวความคิดให้สำนักงานประกันสังคมศึกษา กรณีแรงงานที่ขึ้นทะเบียนว่างงานและกลับมาทำงานเร็วจะให้โบนัสพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลพบว่าปัจจุบันความต้องการแรงงานพื้นฐานในโรงงานมีสูงถึง 2-3 แสนคน โดยมีการแจ้งความประสงค์ผ่านกรมการจัดหางานสูงถึงเดือนละ 4-5 หมื่นคน

@โรงงานทุ่มจ่ายค่าแรงเพิ่ม

แหล่งข่าวจากโรงงานอุตสาหกรรมใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการจ่ายค่าแรงสูงกว่าแรงงานขั้นต่ำเพื่อดึงดูดแรงงานเข้ามาทำงาน ทำให้ขณะนี้เกิดการแข่งขันเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพื่อแย่งชิงแรงงาน

กรณีบริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ ที่มีโรงงานอยู่ที่บางปะอิน ปกติต้องจ่ายค่าแรงตามมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดพระนคร ศรีอยุธยาที่วันละ 181 บาท ก็ใช้วิธีจูงใจด้วยการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามเรตของกรุงเทพฯ ที่ 206 บาท ขณะที่บางแห่งจ่ายสูงกว่า นั่นทำให้โรงงานต่าง ๆ เกิดการแย่ง แรงงานด้วยการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงงาน ขั้นต่ำ

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันดังกล่าวทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและต้องหันมาปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ แทน

@อุตฯชิ้นส่วนรถยนต์พึ่งต่างด้าว

นายประสาทศิลป อ่อนอรรถ นายกสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวยอมรับว่า ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์นั้น ปัจจุบันมีการใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยที่มีอยู่ประมาณ 60% ของผู้ประกอบการชิ้นส่วนซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคม

โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะให้ความนิยมและเลือกใช้แรงงานต่างด้าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20-30% หรือ 2,000-3,000 คน โดยแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับอัตราค่าจ้างที่ถูกกว่า อัตราจ้างงานขั้นต่ำ 5-10% ส่วนสวัสดิการอื่น ๆ ก็จะยังคงมีให้ ยกเว้นเพียงแต่โบนัสประจำปีเท่านั้น

"ตัวเลขแรงงานต่างด้าวต้องบอกว่าแม้เราจะไม่เคยสำรวจกันอย่างจริงจัง แต่จากการพูดคุยกับสมาชิก พบว่าแต่ละโรงงานก็มีการใช้แรงงานกลุ่มนี้ ส่วนแรงงานที่เป็นคนไทยวันนี้ว่าเจอกับภาวะขาดแคลน ซึ่งแรงงานบางคนได้อาชีพใหม่ และบางคนอาจจะไปเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งคาดว่าในเร็ว ๆ นี้ทุกอย่างน่าจะคลี่คลาย" นายประสาทศิลปกล่าว

@โคราชอ่วมเร่งรับสมัครหมื่นคน

นายเฉลิมพล เมฆประยูร ประธานชมรมบริหารแรงงานและพัฒนาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท อัลฟาน่าเทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จังหวัดนครราชสีมา มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 2,000 แห่ง และมีโรงงานขนาดใหญ่ประกอบกิจการสำคัญ ๆ เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สิ่งทอ อาหาร และอื่น ๆ โดยภาพรวมโรงงานอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตที่ต้องเข้าสู่ระบบประมาณ 8,000-10,000 อัตรา

ทั้งนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง หรือพนักงานฝ่ายผลิต เริ่มเกิดขึ้นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2553 และคาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2553 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคำสั่งซื้อบางแห่งสูงมากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ในส่วนของบริษัท อัลฟาน่าฯ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในระบบการผลิตกว่า 1,000 คน จากปัจจุบันมีพนักงานฝ่ายผลิต 3,000 คน ขณะนี้มียอดสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยาวไปถึงสิ้นปี 2553 หากไม่มีแรงงานมารองรับกับคำสั่งซื้อล่วงหน้า อาจจะทำให้บริษัทได้รับความเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาท หากจ้างแรงงานต่างด้าวก็จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

จากการเฝ้าติดตามสถานประกอบการใน จ.นครราชสีมา พบว่ามีการเปิดรับสมัครพนักงานระดับล่างเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เปิดรับสมัครพนักงานฝ่ายผลิตหญิง และหลายแห่งได้ใช้กลยุทธ์สร้างแรงจูงใจ โดยปรับเพิ่มค่าจ้าง สวัสดิการต่าง ๆ เช่น การจ่ายค่าจ้างเพิ่มมากกว่าการจ่ายตามค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 130 บาท เป็นวันละ 173, 184 และ 190 บาท การจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่พนักงานนอกเหนือจากค่าจ้าง เช่น ค่างาน เบี้ยขยัน ค่าครองชีพ การปรับเวลาให้มีการทำงานล่วงเวลาเพิ่มมากขึ้น การจ้างงานเป็นพนักงานรายเดือน การจัดรถบริการรับส่ง การจัดหาที่พักอาศัย หอพักให้แก่พนักงาน เป็นต้น ซึ่งสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนจำนวนมากเท่านั้นที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้สมัครงานเข้าทำงานได้ ขณะที่สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กยังแก้ปัญหาไม่ได้

@ปริมณฑลแย่งแรงงานอุตลุด

นายศักดิ์สิทธิ์ สละชีพ จัดหางานจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ขณะนี้เอกชนยังมีความต้องการแรงงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีต้องการแรงงานอีกกว่า 2,000-3,000 คน แต่ผู้ที่เข้ามาลงทะเบียนสมัครงานเป็นกลุ่มวุฒิปริญญาตรีจำนวนมาก ซึ่งสถานประกอบการไม่รับ เนื่องจากเป็นภาระด้านต้นทุนและคุณสมบัติไม่ตรงกับงาน

อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดได้จัดหางานนัดพบแรงงานอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เดือนละ 2 ครั้ง ที่บิ๊กซี นวนคร และเซียร์ รังสิต แต่ก็พบว่า แรงงานที่ถูกปลดและถูกเลิกจ้างก่อนหน้านี้ไม่ได้กลับเข้าสู่ภาคการผลิตเป็นจำนวนมาก เพราะมีความช่วยเหลือจากภาครัฐในการส่งเสริมอาชีพและโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการไทยเข้มแข็ง, เอสเอ็มอี,โอท็อป, ต้นกล้าอาชีพ ฯลฯ จึงมีการประกอบอาชีพส่วนตัวมากขึ้น และกลุ่มแรงงานต่างด้าวก็ไม่มีคุณสมบัติเข้ามาทำงานแทนกลุ่มผู้มีฝีมือ

ด้านนายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้อยุธยามีความต้องการแรงงานเพิ่ม 20,000 อัตรา โดยเฉพาะกลุ่มอาชีวศึกษา หลังจากไตรมาส 1 และ 2 ในปี 2552 ที่ผ่านมามีการปลดคนงานออกไปกว่า 39,000 ตำแหน่งในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ เบื้องต้นมีการแก้ปัญหาโดยการรับเด็กที่อยู่ในช่วงปิดเทอมเข้ามาทำงาน แต่เมื่อเปิดเทอมอาจจะได้รับผลกระทบอย่างมากอีกแน่นอน ช่วงนี้หลายโรงงานต่างอัดแคมเปญต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาทำงานให้ทันตามออร์เดอร์ เช่น เพิ่มค่าจ้างที่เทียบเท่ากับในส่วนกลางกว่า 493 บาท/วัน รวมโอที

นายรังษี เหลืองวารินกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์แรงงานในจังหวัดสมุทรปราการก็เริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะภาคการผลิตในส่วนของแรงงานที่มีฝีมือซึ่งลดหายไปจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงกับขาดแคลน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดได้หันไปขยายการลงทุนในพื้นที่อื่นบางส่วน แต่ในอนาคตหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองว่าน่าจะเป็นปัญหาในระยะยาวเช่นกัน และอาจกระทบกัน เป็นลูกโซ่ในภาคส่วนการผลิตของประเทศ