Thai / English

ชิ้นส่วนรถหวั่นแรงงานต่างด้าวทำเสียโอกาส



11 .. 53
กรุงเทพธุรกิจ

ชิ้นส่วนยานยนต์หวั่นปัญหาแรงงานฉุดไทยเสียเปรียบอาฟตาหลังต่างด้าวบุกภาคการผลิตหวั่นไม่ยั่งยืนด้านการพัฒนาฝีมือด้านกรมศุลฯแนะทุกฝ่ายขจัดอุปสรรคทั้งในประเทสและคู่ค้า รับเป็นแม่งานวางระบบร่วม 30 หน่วยงานรัฐหวังลดขั้นตอน เชื่อไทยยังมีโอกาสขยายตัวในอาเซียนอีกมาก

นายประสาทศิลป์ อ่อนอรรถ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "อาฟตา-วิกฤตหรือโอกาส" ซึ่งจัดโดย บริษัท ยูเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด วานนี้ (10 มี.ค.) ว่า ผู้ประกอบการชิ้นส่วนไทยโดยเฉพาะรายเล็กกำลังประสบปัญหาด้านแรงงาน เนื่องจากแรงงานไทยหายไปจากอุตสาหำรรมจำนวนมาก หลังจากที่ไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้มีการลดจำนวนพนักงานลง แต่เมื่อเศรษฐกิจและตลาดฟอ้นตัวแรงงานก็ไม่กลับมา

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ปัจจุบัน ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนหนึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว อาทิเช่นแรงงานพม่าเข้าทำงานแทนซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันกับต่างประเทศรวมทั้งในเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือว่า อาฟตา

"แรงงานเหล่านี้ เป็นที่รู้กันดีว่าเป้าหมายก็คือ เข้ามาหาเงิน เขาจะทำงานไปสักระยะ 4-5 ปี เสร็จแล้วก็กลับบ้านดังนั้นสิ่งที่เราฝึกทักษะให้กับเขาก็จะสูญเปล่าไปในที่สุด"

นายปราสาทศิลป์ กล่าวว่า ผลจากอาฟตาซึ่งเริ่มใช้เต็มรูปแบบกับ 6 ประเทศในอาเซียนเมื่อ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา จะส่งผลดีกับบริษัทรถยนต์ แต่อุตสาหกรรมชิ้นส่วน ถ้าหากว่าเตรียมการรับมือไม่ดี เชื่อว่าจะลำบาก เนื่องจากนโยบายของผู้ผลิตรถยนต์ปัจจุบันจะหาชิ้นส่วนจากแหล่งใดก็ได้ ที่เห็นว่าให้ประโยชน์สูงสุด หรือ GPS (Global Part Sourcing)

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าปัจจุบันไทยยังมีจุดอ่อนอีกมาก อาทิเช่น ไม่มีวัตถุดิบ และไม่มีเทคโนโลยีระดับสูงของตัวเอง

ด้าน ดร.ฉวีวรรณ คงเจริญกิจกุล รองอธิบดี กรมศุลกากร กล่าวว่า สภาวะการค้าระหว่างประเทศ ของสินค้ากลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบว่าในเดือน ม.ค. ปีนี้ มีการส่งออกรวม 2.78 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้วในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไปยังอาเซียน 8,683 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 3,315 ล้านบาทเพิ่มขึ้นไม่มากนัก 4% เป็นการนำเข้าจากอาเซียน 1,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน 110% และในจำนวนนี้ เป็นการนำเข้าโดยใช้สิทธิ อาฟตา 1,380 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 134%

และหากแยกออกมาเฉพาะชิ้นส่วนประกอบ เดือน ม.ค. มีการส่งออกรวม 1.33 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% เป็นการส่งออกไปอาเซียน 4,639 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59 % มูลค่านำเข้า 1.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% เป็นการนำเข้าจากอาเซียน 1,760 ล้านบาท เพิ้ทจึ้น 48% และในจำนวนนี้ นำเข้าโดยใช้สิทธิอาฟตา 947 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 82%

ส่วนอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ส่งออกรวม 1,383 ล้านบาท ลดลง 25% เป็นการส่งออกไปอาเซียน 521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% นำเข้า 31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.98% เป็นการนำเข้าจากอาเซียน 6.62 ล้านบาท ลดลง 5%และนำเข้าโดยใช้สิทธิอาฟตา 5.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43%

ดร.ฉวีวรรณ กล่าวว่า มองโดยรวมเชื่อว่าโอกาสของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่จะได้รับประโยชน์จากอาฟตายังมีอีกมาก ส่วนหนึ่งมาจากศักยภาพการผลิตที่แข็งแกร่งแต่สิ่งที่จะต้องติดตามดู ก็คือ มาตรการกีดกันของประเทศคู่ค้า ซึ่งทั้งรัฐ และเอกชนจะต้องเร่งแก้ไข

ในส่วนของอุปสรรคภายใน ก็จำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขเช่นกัน อาทิเช่น พิธีการทางศุลกากร ซึ่งปัจจุบันทางกรมได้พัฒนาไปมาก อาทิเช่น ระบบอีคัสตอม แต่เห็นว่ายังมีอุปสรรค บางอย่าง อาทิเช่น การเกี่ยวข้องกันระหว่างหลาย ๆ หน่วยงานภาครัฐ จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ สามารถยื่นเอกสารข้อมูลชุดเดียวครั้งเดียวแล้วสามารถกระจายข้อมูลไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและเวลาลงได้มาก ซึ่งขณะนี้ ทางกรมเป็นแม่งาน และเริ่มต้นลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU กับหน่วยงานอื่น ๆ 15 หน่วยงาน จาก 30 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนได้มาก