Thai / English

"ทหารไทย"เพิ่มเงินเออร์ลี่ฯอีก300ล้าน

พนง.แห่เข้าโครงการวันแรกนับพัน สหภาพเบรกขอร่วมวงร่างกฎใหม่

03 .. 52
เครือมติชน

"ทหารไทย"เพิ่มเงินเออร์ลี่รีไทร์จาก 850 ล้าน เป็น 1.1 พันล้าน วันแรกพนักงานแห่เข้าโครงการ 1,035 คน ด้านสหภาพฯร่อนหนังสือเบรกมาตรการปรับปรุงตัว ขอมีส่วนร่วมร่างข้อกำหนดใหม่

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย เปิดเผยถึงโครงการเกษียณโดยสมัครใจ (เออร์ลี่ รีไทร์) ของธนาคารที่เปิดให้พนักงานสมัครเข้าร่วมตั้งแต่วันที่ 1-11 กันยายน 2552 ว่า โครงการดังกล่าวมีการเสนอเพิ่มวงเงินอีก 300 ล้านบาท จาก 850 ล้านบาทเป็น 1.1 พันล้านบาทในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามข้อเสนอของสหภาพธนาคารที่เสนอเข้ามาในปีที่แล้ว แต่ติดขัดเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กร จึงเลื่อนมาถึงปีนี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะเปิดรับพนักงานเข้าร่วมจนเต็มจำนวนเงิน หากเต็มแล้วจะปิดรับก่อนถึงวันที่ 11 กันยายน ซึ่งในวันแรกมีคนเข้าร่วมโครงการ 1,035 คนจากพนักงานธนาคารทั้งหมด 9,320 คน

"แบงก์อยากพัฒนาบุคลากรจากภายใน ซึ่งเพิ่มงบฯในการพัฒนาบุคลากรมากกว่า 300% แต่คอนเซ็ปท์ของโครงการจริงๆ อยากให้คนที่ทำงานไม่ไหวจริงๆ" นายบุญทักษ์กล่าว

นายบุญทักษ์กล่าวว่า ส่วนข่าวที่ออกมาเรื่องพนักงานไม่พอใจการทำงานนั้น เข้าใจว่าเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย ซึ่งเป็นธรรมชาติเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง จะมีคนที่กล้ารับการเปลี่ยนแปลงและคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราจะพยายามทำอย่างโปร่งใสให้มากที่สุด

นางสุวาณี แก้วแกมทอง ประธานสหภาพแรงงาน ธนาคารทหารไทยกล่าวว่า โครงการเกษียณโดยสมัครใจเหมือนเป็นการช่วยเหลือให้พนักงานที่อายุมาก มีทางเลือกมากขึ้น เพราะหลายคนที่อายุมากแล้ว ปรับตัวไม่ทันจริงๆ ซึ่งพนักงานหลายคนมีความสุขที่เข้าร่วม ไม่ได้ถูกบังคับแต่อย่างใด โดยจำนวนเงิน 1.1 พันล้านบาทนั้น คาดว่า จะเพียงพอรองรับความต้องการของพนักงาน แต่ที่มีคนเข้าโครงการค่อนข้างมากนั้น เพราะมีพนักงานส่วนหนึ่งที่มีงานอื่นรออยู่แล้ว แต่อยากได้เงินส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้ หากงบประมาณไม่เพียงพอทางธนาคารอาจพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

"สำหรับเรื่องของอี-เมลให้พนักงานปรับปรุงตัวภายใน 6 เดือนนั้น เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด ทำให้พนักงานเกิดความหวาดกลัว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสหภาพได้เตือนผู้บริหารธนาคารแล้ว เพราะที่ผ่านมามีการสื่อสารผิดพลาดหลายครั้ง โดยทางสหภาพได้ออกหนังสือให้ชะลอมาตรการดังกล่าวและขอให้สหภาพเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างข้อปฏิบัติใหม่ให้มีความชัดเจน เพราะวัตถุประสงค์ของมาตรการนี้คือต้องการให้พนักงานที่มีความสามารถที่อาจจะถูกมองข้ามแสดงศักยภาพของตนเองออกมา ไม่ได้ต้องการกดดันการทำงานของพนักงานแต่อย่างใด" นางสุวาณีกล่าว