Thai / English

คนงานถูกหลอกไปสวีเดน โร่แจ้ง DSI เอาผิดขบวนการตุ๋นแรงงาน



19 .. 52
ประชาไท

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้เร่งรัดเอาผิดกับบริษัทนายหน้าที่หลอกลวงจัดส่งคนไปเก็บผลไม้ที่สวีเดนหลังประนอมความกันไม่ได้เนื่องจากบริษัทให้เซ็นต์สัญญาประณีประนอมที่บิดเบือนกับความเป็นจริง และยังดูถูกเอาเปรียบคนงาน

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 52 เวลาประมาณ 10.00 น. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศประมาณ 50 คน ได้ไปรวมตัวกันที่สำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้เร่งรัดเอาผิดกับบริษัทนายหน้าที่หลอกลวงจัดส่งคนไปเก็บผลไม้ที่สวีเดน โดยมี พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงมารับหนังสือร้องเรียนของแรงงาน

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ ที่ถูกบริษัทนายหน้าหลอกให้ไปเก็บผลไม้ที่ประเทศสวีเดน ได้เดินทางไปที่กระทรวงแรงงานเพื่อรับเงินจากบริษัทฯ แต่เมื่ออ่านในสัญญาประนอมความของบริษัทนายหน้าแล้วพบว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริง มีถ้อยความดูถูกและเอาเปรียบแรงงาน ทำให้แรงงานไม่พอใจและได้มาร้องเรียนต่อ DSI ในวันนี้ (อ่าน: แรงงานถูกหลอกไปเก็บผลไม้ป่านัดรับเงินชดเชยนัดแรก มึนสัญญา ‘ดูถูก-เอาเปรียบ’ คืนเงิน ฉีกสัญญาทิ้ง)

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ

149 ลาดพร้าว 64, แยก 5, ถนนลาดพร้าว, วังทองหลาง, กรุงเทพฯ

โทรศัพท์: +662 933 9492 +662 933 9492 , แฟกซ์: + 66 2 933 9493 + 66 2 933 9493

16 ตุลาคม 2552

กรมสอบสวนพิเศษ

กระทรวงยุติธรรม

เลขที่ 128 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง

เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

เรียน อธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ และสมาชิกได้เดินทางมายังกรบสอบสวนพิเศษ (DSI) เพื่อยื่นเรื่องร้องเรียนให้มีการสอบสวนความไม่ชอบมาพากล และการสมรู้ร่วมคิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับสี่บริษัทจัดหางานที่ได้รับสัมปทานส่งคนงานไทยไปเก็บผลไม้ที่สวีเดนในปี 2552

ทั้งนี้ 4 บริษัท ได้ส่งแรงงานไปสวีเดนโดยทยอยเดินทางไปตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2552 โดยจัดส่งคนงาน จำนวน 5,911 คน โดยแยกเป็นดังนี้

· บริษัท สยามโรยัล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป จำกัด จำนวน 2,372 คน

· บริษัท สินซันชาย จำกัด จำนวน 1,668 คน

· บริษัท ไทย บลูเบอรี่ เซอร์วิส จำกัด จำนวน 738 คน

· บริษัท ที.เอส.ลอว์. แอนด์ บิสซิเนส จำกัด จำนวน 1,133 คน

โดยคนงานต้องเสียค่าบริการในการจัดส่งแรงงานเหล่านี้ให้กับบริษัทต่างๆ เป็นเงิน 75,000-120,000 บาท ด้วยความเชื่อที่ได้รับจากการประชาสัมพันธ์ทั้งจากสาย จากบริษัท และจากเจ้าที่กรมการจัดหางานว่าพวกเขาจะได้รับเงินกลับบ้าน(หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าบริการแล้ว) คนละ 100,000-300,000 กว่าบาท

ปรากฏว่ารายได้ที่เคยได้เช่นหลายปีที่ผ่านมาในช่วงที่คนงานเดินทางไปเก็บผลไม้ในรูปแบบวีซ่านักท่องเที่ยว (ค่าใช้จ่ายในการดำเนินเรื่องและค่าตั๋วเครื่องบินคนละประมาณ 40,000 บาท) กับการไปโดยผ่านระบบบริษัทจัดหางานนั้นต่างกันถึงกว่าเท่าตัว (75,000 – 120,000 บาท)

ยิ่งกว่านั้น นอกจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินเรื่องที่สูงกว่าเท่าตัว ค่าใช้จ่ายในประเทศสวีเดนในระบบจัดการโดยบริษัทนายหน้าทั้งที่ประเทศไทยและประเทศสวีเดนก็สูงกว่าในอดีตที่เคยไปกันเองเป็นอย่างมากอีกเช่นกัน จากที่เคยจ่ายเดือนละประมาณ 2,500 Kronor (12,000 บาท) ก็กลายเป็นวันละ 250 Kronor หรือตกเดือนละ 33,750 บาท (7,500 kronor) และค่าผลไม้ที่เคยได้ไม่ตำกว่า 20 kronor/กก. ก็ตกลงมาเหลือเพียง 8-14 kronor/กก. ทั้งๆ ที่เป็นปีที่ผลไม้ออกน้อย ซึ่งมันขัดกับหลัก “อุปสงค์-อุปทาน” ทางการตลาด

ผลที่เกิดขึ้นก็คือคนงานที่ไม่สามารถหาผลไม้ได้ และทนแบกรับค่าใช้จ่ายที่ติดลบที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้เดินทางกลับมาก่อนครบกำหนดสัญญา แต่แม้แต่คนงานที่อยู่จนครบกำหนดสัญญา ก็กลับมาพร้อมกับหนี้สินที่ไม่สามารถจ่ายคืนได้ เพราะไม่เหลือเงินติดมือกลับมาหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว

ทั้งนี้เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ ในฐานะที่เป็นองค์กรของคนงานที่ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ และเป็นองค์กรที่มีระบบสมาชิก ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2550 ด้วยเป้าหมายเพื่อขจัดธุรกิจค้ามนุษย์แรงงานหน้าเลือด และสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อผู้ได้รับผลกระทบหลายล้านคน ที่เริ่มมีการเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา จึงได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือคนงานเหล่านี้ ที่สมัครเป็นสมาชิกของเครือข่าย นับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน

กว่าทศวรรษ กระทรวงแรงงานได้นำเสนอด้วยความภาคภูมิใจถึงตัวเงินกว่า 50-60,000 ล้านบาทที่แรงงานไทยในต่างประเทศปีละกว่า 350,000 คน ส่งผ่านมายังธนาคารต่างๆ แต่เงินจำนวนนี้ไม่ได้ถึงมือครอบครัวทั้งหมด แต่กลับตกไปอยู่ในมือของกลุ่มนายหน้านายทุนเงินกู้นอกระบบ และบริษัทจัดหางานต่างๆ

การไปทำงานที่ต่างประเทศควรจะเป็นสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง ไม่ใช่ช่องทางการแสวงประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการในสายงานที่เกี่ยวข้อง หรือธุรกิจจัดหางาน สายและนายหน้า รวมทั้งนายทุนเงินกู้นอกระบบทั้งหลายที่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด

การไปทำงานที่สวีเดนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 2 เดือนไม่ควรถูกปล่อยให้เกิดกระบวนการค้ากำไรเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้

เครือข่ายฯ จึงร้องเรียนมาเพื่อให้ทางกรมสอบสวนพิเศษดำเนินการสอบสวนดังต่อไปนี้

1. เพราะเหตุใด กรมการจัดหางาน โดยเฉพาะสำนักงานบริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ จึงไม่ดำเนินการจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศเอง โดยเฉพาะในกรณีโอกาสงานในระยะสั้นเพียงแค่สองเดือนเช่นงานเก็บผลไม้ป่าที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (สวีเดน และฟินแลนด์) ทำไมกรมการจัดหางานจึงส่งโควต้าเหล่านี้ต่อไปให้บริษัทจัดหางาน ทั้งที่กรมน่าจะมีศักยภาพในการดำเนินการเรื่องนี้เอง เพื่อปกปองสิทธิประโยชน์สูงสุดให้กับคนงานไทย ในโอกาสการสร้างรายได้ในระยะเพียงสั้นๆ แค่นี้ แต่กลับกลายเป็นว่ากระบวนการนี้สร้างความยากจนในชั่วพริบตาให้กับหลายพันครอบครัวจากอีสานและภาคเหนือของประเทศไทย

2. เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความเป็นมาของการให้สัมปทานสี่บริษัทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่ากรมการจัดหางานได้มีมาตรการอย่างไรจึงได้ให้สัมปทานกับสี่บริษัทจัดหางาน โดยที่ทั้งสี่บริษัทไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ และไม่ได้วางเงินประกัน 5 ล้านบาท เช่นบริษัทอื่น

3. ท่านไพฑูรย์ แก้วทอง รมต. กระทรวงแรงงาน ได้ยืนยันในวันที่มีการเจรจาที่ห้องประชุมที่อาคารวุฒิสภาว่าทั้งสี่บริษัทพาคนงานไปต่างประเทศในรูปแบบ “นายจ้างพาไป” แต่ปัญหาก็คือกระบวนการทำงานทุกอย่างไม่ใช่ในรูปแบบ “นายจ้างพาไป” แต่เป็นกระบวนการเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบความเสียหาย ทั้งจากประเทศไทย และการเข้าถึงสิทธิการคุ้มครองทางกฎหมายจากประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ ลักษณะสัญญาที่เป็น “นิติกรรมอำพราง” จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ และหาคนมารับผิดชอบในกระบวนการนี้

เครือข่ายฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับกรมสอบสวนพิเศษในการดำเนินการสอบสวนและปรึกษาหารือเพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ในการสร้างหลักประกันในอนาคตว่าคนงานจะไม่ถูกหลอกและสูญเสียรายได้ที่ควรจะเป็นของเขาและครอบครัวให้กับกระบวนการค้าแรงงาน ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้

จึงเรียนมาเพื่อร้องเรียน และโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

จรรยา ยิ้มประเสริฐ

ประธาน เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ

ผู้อำนวยการ โครงการรรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

สำเนาส่ง

ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ท่านไพฑูรย์ แก้วทอง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

คุณวิไลวรรณ แซ่-เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

เบอร์สำหรับการติดต่อ สำนักงาน 02 933 9492 02 933 9492 มือถือ 081 617 5491 081 617 5491