Thai / English

คนงานไทรอัมพ์จัดกิจกรรมก่อนออกจาก ก.แรงงาน ชี้การต่อสู้ยังไม่จบ



02 .. 53
ประชาไท

คนงานไทรอัมพ์จัดกิจกรรมก่อนออกจากกระทรวงแรงงาน ด้านแกนนำไทรอัมพ์ลั่นการต่อสู้ยังไม่จบ หากยังไม่ได้คุณภาพชีวิตที่ดี นักสหภาพฯ -ภาคประชาชน-นักวิชาการ –นักศึกษา พร้อมกันให้กำลังใจคนงานผลิตแบรนด์ “Try Arm”

นับเป็นระยะเวลาการต่อสู้ที่ยาวนานทีเดียวสำหรับอดีตแรงงานผลิตชุดชั้นในหญิง “ไทรอัมพ์” ที่ถูกจ้างออกโดยไม่เป็นธรรม หรือบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ทำการเคลื่อนไหว ชุมนุม เรียกร้องและผลักดันข้อเสนอต่างๆต่อรัฐบาลกว่า 8 เดือน ตั้งแต่การชุมนุมหน้าโรงงาน ณ นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จนมาจบที่การไปปักหลักชุมนุมที่ใต้ถุนของกระทรวงแรงงานตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2552 จนถึงปัจจุบัน

ทว่าหลังจากตกลงเงื่อนไขรับจักร 250 ตัวจากกระทรวงแรงงานฯ ทางอดีตคนงานไทรอัมพ์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องยุติการชุมนุม เนื่องจากประสบปัญหาปากท้องและไม่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการแก้ปัญหา ทั้งๆไม่พอใจกับข้อเสนอนี้เท่าใดนัก

เมื่อวานนี้ (27 ก.พ. 53) ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ทำการจัดกิจกรรม “8 เดือนการต่อสู้สู่ก้าวต่อไปของคนงานหญิงไทรอัมพ์ฯและขบวนการแรงงาน” ขึ้นที่บริเวณกระทรวงแรงงาน เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมา และเพื่อหาแนวทางการต่อสู้ก้าวต่อไปของแรงงาน ไม่เพียงเฉพาะคนงานหญิงไทรอัมพ์ฯ เท่านั้น แต่รวมถึงขบวนการผู้ใช้แรงงานอื่นๆด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งเพื่อกระชับและสมานฉันท์ขบวนการผู้ใช้แรงงาน ขบวนการนักศึกษาและประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 600 คน ทั้งกลุ่มแรงงานจากภาคต่างๆ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มเกษตรกรเจ็ดจังหวัดจากอีสาน กลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ บุคคลทั่วไปและสื่อมวลชน

โดยวงเสนาได้เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. – 17.00 น. นำเสวนาโดย วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , เกตุแก้ว มีศรี สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์แห่งประเทศไทย , สุดา รังกุพันธุ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,สมชาย ปรีชาศิลปะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน , จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย , จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และอนุธีร์ เดชเทวพร สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ดำเนินรายการโดย เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การต่อสู้ของ “Try Arm” ประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึก

จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยกล่าวว่าการต่อสู้แบบไทรอัมพ์เป็นประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานที่ต้องจารึก เป็นการต่อสู้ของแรงงานหญิง หลายคนที่อยู่ที่นี่ไม่อยากได้แค่จักรตัวเดียวหรือเงินชดเชย เราอยากบอกว่าเราต้องทำให้ไทรอาร์มเป็นสินค้าต้องเป็นแบรนด์ของการก่อกำเนิด สร้างวิถีกล้าให้คนเดินตาม การแก้ปัญหาแรงงานต้องไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบผ่านๆ แรงงานต้องการบอกกับกระทรวงว่า คิดให้ไกล มองให้ไกล มองการพัฒนาที่ยั่งยืน

“การได้จำนวนจักรสองร้อยห้าสิบตัวนี้ ไม่เคยมีการต่อรองได้มากขนาดนี้มาก่อน ขบวนการแรงงานต้องร่วมกันสนับสนุนไทรอาร์มและคำถามอยู่ที่ว่าสังคมไทยจะอยู่เคียงข้างไทรอาร์มได้อย่างไร” จรรยากล่าว

กังขาการใช้กฎหมายกับแรงงาน – ชื่นชมไทรอัมพ์ไร้ท่อน้ำเลี้ยง

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่าความต่างของพี่น้องไทรอัมพ์จากขบวนการแรงงานอื่นๆ คือเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นการรวมตัวจะเข้มแข็งมาก เมื่อมีการเคลื่อนไหวไปยื่นข้อเรียกร้องอะไรก็แล้วแต่ก็จะควักกระเป๋าตัวเอง ไปไหนมาไหนด้วยตัวเองมาโดยตลอด การต่อสู้แบบพึ่งตัวเองเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เห็นได้ว่าเป็นกระบวนการที่มีจิตใจหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง แม้ว่าจำถูกดำเนินคดีหรือเจออุปสรรคอื่นก็ยังยืนหยัดได้อยู่

“หากพูดถึงเรื่องการใช้กฎหมายว่าเป็นสองมาตรฐานหรือเปล่า อย่างกฎหมายจราจร รัฐบาลบอกว่าเนื่องจากเสื้อเหลืองเสื้อแดงมีคนเยอะไม่สามารถใช้ข้อกฎหมายไปจัดการกับเขาได้ นี่ก็เป็นส่วนที่เรายังไม่ได้คำตอบที่กระจ่างการที่จะออกกฎหมายชุมนุมมันต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของพวกเราเหมือนกัน” วิไลวรรณกล่าว

นักศึกษาให้กำลังใจแรงงาน – ย้ำแรงงานอย่าหวังพึ่งรัฐ

อนุธีร์ เดชเทวพร นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวว่า ไม่มีแพ้ไม่มีชนะแต่เราเชื่อว่าในภายภาคหน้าเราจะต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนงาน บทเรียนสำคัญคือ การที่รัฐไม่ได้เป็นของประชาชน รัฐไม่ได้เป็นตัวแทนของเรา รัฐไม่ได้เข้ามาจัดการอะไรให้เราเลยตอนถูกเลิกจ้าง ไปขอความช่วยเหลือเขาไม่ให้ยังมารังแกเราอีก ใช้ LRAD ปราบเราแถมเข้าข้างนายทุน ชัดแล้วว่าเป็นกระทรวงทำเพื่อนายจ้าง

ทั้งนี้ยังได้ฝากบอกคนที่มาติดต่อกับกระทรวงแรงงาน อย่าไปหวังพึ่งเลย เขาไม่ได้ช่วยเหลือไม่ได้ใส่ใจ แรงงานถ้ารวมตัวกัน แล้วทำการผลิต ไม่จำเป็นต้องพึ่งนายจ้าง นี่เป็นการยืนยันพลังอิสระของคนงาน เป็นวิถีทางที่ถูกต้องหนักแน่นอนและมีพลัง

“ผมในฐานนะนักศึกษาจะช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ สองมือสองเท้าของแรงงานเท่านั้นที่จะสร้างสรรค์โลก” อนุธีร์กล่าว

นักวิชาการชี้หัวใจ 3 ประการของการต่อสู้

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวว่า ตอนนี้ได้ยินข่าวที่ประธานสภาอุตสาหกรรมได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเศรษฐกิจตอนนี้ฟื้นตัวแล้ว และมีการขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก ทั้งนี้หากเมื่อไม่มีแรงงานเพียงพอภาคธุรกิจก็จะต้องเรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว และมีการใช้ระบบการจ้างงานระยะสั้น เพื่อให้บริษัทสามารถรับมือกับเศรษฐกิจได้ ซึ่งการจ้างงานระยะสั้นทำให้แรงงานต้องตกอยู่ในความไม่แน่นอน นี่คือปัญหาที่คนตัวเล็กๆ ต้องเผชิญภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแบบนี้ และสิ่งที่จะทำให้แรงงานแข็งแรงคือการลุกขึ้น สิ่งที่เราคาดหวังคือเราต้องประสบชัยชนะในแง่ยุทธศาสตร์จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้

สมชายกล่าวต่อไปว่าทั้งนี้มีสามบทเรียนสำหรับผู้ใช้แรงงาน 1. เครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือการรวมตัวกันต่อสู้ ถ้าไม่มีการรวมตัวการต่อสู้จะดำเนินไปไม่ได้ 2. ความรู้ การที่เราจะเรียกร้องอะไรก็ตามเราต้องมองเห็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งความรู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ 3. กลไกของรัฐ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน รู้จัก เข้าใจ ผู้ใช้แรงงานไหม ช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ใช้แรงงานมากแค่ไหน

“ผมว่าเราต้องมาคุยกันปรึกษากัน การออกจากกระทรวงแรงงานไม่ได้หมายความว่าการเคลื่อนไหวยุติลง เราสามารถเดินต่อไปได้ด้วยความร่วมมือได้” สมชายกล่าว

เน้นสร้างสหภาพแรงงาน – เชื่อช่วยแก้ปัญหาได้

เกตุแก้ว มีศรี สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า เชื่อว่าการต่อสู้ของแรงงานจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ มันอยู่ที่ความสามัคคีและความเข้มแข็ง อย่าคิดว่าเราจะฝากไว้ที่ภาครัฐ ทำอย่างไรถึงจะมีสหภาพแรงงาน สิ่งที่เราจะต้องทำคือ เรากรรมกรจะต้องรวมตัวกัน เพราะข้อตกลงที่มีไม่สามารถบังคับใช้ได้ แรงงานเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศ ทำการผลิตสินค้า ภาษีเราก็เสียมาก เราตั้งความหวังว่าในอนาคตแรงงานจะต้องเข้มแข็งและรวมตัวกันได้มากกว่านี้

ทั้งนี้ปัญหาคือ เราแบกรับครอบครัวสูง มีเวลาน้อยที่จะมาสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร สหภาพฯเท่านั้นที่จะสามารถต่อรองกับนายจ้างได้ เราอยากให้มีสหภาพแรงงานในทุกบริษัท เพื่อที่แรงงานจะได้สามารถต่อรองกับนายจ้างได้ ต่อไปถ้าเราไม่คิดที่จะรวมกัน เราจะถูกละเมิดมากกว่า ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม กรรมกรทั่วประเทศต้องนำบทเรียนของไทรอัมพ์ไปปรับใช้เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงานต่อไป

แกนนำไทรอัมพ์ถามหาสิทธิการชุมนุม – ลั่นรัฐบาลดีแต่ลวงโลก

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯกล่าวว่า เมื่อเราเข้าใจในขบวนการต่อรอง นายจ้างก็ไม่ชอบเรา ทำให้เกิดกระบวนการต่อต้านสหภาพแรงงาน เมื่อถูกจ้างออกเราเชื่อทันทีว่านี่คือการทำลายสหภาพแรงงาน เราปกป้องสิทธิการรวมตัว ปกป้องสิทธิต่างๆ ที่เราจะได้

“ตรงนี้เราต้องย้ำไม่ให้ลืมว่า การเลิกจ้างนี้ไม่ยุติธรรม ไม่มีการปรึกษาสหภาพแรงงาน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล บอกแค่ว่าต้องการปรับโครงสร้างขนาดใหญ่ เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่มีการไปเปิดโรงงานใหม่ที่นครสวรรค์ ส่งเสริมโดย BOI เป้าหมายของเขาคือการทำลายสหภาพ แปดเดือนเป็นระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่การยุติการต่อสู้” จิตรากล่าว

อันดับต่อมาสิ่งที่เราเรียกร้อง OECD มันต้องปฏิบัติตามหลักสากล รัฐบาลอภิสิทธิ์ เข้ามาแถลงการณ์ใหญ่โตเลยว่า จะชะลอการเลิกจ้าง มีโครงการต้นกล้าอาชีพเพื่อเอาคนกลับไปสู่สังคมเกษตรเราพบว่ามันเป็นแค่นโยบายลวงโลก เราเลยต้องออกไปเรียกร้อง แต่สิ่งที่เราได้คือการทดลองใช้ LRAD กับพวกเรา เราถูกออกหมายจับ บอกว่าเรามั่วสุมกันเกินสิบคน สิทธิการชุมนุมของเราอยู่ไหน

“เราไปพบคณะกรรมการสิทธิฯ สิ่งที่เราได้คือ การใช้ LRAD ไม่เป็นการละเมิดสิทธิ มาบอกว่าเราไม่มีความรู้ในทางสหภาพแรงงาน ได้เงินแล้วก็จบ แต่สิทธิความเป็นมนุษย์คุณรู้บ้างไหม ความเป็นอยู่ ต้องกินต้องใช้ เขาก็สงสัยเราเป็นเสื้อแดง มีท่อน้ำเลี้ยง ถ้าเราเป็นเสื้อแดงคุณจะไม่แก้ปัญหาให้เราหรือไง เราเชื่อว่าทุกคนเท่าเทียมกัน แต่เขาก็ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาให้เรา” จิตรากล่าว

ทั้งนี้จิตรากล่าวต่อไปว่าการต่อสู้ของเรายังไม่จบลง เราต้องสู้ต่อ เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตมีความมั่นคง การที่เราสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อบอกว่า ต้นทุนการผลิตมันต่ำมาก อีกอย่างหนึ่งคือเราต้องการบอกความอยุติธรรมที่เราได้รับต่อคนภายนอก

“ตลอดเวลาแปดเดือนเราได้เรียนรู้ว่า รัฐบาลไม่ได้เห็นใจคนจน พูดโกหกไปอย่างนั้น เมื่อคุณเข้าไปในโรงงานคุณต้องชี้นำสหภาพให้ได้ เพราะมันจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น การรวมตัวรวมกลุ่มเป็นสิทธิของพวกเรา มีความไม่ยุติธรรมที่ไหนพวกเราจะต้องไป ต้องหยุดการขูดรีดคนงาน สิ่งที่สำคัญคือประเทศเราต้องมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่ออกไปเดินขบวนแล้วถูกจับ”

อนึ่งเมื่อเช้าของวันนี้ (28 ก.พ. 53) คนงานไทรอัมพ์ได้ยุติการชุมนุมและขนข้าวของออกจากกระทรวงแรงงานแล้ว