Thai / English

คนแบงก์โวยถูกบีบปั๊มยอด > สหพันธ์แรงงานฯยื่นหนังสือธปท.ขอความเป็นธรรม



01 .. 52
ฐานเศรษฐกิจ

แบงก์พาณิชย์แข่งเดือดสั่งพนักงานทุกระดับขายผลิตภัณฑ์หารายได้ดันกำไร ออกกฎหินวัดผลทุกระยะหากไม่เข้าเป้าเจอย้ายหรือถึงขั้นไล่ออก สหภาพ-สหพันธ์แรงงานแบงก์ร้องพนักงานถูกใช้งานไม่เป็นธรรม ยื่นหนังสือถึงแบงก์ชาติแก้ปัญหา 3 ข้อทบทวนหลักเกณฑ์ใหม่ให้รับรองผลประโยชน์ลูกจ้าง การบังคับทำงานหลายหน้าที่และการอนุญาตเปิดสาขาย่อยโดยไม่คุมเวลาและวันหยุด

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งระบบในครึ่งปีแรกยังอยู่ในภาวะถดถอยอีกทั้งแนวโน้มในครึ่งหลังที่หลายคนคาดหวังไม่ได้ว่าจะฟื้นหรือไม่ แต่สำหรับผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทย 10 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 29,066.91 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 33,469.88 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มเติมผลกำไรที่ลดลงในจังหวะที่เศรษฐกิจปลายปีทำท่าจะดีขึ้น ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจึงแข่งขันกันอย่างหนักโดยส่งแรงกดดันพร้อมเป้าหมายลงมายังพนักงานสาขาในการหารายได้เข้าส่วนกลาง

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รับการร้องเรียนจากพนักงานของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งว่า การแสวงหารายได้และผลกำไรของธนาคารนอกจากจะเป็นหน้าที่โดยตรงของฝ่ายการตลาดแล้ว ปัจจุบันพนักงานในส่วนงานอื่นๆ ยังถูกบังคับให้ทำหน้าที่ขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารซึ่งเป็นงานนอกเหนือหน้าที่ อีกทั้งธนาคารยังเอาใช้ผลการขายมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำงาน หรือ KPI(Key Performance) ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาปรับเงินเดือน ผลตอบแทน และสถานะการจ้างงานว่าจะได้ทำงานต่อหรืออาจจะถูกเลิกจ้าง

กรุงศรีฯจัดเกรดพนักงาน

แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากแนวนโยบายชูสาขาเป็นจุดขายที่ผ่านมา ปีนี้ธนาคารมีความเข้มงวดมากขึ้นในแง่ของการประเมินผลงานของพนักงานสาขา เห็นได้จากปีนี้ทางธนาคารจะมีหนังสือแจ้งเป้าหมายการดำเนินงานและให้พนักงานลงชื่อรับทราบคะแนนหรือสัดส่วนความสำเร็จที่ทำได้ โดยแตกต่างจากปีก่อนๆที่เน้นบอกกล่าวเป็นวาจา

ที่สำคัญการประเมินผลงานปีนี้ ทางธนาคารจะกำหนดเป้าหมายจากยอดขายผลิตภัณฑ์โดยธนาคารจัดแพ็กเกจให้เสนอขายกับลูกค้าประมาณ 7-8 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นจะกำหนดเป้าหมายพร้อมทั้งน้ำหนักในการขายเพื่อให้พนักงานเสนอขายตามน้ำหนักที่ธนาคารกำหนด เช่น บัตรกดเงินสด สินเชื่อเอสเอ็มอี และแบงก์แอสชัวรันซ์แต่ละผลิตภัณฑ์มีค่าน้ำหนักอยู่ที่ 15% สินเชื่อที่อยู่อาศัยค่าน้ำหนัก 12.5% เงินฝาก 7.5% บัตรเครดิต 5% โดยผลิตภัณฑ์ที่มีค่าน้ำหนักมาก เช่น 15% หมายถึงผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่ทางธนาคารต้องการเสนอขายลูกค้า

ทั้งนี้ พนักงานทุกคนจะได้รับทราบเป้าหมายของตัวเอง และประเมินผลงานที่ทำได้เป็นรวมผลิตภัณฑ์จากนั้นจะคำนวณออกมาเป็นสัดส่วนความสำเร็จที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยผลประเมินกำหนดเป็น 4เกรดคือ เกรด 1 หมายถึงใช้ไม่ได้ เกรด 2 หมายถึง พอใช้ เกรด 3 หมายถึงดี และเกรด 4 หมายถึงดีมาก หากผลการประเมิน 2ครั้งมีคะแนนออกมาเป็นเกรด 1 ธนาคารกำหนดให้ต้องออกจากงาน

" ถ้าสาขาไหนยังทำยอดขายไม่ถึงเป้าตามผลประเมินครึ่งปีแรกตอนนี้ผู้จัดการสาขานั้นจะถูกเร่งเป้ากึ่งบังคับให้พนักงานส่งใบสมัครของลูกค้า โดยครึ่งปีแรกยังไม่มีคนถูกออกแต่การวัดผลงานจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ พนักงานเครียดกันมาก แต่เพื่อให้อยู่รอดก็ต้องหาลูกค้าเองและยอมจ่ายเงินซื้อลูกค้าหรือจ้างเซลส์ข้างนอก เช่น ประกันชีวิตถ้าหาลูกค้าไม่ได้พนักงานต้องซื้อเองหรือแนะนำญาติหรือเพื่อนให้ช่วยซื้อกรณีค่าเบี้ยไม่สูงนัก พวกบัตรเครดิต หรือบัตรเงินสดนั้นเราต้องยอมควักเงินจ้างเซลส์ข้างนอกไปก่อน 800บาทต่อบัตรเมื่อแบงก์อนุมัติ" แหล่งข่าวกล่าว

ที่ผ่านมาครึ่งปีแรก ธนาคารประเมินการทำงานตามสัดส่วนความสำเร็จที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่แบงก์แอสชัวรันซ์นั้นยากที่จะจ้างเซลส์ เพราะต้องเป็นความต้องการที่มาจากลูกค้าเอง ถ้าลูกค้ามีเงินเย็นก็จะได้ทั้งออมเงินโดยได้รับดอกเบี้ยและคุ้มครองชีวิตด้วย โดยสินค้าบางตัวขายไม่ได้เลย อีกทั้งการประเมินผลงานยังครอบคลุมถึงบริการบุคคลธนกิจ(Wealth) รายได้ค่าธรรมเนียม และติดตามทวงหนี้

ไทยพาณิชย์วัดผลเข้มข้น

แหล่งข่าวระดับผู้จัดการสาขาแห่งหนึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า สำหรับไตรมาสที่ 3 และ 4 ล่าสุดทางธนาคารเพิ่งแจ้งหลักเกณฑ์KPI ให้สาขาหรือกลุ่มที่ทำผลงานไม่ได้ตามเป้าหมายในไตรมาส 1 และ 2 จึงต้องจัดประชุมและทำแผนงานโดยให้ระบุชื่อลูกค้าพร้อมวันเวลาที่จะไปหาลูกค้า ซึ่งมีการติดตามผลงานกันเป็นรายวัน โดยแต่ละวันจะสอบถามว่าวันนี้ขายอะไรได้บ้าง

สำหรับคะแนนKPIแบบใหม่นั้น ธนาคารกำหนดวัดผลเป็นรายไตรมาส ประกอบด้วยผลงานขาย 4 ผลิตภัณฑ์คือ เงินฝากประจำและออมทรัพย์ เงินฝากกระแสรายวัน หน่วยลงทุน ประกันชีวิต ส่วนการประเมินผลรายครึ่งปีจะมี 4 ผลิตภัณฑ์คือ ประกันการชำระหนี้เงินกู้(Credit Life) ประกันวินาศภัย สินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และประเมินผลเป็นรายปีคือ ธุรกิจเอสเอ็มอีกับสินเชื่อบุคคล ( Speedy)

นอกจากนี้ยังมีการวัดผลจากคุณภาพของการให้บริการ(CE11)อีก 3ผลิตภัณฑ์คือ กองทุนเอสซีบีสะสมทรัพย์ตราสารหนี้ ซึ่งเป็นกองทุนรายใหม่ที่ไม่เคยซื้อกับธนาคารไม่ว่าสาขาใดก็ตาม ขณะเดียวกันต้องปรับระดับหรืออัพเกรดลูกค้าให้มีเงินฝากแต่ละกลุ่มเพิ่มขึ้น เช่น เป้ากำหนดไว้ 15% พนักงานก็ต้องสร้างความเติบโตของลูกค้าแต่ละระดับซึ่งธนาคารกำหนดไว้ 5 ระดับตั้งแต่วงเงินต่ำกว่า 1 แสนบาทเป็นระดับ Easy วงเงินฝากน้อยกว่า 3 แสนบาทเป็นระดับEasy+หรือ Easy Plus วงเงิน 3 แสนบาท-1 ล้านบาทเป็นPriority วงเงินฝาก 1-5ล้านบาทเป็นPriority Plus และวงเงินฝาก 5 ล้านบาทเป็น Private

"ตอนนี้ 14 ผลิตภัณฑ์แยกประเมินทั้งรายเดือน ครึ่งปีและรายปี แต่เกรดผลงานจะบอกได้ เช่น ทำได้ 1,000 คะแนนจากเป้ากำหนดไว้ 1,200 คะแนนเท่ากับผลงานที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ทำได้คือ 83%ซึ่งคะแนน KPIรวมจะมีช่วงเกรดผลงานว่าอยู่ในระดับA+ หรือ Aหรือ A- หรือB+ หรือ BกรณีผลงานB-ติดต่อ 2ปีจะเป็นกลุ่มถูกจิ้มออกที่เริ่มมาเมื่อเดือนเมษายนพร้อมขยายเวลาให้ 3 เดือนจะยื่นซองขาวรับชดเชย 11 เดือนโดยเดือนมิถุนายนที่ครบกำหนดจนผ่านมาแล้วเรื่องนี้ยังเงียบอยู่ เพราะสหภาพแรงงานระดับบนออกมาต่อต้าน แต่แบงก์ไม่ละความพยายามหันมาใช้วิธียุบ 3 หน่วยงานติดตามหนี้ พร้อมใช้วิธีสุ่มความคิดเห็นในกรอบว่าจะลาออกไปอยู่บริษัทใหม่ หรือเกษียณก่อนกำหนด หรือโยกย้าย แต่ผลสำรวจดังกล่าวยังไม่นำออกมาใช้"แหล่งข่าวกล่าว

ต่อประเด็นการประเมินผลรายไตรมาสนั้น ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้รับการชี้แจงสั้นๆว่า ปกติธนาคารจะกำหนดเป้าหมายให้พนักงานตั้งแต่ต้นจากนั้นจะประเมินผลปลายปีโดยไม่มีการประเมินผลเป็นรายไตรมาสแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารธนาคารมีมติให้ควบรวมบริษัทเอสซีบีซีเอสฯ (เป็นบริษัทในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ทำหน้าที่รับซื้อ NPL ไปบริหาร) ไปไว้กับบริษัทไทยพาณิชย์พลัส ฯ ซึ่งธนาคารถือหุ้น 100% เบื้องต้นให้พนักงานบางส่วนไปเป็นผู้บริหารในบริษัทดังกล่าวก่อน

ธ.กรุงเทพท้วงKPI

ด้านธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ปัจจุบันสหภาพแรงงานระดับผู้บังคับบัญชาบนเริ่มมีปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์คำนวณKPI เช่นกัน ซึ่งปัญหาหลักเรื่องKPIคือ 1.การวัดผลงานเป้าหมายเปอร์เซ็นต์ผลสำเร็จต่อเป้าสูงมาก เช่น แต่ละสาขาต้องหาเงินฝาก 890 ล้านบาทจึงจะได้คะแนน หากทำได้ต่ำกว่า 890 ล้านบาทจะไม่ได้คะแนน 2.ไม่มีมาตรฐานชี้วัด กรณีสาขาบนห้าง สาขาเปิดใหม่ซึ่งสาขาเหล่านี้ไม่มีสินเชื่อส่วนอุปโภคบริโภค ไม่มีหนี้เอ็นพีแอลจะได้คะแนนKPIเต็ม 89% แต่สาขาเก่าที่เปิดมานานมีการอำนวยสินเชื่ออุปโภคบริโภค มีหนี้เอ็นพีแอลจะได้รับการวัดด้วยคะแนนKPIซึ่งไม่เป็นธรรม

3. ตัวถ่วงน้ำหนักจะเปลี่ยนตามความต้องการของสายงานต่างๆ ขึ้นอยู่กับธนาคารว่าจะเน้นผลิตภัณฑ์ตัวไหน คือ ถ้าสายงานเลือกจะสร้างยอดขายด้านใดตัวถ่วงน้ำหนักก็จะมาก เช่น หนี้เอ็นพีแอลเกณฑ์วัดอยู่ที่ 219% หรือเงินสดขาดบัญชีเกณฑ์ชี้วัดอยู่ที่ 112% และ 4. KPIไม่ชัด สาขาขาดความเข้าใจในระบบ โดยผลงานของสาขาขึ้นอยู่กับหน่วยงานอื่นๆ หรือสายงานอื่นๆ เป็นผู้กำหนดชะตาหรือประเมิน เช่น ด้านสินเชื่อนั้น พนักงานสาขาจะทำหน้าที่เพียงรวบรวมข้อมูล เอกสารคำขอส่งให้กับศูนย์สินเชื่ออุปโภคบริโภค ส่วนหลักประกันส่งให้กับหน่วยงานหลักประกัน ถ้าได้รับอนุมัติสาขาจะมีผลงาน แต่หากได้รับการปฏิเสธสาขาก็ไม่มีผลงาน ทั้งๆที่สาขาต้องรับเป้าให้หาสินเชื่อ

สหภาพเคแบงก์อ้างมีขู่

ด้านสหภาพแรงงานธนาคารกสิกรไทยอยู่ระหว่างการทำหนังสือไปถึงกระทรวงแรงงานเพื่อให้ตรวจสอบสภาพการจ้างที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าขัดต่อสภาพการจ้างเดิมที่พนักงานแสดงเจตนาสมัครเข้ามาตั้งแต่ต้นหรือไม่ และอยู่ระหว่างการทำหนังสือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อให้พิจารณาทบทวนการอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์ขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือที่ไม่ใช่ธุรกรรมทางการเงิน ว่าขัดต่อการทำธุรกิจของธนาคารหรือไม่ โดยเฉพาะการอนุญาตของธปท.ได้ส่งผลให้เกิดการบังคับ ข่มขู่ โยกย้ายอย่างไร้ความเป็นธรรมจนทำให้พนักงานบางคนต้องลาออกกลายเป็นปัญหาสังคมขณะนี้

ที่ผ่านมากลางเดือนกรกฎาคมนั้น สหภาพแรงงานธนาคารกสิกรไทยได้ออกแถลงการณ์ด่วนถึงสมาชิกเรื่องเรื่องพนักงานถูกโยกย้ายและการทำงานเกิดสถานการณ์ระส่ำหนัก เพราะขาดความมั่นคงในการทำงานและเกรงภัยมืดจากกรณีพนักงานหลายพื้นที่ถูกผู้บริหารระดับเขต-ระดับภาคสั่งโยกย้าย บ้างข่มขู่จะให้ออกจากงาน

ทหารไทยแค่เริ่มต้น

ด้านธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)แหล่งข่าวกล่าวว่า นโยบายสายงานโปรดักต์ออกผลิตภัณฑ์ให้แต่ละสาขารับเป้ายอดขายแต่ละระดับใหญ่ กลาง เล็กและคีออส โดยเป้าหมายกำหนดตามแผนงานระยะสั้น โดยพนักงานสาขาที่ขายได้เป้าได้รับIncentive คือขายได้มากจะได้รับรายได้สูง ซึ่งสาขาใดทำยอดขายได้มากจะได้รับการโปรโมตผ่านKPI ทั้งเงินและตำแหน่ง โดยฝ่ายBack Office เช่น ฝ่ายบัญชี ตามแก้ไขปัญหา เพราะตอนนี้นักการตลาดจะเป็นใหญ่ไปแล้ว

" แบงก์ยังอยู่ช่วงเริ่มต้น คนสาขายังขายไม่เก่ง แต่แบงก์พยายามจะเทรนสร้างนักขายขึ้นมา และรับนักขายจากข้างนอกมากกว่าที่จะรับนักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์หรือนักบัญชี โดยวันที่ 1 ก.ย.นี้แบงก์จะเริ่มเปิดให้พนักงานสมัครใจเข้าโครงการเกษียณซึ่งเท่าที่คุยก็มีหลายคนที่สนใจจะออกเพราะไม่เหมาะกับงานขาย"

นายประดิษฐ เลี่ยวศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านบริหารงานสาขา ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ช่วงนี้ธนาคารเริ่มต้นการพัฒนาคนโดยทั้งปีใช้งบประมาณ 800 ล้านบาทเพื่อสร้างความรู้และพยายามจัดคนให้ถูกกับงาน ส่วนการวัดผลเชิงสาขานั้นเน้นความสามารถในการดูแลลูกค้า 3 ด้านคือ 1. คุณภาพของการให้บริการเป็นไทยๆโอบอ้อมอารีช่วยเหลือลูกค้าบนพื้นฐานการให้บริการไม่ผิดพลาด รวดเร็วและรอบรู้ 2. ด้านการควบคุมและตรวจสอบไม่ผิดพลาด และ 3. ผลงานด้านการขาย

" การวัดผลงาน 3 ด้านคือด้านบริการ ด้านการควบคุมและด้านผลงานการขาย เพื่อให้แต่ละสาขาแข่งขันกัน ซึ่งเดือนพฤศจิกายนจะแจกรางวัลให้สาขาเป็นครั้งที่ 2 หลังวัดผลครั้งแรกและแจกรางวัล 500 สาขาไปเดือนกรกฎาคม"นายประดิษฐกล่าว

สหพันธ์แรงงานเคลื่อนไหว

นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานกรรมการสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย(สธง.)กล่าวว่า ขณะนี้สธง.รอการติดต่อประสานงานธปท.หลังจากทำหนังสือถึงธปท.เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาใน 3 ประเด็นคือ 1. กรณีธปท.ออกประกาศหลักเกณฑ์การใช้บริการจากบุคคลภายนอกเพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในงานหลักที่สำคัญ แต่หลักเกณฑ์ที่กำหนดไม่ได้คุ้มครองหรือรับรองผลประโยชน์ของพนักงานลูกจ้าง นอกจากนี้ธปท.ไม่สามารถควบคุมการผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคโดยปล่อยบริษัทภายนอกเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเสรี

2.กรณีธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยและการขายหน่วยลงทุนแต่ธปท.ไม่สามารถควบคุมกำกับการประกอบธุรกรรมทำให้พนักงานถูกบังคับทำงานหลายหน้าที่แบกรับความเสี่ยงในการปฏิบัติงานโดยผิดกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)รวมทั้งแบ่งปันค่าตอบแทนให้พนักงานโดยไม่เป็นธรรม

3.กรณีธปท.อนุญาตให้ธนาคารเปิดสำนักงานสาขาย่อยในห้างสรรพสินค้าและสถานที่อื่นจำนวนมากโดยไม่สามารถควบคุมเวลาเปิด-ปิดบริการและอัตรากำลังที่ใช้บริการในสาขาย่อยทำให้ประกาศวันหยุดไม่มีผลในทางปฏิบัติ