Thai / English

อนุค่าจ้าง54จว.ขอขึ้นค่าแรง กทม.ชง2บาท-ปธ.ส.อ.ท.ค้าน



28 .. 52
เครือมติชน

อนุ กก.ค่าจ้าง 54 จว.ขอปรับเพิ่มค่าแรง อีก 20 จว.ไม่ขอปรับ กทม.ขอขึ้นอีก 2 บาท ปลัดแรงงานหนุน เชื่อ ศก.ฟื้นแล้ว ปธ.สภาอุตฯค้านปรับช่วงนี้ ขอดูสัญญาณกลางปีหน้าก่อน ชี้น้ำมันขึ้น-ค่าบาทแข็งอุปสรรค ทีดีอาร์ไอระบุเร็วไป

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ถึงกรณีกลุ่มผู้นำแรงงานจากสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ร่วมกันผลักดันให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า เมื่อปี 2552 ไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้าง ปีนี้จึงควรปรับให้บ้างเพื่อให้ลูกจ้างอยู่ได้ เพราะสถานประกอบการหลายประเภทได้เริ่มฟื้นตัวแล้ว เช่น ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่ขอ ให้ช่วยหาคนงานเนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก ขณะที่คนงานที่ออกจากงานเมื่อครั้งก่อนได้หันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแล้ว เท่าที่ทราบ ขณะนี้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทยอยรายงานการประชุมเกี่ยวกับการพิจารณาค่าจ้าง ปรากฏว่ามี 54 จังหวัดขอปรับเพิ่ม ขณะที่อีก 20 จังหวัดไม่ขอปรับค่าจ้าง ส่วนอีก 4 จังหวัด คือ จ.มุกดาหาร นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร คณะกรรมการส่งกลับคืนให้อนุกรรมการนำกลับไปทบทวน โดยในส่วนกรุงเทพมหานครนั้น ขอปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 บาท จากวันละ 203 บาท เป็น 205 บาท อย่างไรก็ตาม ทุกจังหวัดต้องส่งมติกลับมาภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ และคณะกรรมการจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี เพื่อให้เริ่มประกาศใช้ทันภายในวันที่ 1 มกราคม 2553

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแล้ว แต่เป็นสถานการณ์ที่ยังไม่ปกตินัก อยากให้ดูช่วงที่ผู้ประกอบการขาดทุนมากกว่า เพราะช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้น ภาคการผลิตจาก 100% ลดลงมาเหลือแค่ 50% เท่านั้น แม้เวลานี้คำสั่งซื้อสินค้าหรือ ออเดอร์เริ่มกลับมาแล้ว แต่กลับมาแค่ 30% การผลิตจึงยังไม่เต็ม 100% เหมือนเดิม

"ช่วงกลางปีหน้าจะบอกได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวลักษณะใด และจะฟื้นกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะหากขอขึ้นค่าจ้างตอนนี้ นายจ้างอาจมีความรู้สึกว่าพอเริ่มจะหายใจได้ก็กลับเอาอีกแล้ว ที่สำคัญภาคการผลิตยังต้องเผชิญกับน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งอยู่" นายสันติกล่าว

นายสันติกล่าวว่า อยากให้มองว่าช่วงที่เศรษฐกิจแย่นั้น ผู้ประกอบการก็อยากปลดคนงาน แต่ก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากมีการขึ้นค่าแรงจริงจะเป็นการซ้ำเติมกันมากกว่า เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการเพิ่งจะฟื้นตัวได้ ส่วนกรณีการคิดค่าจ้างขั้นต่ำโดยจัดแบ่งเป็น 3 โซน แทนรายจังหวัดนั้น อาจเป็นผลเสียได้เพราะแต่ละจังหวัดมีรายได้ประชากรต่างกัน หากรายได้เท่ากันจะกลายเป็นเรื่องที่น่าปวดหัว ดังนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุด คือความได้เปรียบ เสียเปรียบ หากลดจำนวนโซนลงตามที่เรียกร้อง

ทางด้านนายยงยุทธ แฉล้มวงศ์ ผู้อำนวยการวิจัยเพื่อการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจตลอดทั้งปีที่ผ่านมายังคงติดลบ เร็วเกินไปหากจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แม้ว่าการปรับค่าจ้างหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่ใช้กันเป็นหลักคืออัตราเงินเฟ้อและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอำนาจในการจ่ายของนายจ้าง ซึ่งแต่ละตัวยังไม่เพิ่มเลย จึงยังไม่มีเหตุผลที่ต้องปรับค่าจ้าง เพราะท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ยังมีกิจการหลายประเภทที่เปราะบางอยู่ หากปรับค่าจ้างกิจการประเภทนี้จะไปไม่ไหว ดังนั้นจึงน่าจะช่วยกัน ประคับประคองอีกหน่อย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกลุ่มสภาแรงงานขอปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอีก 5% ว่า เป็นอัตราที่ภาคธุรกิจรับไม่ได้ จากผลสำรวจนักธุรกิจยังระบุว่าสภาพคล่องและกำไรของธุรกิจยังไม่ดีนัก แต่หากขึ้นค่าแรงในอัตรา 2-3% ธุรกิจน่าจะยังรับได้ และสามารถพยุงต้นทุนและไม่ต้องขึ้นราคาสินค้าได้ เห็นว่าควรใช้อัตราเดียวกันทั้งประเทศ