Thai / English

หอการค้าชี้แรงงานหนี้พุ่งแสนบาทต่อครอบครัว

หอการค้าชี้แรงงานหนี้พุ่งเกือบแสนบาทต่อครอบครัวแนะรัฐปรับค่าแรงขึ้นต่ำเพิ่มกลางปี 7 บาท ขณะที่พิษม็อบ 2 เดือนฉุดจีดีพีแล้ว0.6%

29 .. 53
กรุงเทพธุรกิจ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แรงงานมีภาระหนี้สินมากขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นแต่ค่าแรงต่ำ โดยจากอัตราเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์ไว้ที่3-3.5% รัฐบาลควรปรับอัตราค่าแรงให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อหรือปรับเพิ่มขึ้น7 บาทในช่วงกลางปีนี้จึงจะสามารถบรรเทาปัญหาหนี้สินของแรงงานได้

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่กระทบต่ออัตราการว่างงาน แต่เริ่มกระทบต่อรายได้ล่วงเวลาของแรงงานมากกว่า สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาพบว่าการชุมนุมในพื้นที่ย่านราชประสงค์และย่านสีลมส่งผลกระทบทำให้สูญเสียรายได้จากการค้า การโรงแรมและการท่องเที่ยว 2 เดือนรวม 6-9 หมื่นล้านบาท กระทบจีดีพีลดลง 0.4-0.6% แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ3เดือนจะสูญเสียรายได้ 9 หมื่น-1.4 แสนล้านบาท กระทบจีดีพีลดลง 0.6-1%

“อย่างไรก็ตามศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจจะมีการปรับตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ระดับ3-4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมปัจจัยทางการเมือง”ธนวรรธน์กล่าว

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการคือการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณไทยเข้มแข็งไปยังภูมิภาต่างๆอย่างรวดเร็ว และเข้าไปดูแลกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและผู้ใช้แรงงานด้วยมาตรการเชิงรุก รวมถึงคงอัตราค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับ32บาทต่อดอลลาร์ไปจนถึงเดือนมิถุนายนเพื่อให้ภาคการส่งออกโตได้15-20%ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการผลักดันให้จีดีพีขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า3% และรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำในช่วงครึ่งปีแรกก่อนจะทยอยปรับเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้เชื่อว่าอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับ0.9-1% คือคิดเป็น 3.8-4 แสนคน ซึ่งเชื่อว่าตำแหน่งงานภายในประเทศจะเพียงพอต่อแรงงาน

นอกจากนี้จากการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยพบว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่95.4% มีภาระนี้ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายทั่วไป 60.8% หนี้ที่มาจากการซื้อรถยนต์15.1% และหนี้จากการซื้อบาท 8.1% โดยส่วนใหญ่กู้จากญาติพี่น้อง 26.12% กู้จากกองทุนหมู่บ้าน 24.51% และจากนายทุน 22.32%

โดยแรงงานส่วนใหญ่มีหนี้สินต่อครัวเรือนโดยรวมคิดเป็นมูลค่า 91,063.90 บาท ทำให้มีภาระผ่อนชำระ 5,405.78 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นนี้ในระบบ 51.88% และนอกระบบ 48.12% ทำแรงงาน 70.2% เริ่มมีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ในรอบปีที่ผ่านมาจากปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ โดยสาเหตุมาจากราคาสินค้าแพงขึ้น อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่สูงขึ้นขณะที่รายได้เท่าเดิม ทำให้การออมของแรงงานลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้สถานการณ์ทางการเมืองกลุ่มแรงงานส่วนใหญ่มองว่ากระทบต่อสถานประกอบการและองค์กรถึง99.2% แต่ยังไม่กังวลในการตกงานแต่มองว่าโอกาสในการหางานทำน้อยลง โดย 82.6% มองว่าจะกระทบเศรษฐกิจของประเทศทำให้แย่ลง และ 55.1% ยังมองวาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังคงไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการเมืองเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม