Thai / English

นักข่าวพลเมือง: ผู้บริหารไทรอัมพ์ย่องเปิดสัญญาณเตือนภัย ทำคนงานเจ็บระนาว


เทวฤทธิ์ มณีฉาย
19 .. 52
ประชาไท

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.52 เวลาประมาณ 9.00 น. ที่บริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อ.บางพลี สมุทรปราการ ผู้ผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อดัง “ไทรอัมพ์” (รวมถึงยี่ห้อ วาเลนเซีย (Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (AMO) และออม (HOM) เป็นต้น) ได้เกิดเหตุสัญญาเตือนกรณีเหตุฉุกเฉินดังขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จนเป็นเหตุให้พนักงานบาดเจ็บตามที่ได้รับการส่งตัวเขาโรงพยาบาล 129 คน ในจำนวนนี้มีคนท้อง 8 เดือน กำหนดคลอด 23 ธันวานี้ ต้องรอดูอาการจากแพทย์อย่างใกล้ชิด มีคนพึ่งไปผ่าตัดมาแล้วเกิดแผลฉีก หลังจากหนีตายตามสัญญาณเตือน โดยทยอยเข้าโรงบาลจุฬารัตน์ 3 กับ จุฬารัตน์ 5 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาการแผลถลอก ฝกช้ำ ส่วนคนงานที่เหลืออยู่ในอาการขวัญผวาไม่สามารถทำงานต่อได้ โดยปฏิบัติการครั้งนี้ผู้บริหารชี้แจ้งว่าเป็นการซ้อมอพยพหนีไฟ แต่ในการซ้อมครั้งนี้ไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัด สหภาพแรงงาน รวมถึงคณะกรรมการความปลอดภัยก่อนการซ้อมตามกฏหมาย

ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์สงบไม่นานที่โรงอาหารในบริษัท ทางนายลีโอนาโด้ อินโนเซนซี (Leonardo innocenzi) ตำแหน่ง Corporate Head of Supply Chain ได้ออกมาชี้แจงกับพนักงาน โดยมี นาวาเอก พิชเยนทร์ ตันประเสริฐ ผู้จัการฝ่ายผลิต เป็นผู้แปลและชี้แจงเสริม ความว่า ในสภาวะแวดล้อมในโรงงานของเรา เราพยายามจะทำให้มันน่าอยู่ แต่อย่างไรก็ตามมันมีอันตรายแฝงอยู่ในนั้น จากประสบการณ์ที่เดินทางทั้วโลก ได้เจอ อย่างเมื่อ 2 เดือนที่แล้วมีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานขนาดเล็กกว่าไทรอัมพ์ฯ มีคนตาย 55 คน อยู่ในประเทศโมร็อคโค คนที่ตายได้ทิ้งคนที่อยู่ข้างไว้ ทิ้งลูกทิ้งเมียไว้ เพราะว่าเขาไม่รู้ว่ามันจะทำอย่างไรเมื่อเกิดไฟไหม้

วันนี้ที่จับเวลาคนที่หนีออกมาแรกๆ ใช้เวลา 4 นาที แต่คนสุดท้ายที่ออกมาใช้เวลา 10 นาที ตามปกติจะต้องออกมาได้ภายใน 2 นาที ไม่อย่านั้นแล้วจะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุได้ มีเหตุผล 3 ข้อในการปฏิบัติการครั้งนี้

1. ผมมีความรับผิดชอบ ทั้งด้านคุณธรรม ศีลธรรม และตามกฏหมายที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ความอยู่รอกของพวกพนักงาน

2. ผมต้องการให้พนักงานเดินทางกลับบ้าน เหมือนกับที่เดินทางมาทำงาน

3. เพราะฉะนั้นผมต้องการความมั่นใจว่าถ้าหากมีอะไรเกิดขึ้นแล้ว พนักงานจะรู้ว่าควรจะทำอย่างไร และจะต้องป้องกันตัวเองจากอันตรายเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

“นี่คือเหตุผลที่เราซ้อมอพยพโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า” นายลีโอนาโด้ อินโนเซนซี กล่าวทิ้งท้ายในการชี้แจง

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บจากการแอบกดสัญญาณไฟเตือนในครั้งนี้ได้ทยอยกันเข้าการตรวจและรักษาตัวที่ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 และ จุฬารัตน์ 5 จำนวน 129 คน ในวันเกิดเหตุ และวันรุ่งขึ้นได้มีคนงานเข้ารับการรักษาตัวเพิ่มอีก 5 คน ส่วนใหญ่เป็นอาการฟกช้ำ ถลอก อ่อนเพลีย เป็นลม ช๊อคและหายใจไม่ทัน เป็นต้น ทั้งนี้ยังคงมีคนงานที่นอนค้างคืนรับการรักษา ให้น้ำเกลือและออกซิเจน อยู่ที่ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 จำนวน 3 คน โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 5 จำนวน 2 คน ส่วนคนท้องได้เข้ารับการรักษาตัวและสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาลท่าพระ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการฝากครรภ์ไว้ ขณะนี้ยังรอดูอาการเด็กและแม่เด็กอยู่ว่าจะต้องเข้ารับฝ่าตัดหรือไม่

จากการสอบถามพนักงานที่ประสบเหตุและคอยดูแลเพื่อที่เข้ารับการรักษาพยาบาล เล่าว่า ขณะเกิดเหตุมีคนที่เคยฝ่าตัดหัวใจรั่วมาแล้ว เกิดล้มขณะวิ่งหนีตาย เกิดอาการช๊อกและหายใจไม่ทันจึงต้องเข้าโรงพยาบาลทันที ขณะนี้ยังรอดูอาการอยู่ ส่วนอีกคนที่เป็นไข้อยู่แล้ว มาช่วยระวังให้คนท้องเกิดไหล่ไปชนกับประตูหนีไฟอย่างแรง จนขยับแขนไม่ได้ คาดว่าอาจหักต้องรอหมอตรวจละเอียดอีกที อีกทั้งในครั้งนี้มีคนงานที่ย้ายมาจากเทพารักษ์หลังการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน และประสบเหตุการณ์อพยพเป็นครั้งแรก ทำให้ยิ่งเกิดการชุลมุนมาก

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสสัมภาษณ์ สุจิตรา ช้อยขุนทด ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ผู้อยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่า วันนี้ (18 พ.ย.) ยังมีคนไปหาหมอเมื่อเช้า 4-5 คน แต่เมื่อวานไป 129 คน ยังนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 5 จำนวน 2 คน ส่วนจุฬารัตน์ จำนวน 3 คน ส่วนคนท้องอยู่โรงพยาบาลท่าพระ ซึ่งวันนี้คนงานที่อยู่ในโรงงานยังคงขวัญผวาอยู่ ยังตื่นตระหนก ยังทำงานไม่ค่อยได้

เมื่อถามท่าทีของสหภาพแรงงานต่อเรื่องนี้ สุจิตรา เห็นว่าน่าจะมีการดำเนินเรื่องและเอาผิดทางกฏหมาย บริษัทต้องจ่ายค่าเสียหาย รวมถึงค่าทำขวัญแก่พนักงานทุกคน ไม่ใช้จ่ายเพียงค่ารักษาพยายาลและค่ารถกลับบ้าน ทางสหภาพได้สอบถามไปว่าเกิดอะไรขึ้น Leo ก็บอกว่าเป็นการซ้อมหนีภัย มีคนรู้เห็นเหตุการณ์เพียง 5 คน แต่พอทางเราจี้ไปว่าใครบ้างที่รู้เห็นในเรื่องนี้ ทางคุณ Leo กลับตอบว่า ไม่ต้องถามว่ามีใครบ้าง แต่จะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

“เขาพุดในที่ประชุม เขาต้องการให้พนักงานกลับบ้านด้วยความปลอดภัย แต่การกระทำแบบนี้ไม่ควรเอาชีวิตพนักงานมาเสี่ยง อย่างน้อยก็ต้องแยกคนป่วย คนท้องที่มีมากออกมาก่อน เหตุการณ์แบบนี้เท่าที่อยู่มา 10 กว่าปี ไม่เคยมีในบริษัทไทรอัมพ์ การฝึกซ้อมก็ต้องแจ้งล่วงหน้าทุกครั้ง โรงงานอื่นก็ก็มีการซ้อม เขาก็เอาคนท้อง คนป่วยออกมา บริษัทอื่นๆที่เคยอยู่มาก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ความปลอดจังหวัด ต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน รวมถึงมีการประชุมอบรมกรรมการความปลอดภัยก่อน ให้พนักงานทดสอบช่องทางหนีภัยก่อน” สุจิตรา กล่าว

ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวถึงการช่วยเหลือของสหภาพต่อผู้ได้รับบาดเจ็บว่า มีกรรมการสหภาพที่กำลังถุกบริษัทขออำนาจศาลเลิกจ้างพร้อมคนงาน 1,959 คน และอนุกรรมการสหภาพแรงงานที่ยังคงได้ทำงานอยู่ ได้พาคนเจ็บไปโรงพยาบาล ในตอนแรกบริษัทเพียงจัดรถรับส่งคนเจ็บให้ และมีเพียงผู้บริหารชาวไทยเพียงคนเดียวที่คอยดูอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 5 ส่วนโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 มีเพียงอนุกรรมการสหภาพแรงงานเท่านั้นที่ดูแลคนเจ็บ

สุจิตรา เล่าถึงความรู้สึกของตนเองในตอนนี้ว่ารู้สึกว่าแย่มากที่บริษัททำแบบนี้ คิดว่าบริษัทอาจมองไม่เห็นว่าพนักงานเป็นคนในครอบครัว มองว่าจะทำอะไรกับพนักงานก็ได้ อยากให้สังคมได้ทราบว่าบริษัททำแบบนี้มันไม่ถูกต้องตามกฏหมายและมันก็เสี่ยงเกินไป ถ้าหากพนักงานคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตไป นั่นจะกระทบถึงครอบครัว คนอีกหลายคนด้วย

จากการที่สอบถามสามีของคนท้องที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลเขามองว่า ไม่น่าเอาชีวิตลูกเมียเขามาเสียงแบบนี้ มันโหดร้ายเกินไปที่ทำกับผู้หญิงท้องแบบนี้ กรณีคนพึ่งผ่าตัดหัวใจ มาทำงานไม่ถึง 2 อาทิตย์ ตอนเกิดเหตุกช๊อคเป็นลมไปเลย กลับมาแล้วก็ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลอีก แต่ผู้บริหารกลับแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าพนักงานที่อาการหนักก็เพราะเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว

“วันนี้ไปถามผู้บริหารว่าบริษัทจะรับผิดชอบอะไร แล้วสหภาพแรงงานขอรายงานการประชุมของผุ้บริหารเรื่องนี้ด้วย ผู้บริหารชี้แจงว่าความรับผิดชอบของเขาคือ จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าเดินทางกลับบ้าน พอเราถามถึงค่าทำขัวญพนักงานทั้งหมด แต่เขากลับตอบว่าแค่รักษาพยาบาลกับค่าเดินทางกลับบ้านก็พอเพียงแล้ว” สุจิตรา กล่าวทิ้งทาย

ข้อปฏิบัติและกฏหมายที่เกี่ยวข้อกับระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้และการฝึกซ้อมดับเพลิง รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับ ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้และการฝึกซ้อมดับเพลิง

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง พ.ศ. 2534 หมวด 8 ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้และการฝึกซ้อมดับเพลิง ข้อ 36 วรรคสอง ซึ่งวางหลักว่า "ในกรณีที่นายจ้างจัดให้มีการฝึกซ้อมดับเพลิงหรือฝึกซ้อมหนีไฟเอง ให้ส่งแผนและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกซ้อมต่ออธิบดี เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนการฝึกซ้อมไม่น้อยกว่าสามสิบวัน"

แต่ประกาศนี้ ไม่มีบทลงโทษ มีแค่ ข้อ 39 ซึ่งวางหลักว่า "เมื่อปรากฏว่านายจ้างหรือลูกจ้างฝ่าฝืนประกาศนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำเตือนเพื่อให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือนเสียก่อนก็ได้" (อ่านประกาศเพิ่มเติมที่ http://dpc5.ddc.moph.go.th/Data/data07.20.html)

ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันตรายต่อสตรีมีครรภ์

มาตรา 303 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเป็นอันตรายสาหัส

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ลหุโทษที่อาจเกี่ยวข้องกับกรณีนี้

มาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท

มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ