Thai / English

ธุรกิจป่วนขาดแรงงาน ร้องรัฐเปิดรับต่างด้าวรอบใหม่

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมส่อเค้าป่วนหนักหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว วอนรัฐเปิดรับแรงงานต่างด้าวรอบใหม่แก้วิกฤติ

19 .. 53
กรุงเทพธุรกิจ

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รักษาการรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจซึ่งคำสั่งซื้อสินค้าที่มีเข้ามามากขึ้น ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน อาทิเช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเล เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ มีการคาดการณ์ว่าปี 2553 ภาคอุตสาหกรรมจะขาดแคลนแรงงานประมาณ 300,000 คน

โดยแรงงานที่ขาดส่วนใหญ่อยู่ใน "กลุ่มกึ่งฝีมือ" ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมมาก เท่าที่สอบถามสมาชิก ส.อ.ท.ในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนพบว่า "มีแรงงานลาออกมากกว่า สมัครเข้ามาใหม่"

ส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มดี ส่งผลให้แรงงานลาออก เพื่อกลับไปอยู่ภาคการเกษตรมากขึ้น ชาวนาบางพื้นที่พอใจกับราคาข้าวที่รัฐบาลประกันราคาให้ รวมทั้งราคายางพารา ก็เพิ่มสูงมาก ปัจจุบันราคาเกินกิโลกรัมละ 100 บาทแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการกำลังกังวลว่าแรงงานที่กลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะไม่กลับมาทำงานต่อหลังสงกรานต์

นายทวีกิจ กล่าวว่า ช่วงนี้ไม่สามารถหาแรงงานได้ ส่งผลต่อการรับคำสั่งซื้อมาก ที่ผ่านมาบางอุตสาหกรรมได้ให้แรงงานทำงานล่วงเวลา (โอที) เต็มที่แล้ว ระยะสั้นผู้ประกอบการต้องแก้ปัญหาโดยใช้วิธีซับคอนแทรคให้กับเอสเอ็มอี เพิ่มโอที ใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรจะมีการอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น เพราะยังมีการลักลอบนำเข้าอยู่ มีขั้นตอนและเอกสารมากส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้า แรงงานที่ลักลอบนำเข้า คาดหวังว่าจะมีการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ และได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในไทย ดังนั้น เรื่องนี้ ส.อ.ท.จะขอให้กระทรวงแรงงานเปิดให้การนำเข้าแรงงานเพิ่มขึ้นช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์

"ผมว่าอีก 3-5 ปีแรงงานภาคอุตสาหกรรมจะขาดแคลนเพิ่มมากขึ้น เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดน้อยลง นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ทำให้คนหันไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น"

ดังนั้น ตอนนี้ยังไม่มีเครื่องยืนยันว่าภาครัฐจะไปหาแรงงานป้อนภาคอุตสาหกรรมได้อย่างไร ผู้ประกอบการควรปรับตัวรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นเอง โดยเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อทดแทนแรงงานที่หายากขึ้น

หากไม่มีการปรับตัวจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่ขยายตัว แต่ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม มีการนำจักรอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น แม้ราคาจะสูงถึงเครื่องละ 500,000-800,000 บาท แต่ทำงานได้เท่ากับแรงงาน 6-7 คน ซึ่งจักรอัตโนมัติจะทำงานเหมือนเครื่องจักรและเพียงวางผ้าไว้บนจักร ก็สามารถเย็บเองได้ ทำให้เย็บผ้าได้มากขึ้น จากจักรปกติที่เย็บได้วันละ 500 ชิ้น เพิ่มเป็น 3,500 ชิ้น แต่การลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรดังกล่าว ต้องใช้ต้นทุนสูง อาจเป็นอุปสรรคให้กับเอสเอ็มอี

ส่วนระยะยาวต้องสนับสนุนให้มีการเรียนในระดับอาชีวะมากขึ้น เหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว จะสนับสนุนให้ผู้จบอาชีวศึกษาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และทำงานมีประสบการณ์อย่างน้อย 2-3 ปี จึงจะเรียนต่อในระดับปริญญาตรี จะดีกว่าให้ผู้เรียนจบปริญญาตรีออกมาแล้วทำงานไม่ได้เหมือนในไทย ซึ่งผู้ว่างงานในไทยส่วนใหญ่เป็นผู้จบปริญญาตรี เพราะไม่ต้องการมาทำงานในโรงงาน ซึ่งจบสาขาที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ อาทิเช่น การตลาด การโรงแรม การท่องเที่ยว ดังนั้นมหาวิทยาลัยควรติดตามนักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้ว ว่าได้งานทำกี่คน เพื่อจะได้ประเมินหลักสูตรที่สอนว่าเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่

นายวัลลภ วิตนากร ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท ไฮเทค แอพพาเรล จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทต้องรับคำสั่งซื้อเกินกำลังการผลิตประมาณ 40% โดยช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา มีคำสั่งซื้อเข้ามามาก เพราะสต็อกของลูกค้าเริ่มหมดลง แต่บริษัทไม่สามารถปฏิเสธคำสั่งซื้อได้ เพราะทำธุรกิจแบบหุ้นส่วน ซึ่งแตกต่างจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้า (โออีเอ็ม) บริษัทไม่สามารถไปซับคอนแทรคกับผู้ผลิตรายอื่นได้ เพราะลูกค้าตรวจรับรองแล้วจึงย้ายโรงงานผลิตไม่ได้

บริษัทได้ปรับตัวด้วยการปฏิรูประบบการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น มีการปรับปรุงขั้นตอนเตรียมการผลิตให้พร้อมที่สุดก่อนเริ่มกระบวนการผลิตเพื่อลดการสูญเสีย และลดข้อผิดพลาดระหว่างการผลิต ถ้าปรับปรุงส่วนนี้ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างน้อย 30%

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มขาดแคลนแรงงานประมาณ 30,000 คนในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไม่ดียังหาแรงงานไม่ได้ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นทำให้การหาแรงงานยิ่งลำบากขึ้น หลายโรงงานได้ใช้แรงงานต่างด้าวแก้ปัญหาการขาดแคลน แต่บางโรงงานยังไม่ได้ใช้แรงงานต่างด้าว เพราะมีปัญหาเรื่องพิสูจน์สัญชาติที่หมดเขตไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา การพิสูจน์สัญชาติถือว่าเป็นแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เหมาะสมแล้ว แต่เห็นว่าควรเปิดดำเนินการอีก

นายวัลลภ กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้นส่งผลให้ความต้องการแรงงานมากขึ้น แรงงานบางส่วนที่กลับไปอยู่ภาคการเกษตรแล้ว อาจจะมีความรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะถูกปลดเหมือนช่วงต้นวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ ส่งผลให้ไม่มั่นใจที่จะมาสมัครงาน เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับแรงงาน คาดหลังสงกรานต์จะมีแรงงานส่วนเกินจากภาคการเกษตรเข้ามาสมัครงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะรับแรงงานที่ยังไม่มีทักษะเข้ามาทำงาน จะใช้เวลาในการฝึกความชำนาญ 15-21 วัน เพื่อก็จะเริ่มตัดเย็บได้แล้ว และค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการอาหารทะเลแปรรูป ต้องการให้มีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาใช้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งภาครัฐออกระเบียบที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานต่างด้าวที่ใช้ได้จริง ผู้ประกอบการพร้อมที่จะดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยทั้งปลอบและขู่ให้แรงงานต่างด้าวไปพิสูจน์สัญชาติเพื่อจะได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย

โดยช่วงไตรมาส 2 ผู้ประกอบการยังไม่ต้องการแรงงานต่างด้าวมากนัก เพราะเป็นช่วงที่ส่งออกน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่น โดยผู้ประกอบการจะมีความต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส 3-4 ขณะนี้ เกือบทุกโรงงานจะต้องการใช้แรงงานต่างด้าว

"การที่ภาครัฐห้ามแรงงานที่ขึ้นทะเบียน เปลี่ยนนายจ้างเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อแรงงานมีทางเลือกในการทำงานที่ดีกว่า ก็ควรมีโอกาสไปทำงานที่อื่น" ส่วนการแรงงานต่างด้าวต้องมีเอกสารจำนวนมากประกอบต่อการขึ้นทะเบียนเป็นเรื่องที่สมเหตุผล แต่ชนกลุ่มน้อยบางส่วนไม่มีประวัติว่าเป็นคนสัญชาติใด เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ยอมรับเป็นพลเมืองของตัวเอง

ภาครัฐควรหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติ ตามที่ทางการกำหนดได้ ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการบางส่วนที่ใช้แรงงานไร้สัญชาติ รัฐบาลควรหารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหาทางที่ได้ผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ เนื่องจากแรงงานก็จะมีรายได้ส่งกลับไปประเทศเพื่อนบ้าน และผู้ประกอบการไทยก็จะไม่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน