Thai / English

มาร์คยันไม่แปรรูปรถไฟสหภาพฯแฉผู้ว่ามือไม่ถึง



25 .. 52
ผู้จัดการ

ASTVผู้จัดการรายวัน- 'อภิสิทธิ์'ย้ำรัฐบาลไม่มีนโยบายแปรรูป ร.ฟ.ท. แต่ต้องปรับโครงสร้างบริหารภายในและบริการ พร้อมเปิดให้สหภาพ ร.ฟ.ท. เสนอความคิดเห็น และทำความเข้าใจกับพนักงาน ร.ฟ.ท.เตรียมเจรจาสหภาพฯ 29 มิ.ย.นี้ ด้านโสภณ”นัดสหภาพฯ คุยนอกรอบ 1 ก.ค. ยอมรับบริษัทเดินรถสิทธิประโยชน์พนักงานไม่เท่ากับร.ฟ.ท.เดิม สาวลึกปัญหาแฉพนักงานไม่ได้รับข้อมูล ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ไร้วิสัยทัศน์ผู้นำยืมมือสหภาพฯ ชุดเก่าหนุน ทำงานสะดวก หลังสหภาพฯ เปลี่ยนขั้วจึงเกิดปัญหา ระบุ การปรับโครงสร้งกระทบพนักงาน ควรชี้แจงโดยตรง ด้าน”ยุทธนา”เล็งปรับโครงสร้างสหภาพฯเหตุก้าวก่ายการบริหารขณะที่”โสภณ”เรียกคะแนนเล็งต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรี ด้านสหภาพฯร.ฟ.ท.หวัง เปลี่ยนที่มา บอร์ด รฟท. คุมขุมทรัพย์ทำเลทอง “จตุจัตร พหลโยธิน รัชดา มักกะสัน” ยันที่ผ่านมา มี “นักธุรกิจ – นักการเมือง”ได้ประโยชน์ โต้ นายกฯ แกล้งมึน ไม่รู้แนวทาง ยึดมาแปรรูปให้เอกชน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยก่อนเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวานนี้ (24 มิ.ย.) ถึงกรณีที่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ยังกังวลจะมีการแปรรูป ร.ฟ.ท.ว่า เป็นความห่วงใย ซึ่งต้องมาพูดคุยว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องการแปรรูป ร.ฟ.ท.ส่วนแผนการฟื้นฟูร.ฟ.ท.เป็นเรื่องการปรับโครงสร้างการบริหารภายในที่หากสามารถแยกกิจการ ด้านการดูแลโครงสร้างพื้นฐานออกจากการวิ่งรถและการพัฒนาทรัพย์สินจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับสภาพปัจจุบันว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดีขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สหภาพฯ ร.ฟ.ท. ต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ดังนั้น รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้และเชื่อว่าหากพูดกันด้วยเหตุผล น่าจะเกิดความเข้าใจกันได้ ว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะทำเพื่อต้องการให้รถไฟอยู่ในสถานะที่ไม่ต้องขาดทุน และการขนส่งด้วยระบบรางเป็นหัวใจสำคัญในการลดต้นทุนให้กับภาคเศรษฐกิจ ทั้งด้านโลจิสติกส์ ภาคอุตสาหกรรมภาคการเกษตกร

“ คิดว่ารัฐบาลกับสหภาพฯร.ฟ.ท. ไม่น่าจะมีปัญหาระหว่างกัน เพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้บริการ รถไฟดีขึ้นและไม่มีประโยชน์ที่จะมาพูดว่าการเคลื่อนไหวของสหภาพ ร.ฟ.ท. มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร อยากให้เอาเรื่องความตั้งใจของรัฐบาลเป็นหลักและเชิญชวนสหภาพ ฯและพนักงานรถไฟมาร่วมพูดคุยกันดีกว่า”นายกฯกล่าว

อย่างไรก็ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหยุดเดินรถนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องคิดว่า เมื่อเกิดปัญหาปิดถนนหรือหยุดบริการต่าง ๆ จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งได้บอกผู้เกี่ยวข้องไปแล้วว่าต้องช่วยดูว่ามีบุคลากรอะไรที่มาทำงานเหล่านี้ได้บ้างในกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นมา

***”โสภณ”นัดสหภาพฯ คุยนอกรอบ

ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้บริหาร ร.ฟ.ท.หารือกับกลุ่มสหภาพฯ ร.ฟ.ท.ในวันที่ 29 มิ.ย.52 นี้ให้เรียบร้อย โดยเฉพาะการเจรจาเรื่องข้อเรียกร้องของสหภาพฯ จากนั้นในวันที่ 1 ก.ค.52 ตนจะหารือกับสหภาพฯ เป็นการภายในเพื่อทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะถือเป็นบทเรียน

และหาแนวทางการแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก

นายโสภณกล่าวว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่ต้องเร่งการจัดตั้งบริษัทลูกของร.ฟ.ท. โดยเฉพาะบริษัทเดินรถ เพื่อรองรับการเปิดเดินรถในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือ แอร์พอร์ตลิงค์ในวันที่ 5 ธ.ค. 2552 และเห็นว่าหากไม่ตั้งบริษัทลูกเดินรถ แอร์พอร์ตลิ้งค์ก็เดินไม่ได้

ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นอนุสาวรีย์ โดยเชื่อว่า หากเจรจากับสหภาพฯ แล้วเข้าใจกัน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หากเนื้อหาของแผนฟื้นฟูร.ฟ.ท.ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็เดินหน้าได้ทันที

**ยอมรับลดสิทธิประโยชน์พนักงานจริง

รมว.คมนาคมยอมรับว่า สิทธิประโยชน์ของพนักงานในส่วนของบริษัทเดินรถที่ตั้งขึ้นใหม่จะไม่เหมือนเดิม เพราะบริษัทลูกมีวิธีการบริหารจัดการที่ไม่เหมือนกัน บริษัทลูกจะไม่มีบำเหน็จบำนาญ สวัสดิการอาจจะลดลง แต่เงินเดือนอาจจะสูงขึ้น ดังนั้น การย้ายมาอยู่บริษัทลูกของพนักงานก็ต้องขึ้นกับความสมัครใจเป็นทางเลือก

อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีคงยอมไม่ได้ถ้าร.ฟ.ท.ไม่มีแผนฟื้นฟู เพราะถือเป็นเรื่องที่จำเป็น และสหภาพฯ ก็เข้าใจเรื่องนี้แต่ปัญหาที่ติดขัดคือเรื่องบริษัทเดินรถ ที่กระทบกับพนักงาน ก็ให้ดูในเรื่องนี้ว่าจะเอาอย่างไร แต่ถ้าจะให้ย้อนกลับไปดูใหม่ทุกเรื่องคงช้าไปแล้ว

***แฉ”ผู้ว่าฯร.ฟ.ท.บริหารล้มเหลว

แหล่งข่าวจากร.ฟ.ท.กล่าวว่า การเคลื่อนไหวคัดค้านการแผนปรับโครงสร้างร.ฟ.ท.โดยเฉพาะการตั้งบริษัทลูกเดินรถของสหภาพฯ ร.ฟ.ท.ด้วยการหยุดเดินรถ ปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน แต่หากย้อนกลับไปหาสาเหตุที่แท้จริงที่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันก็คือ การให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องการปรับโครงสร้างกับพนักงานตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นแทบไม่มีเลย โดยเฉพาะการตั้งบริษัทเดินรถ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ 4 ส่วน คือหน่วยธุรกิจเดินรถสินค้า หน่วยธุรกิจเดินรถโดยสาร หน่วยธุรกิจเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ และหน่วยธุรกิจเดินรถไฟสายสีแดง

ในขณะที่พนักงานร.ฟ.ท.ได้รับข้อมูลเพียงว่า จะมีการตั้งบริษัทลูกเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์เท่านั้น ส่วนรถสินค้าและโดยสารยังไม่มีการพูดถึง เมื่อแผนปรับโครงสร้างที่ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2552 ออกมากลายเป็นสิ่งที่พนักงานไม่เคยรับรู้อย่างเป็นทางการมาก่อน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ร.ฟ.ท.มีการชี้แจงแผนปรับโครงสร้างให้พนักงานได้รับทราบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18มิ.ย. 2552 หลังครม.เห็นชอบแผนไปแล้ว ส่วนผู้ว่าฯร.ฟ.ท.ออกเดินสายชี้แจงพนักงานย่านแก่งคอย นครสวรรค์และทุ่งสง ชุมพรช่วงวันที่ 13-14 มิ.ย. ซึ่งก็หลังจากที่ครม.เห็นชอบแผนไปแล้วเช่นกัน ซึ่งซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อพนักงานมีการซักถามถึงรายละเอียดของบริษัทลูกเดินรถ สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงานจะเป็นอย่างไรบ้าง ผู้ว่าฯร.ฟ.ท.กลับชี้แจงทำความเข้าใจไม่ได้จนถูกพนักงานต่อต้าน

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวย้ำว่า การเคลื่อนไหว ครั้งนี้เป็นการดำเนินงานของสหภาพฯ ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ที่มีนายสาวิทย์ แก้วหวานเป็นประธาน ในขณะที่ สหภาพฯชุดเก่า ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างที่ผ่านมาจนเสนอครม. เหตุผลลึกๆ ก็เพราะสหภาพฯ ชุดเดิมเป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนนายยุทธนา ผู้ว่าฯร.ฟ.ท. ในขณะที่เรื่องการปรับโครงสร้างไม่ได้เป็นของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งในร.ฟ.ท. แต่เป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯร.ฟ.ท.ต้องทำความเข้าใจกับพนักงานร.ฟ.ท.ทุกกลุ่มให้เรียบร้อยก่อนและไม่สามารถโยนภาระนี้ให้ฝ่ายการเมืองได้เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบเนื่องจากการปรับโครงสร้างร.ฟ.ท.เป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของร.ฟ.ท.จึงเป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯร.ฟ.ท.ที่ถือว่าเป็นผู้บริหารสูงสุด ขององค์กรต้องทำ

อย่างไรก็ตามสหภาพฯ ได้ออกเอกสารแถลงการณ์ถึงเหตุผลของการคัดค้านการปรับโครงสร้างครั้งนี้ในประเด็นหลักๆ คือ พนักงานไม่เคยรู้เรื่องหรือได้แสดงความคิดเห็นต่อการปรับโครงสร้างองค์กรเลย ทั้งที่แผนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของพนักงานโดยตรง เนื่องจากบริษัทลูกเดินรถตามโครงสร้างใหม่ พนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถในปัจจุบัน(ช่างกล.เดินรถ) จะถูกบังคับให้เป็นพนักงานของบริษัทเดินรถที่ตั้งขึ้นใหม่และไม่มีทางเลือกที่จะอยู่ในส่วนของร.ฟ.ท.เดิมได้ เพราะงานที่รับผิดชอบจะเป็นภารกิจของบริษัทเดินรถ ส่วนร.ฟ.ท.จะเหลือเฉพาะงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแผนไม่มีรายละเอียดเรื่องสวัสดิการของพนักงานในบริษัทลูกเลยว่าจะเป็นอย่างไร

*****สหภาพฯแฉผู้ว่ามืออ่อน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.)กล่าวถึงผลการหารือร่วมกับพล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า สาเหตุที่การเจรจาเป็นไปได้เร็วเป็นเพราะได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่ารัฐบาลจะยุติการดำเนินการตาม มติครม.3 มิ.ย. ที่เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการบริหารเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของ ร.ฟ.ท. เพราะไม่ได้ผ่านการรับรู้ หรือ การมีส่วนร่วมของสหภาพฯ ถือว่าผิดขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่ง พล.ต.สนั่น รับปากว่าจะนำเรื่องนี้กลับไปดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามขั้นตอน โดยให้สหภาพฯเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ได้มีเรื่องการเมือง หรือมีเบื้องหน้าเบื้องแต่อย่างใด

นายสาวิทย์ กล่าวว่า แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายแปรรูปการรถไฟหรือเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ตามในรายละเอียดในแผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าวระบุชัดว่า ให้บริษัทลูก 2 บริษัท คือ บริษัทการเดินรถไฟ ที่ให้บริการเดินรถไฟเพื่อการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟ ซึ่งให้เข้าบริหารใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดินของการรถไฟ ดำเนินการจดทะเบียนโดยใช้ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน และหลังจากนั้นอีก 180 วัน จะต้องโอนทรัพย์สินของการรถไฟทั้งหมดเข้ามาอยู่ในความดูแลของทั้ง 2 บริษัท โดยไม่ต้องเสียภาษี สามารถควบคุมกำหนดเวลาเดินรถ และหลังจากนั้นจะเพิ่มบทบาทให้บริษัทเอกชนเข้ามาดูแลกำหนดอัตราค่าโดยสาร อัตราค่าระวางสินค้า

“ไม่รู้ว่าที่นายกฯบอกว่า ไม่มีการแปรรูปการรถไฟ ไม่รู้ หรือว่าไม่ได้ทำการบ้าน หรือพูดเพื่อต้องการลดแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น เพราะลักษณะเช่นนี้ไม่เรียกว่าแปรรูป แล้วจะเรียกว่าอะไร เพราะในแผนฟื้นฟูฯกำหนดให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 500 ล้านบาท มาดูแลทรัพย์สินของการรถไฟ ที่มีทั้งหัวรถจักร เครื่องจักร ทางเดินรถไฟ ที่ดินของการรถไฟ อสังหาริมทรัพย์ รวมมูลค่าหลายหมื่นล้าน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆ ก็คือ 2 บริษัท แม้รัฐบาลจะบอกว่าบริษัททั้ง 2 รัฐถือหุ้น 100 เปอร์เซ็น แต่ก็เป็นเพียงแค่คำลอยๆ เท่านั้น ไม่ได้มีระบุไว้ในแผนแต่อย่างใด ”

นายสาวิทย์ กล่าวว่า สหภาพฯเห็นด้วยกับการปฏิรูปการรถไฟ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูป ซึ่งการปฎิรูปสามารถทำได้ทันที เริ่มจากการยกเลิกที่มาของคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย จากเดิมที่มาจากรัฐบาลแต่งตั้งให้ มาเป็นการคัดเลือกจากสมาชิก เพื่อให้ได้บอร์ดที่มีความรู้ความสามารถ มาบริหาร เพราะที่ผ่านมา การรถไฟต้องขาดทุน เพราะขาดการเอาใจใส่จากผู้บริหาร ทั้งในเรื่องที่ไม่มีการปรับปรุงอัตราค่าเช่าที่ดินของการรถไฟ เช่นในเขต กทม.จำนวน 8 พันไร่ อาทิ ย่าน จตุจัตร พหลโยธิน รัชดา มักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเลทองแต่มีการเรียกเก็บค่าเช่าในอัตราต่ำมาก ขณะที่พื้นที่ของการรถไฟที่ให้มีการเช่าทั่วประเทศ รวม 3.6 หมื่นไร่ แต่สามารถเก็บค่าเช่าได้เพียงปีละ 1 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งที่ดินเหล่านี้มีนักธุกิจ นักการเมือง เข้ามาแสวงหาประโยชน์ รวมทั้งกรณีของการครอบครองที่ดินของการรถไฟบริเวณเขากระโดงของนายชัย ชิดชอบ ที่มีการเรียกร้องให้เพิกถอนสิทธิ์การถือครองที่ดินดังกล่าว

นายสาวิทย์ กล่าวว่า รฟท.ไม่ได้ขาดทุน 70,000 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าวเพราะในจำนวนนี้มีประมาณ 26,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าชดเชย ที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับรฟท. จากการจำหน่ายตั๋วค่าโดยสารราคาต่ำ เพื่อลดภาระให้กับประชาชน ซึ่งค่าชดเชยดังกล่าวที่รัฐบาลไม่เคยจ่ายตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน ส่วนอีก 40,000 กว่าล้านนั้น เป็นการใช้งบประมาณจากการลงทุน เช่น โครงการทำรางรถไฟสายแอร์พอร์ตลิ้งค์ และ การลงทุนในเรื่องต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้สามารถได้ผลประกอบการคืนในอนาคต

รายงานข่าวระบุว่า มีความพยายามจากรัฐบาลทุกชุดในการแปรรูปรฟท.เพราะในอนาคตบรรดาธุรกิจต่างๆ จะใช้วิธีขนส่งสินค้าทางรางรถไฟ ตามแผนการดำเนินแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ.2550-2554 พโดยใน ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งโลจิสติกส์ โดยเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากทางบกมาเป็นขนส่งทางรถไฟ ส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และยุโรป จึงต้องมีการดำเนินการปรับปรุงระบบรางรถไฟใหม่เพื่อรองรับแผนดังกล่าว

***”ยุทธนา”เล็งรื้อสหภาพฯ

ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าฯร.ฟ.ท. ยืนยันว่า ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารและคณะกรรมการ รฟท. มีเอกสารหรือเชิญสหภาพฯ หารือและชี้แจงแผนฟื้นฟูมาโดยตลอด ซึ่งเชื่อว่าพนักงานส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟู เพราะเป็นประโยชน์กับ รฟท. โดยยอมรับว่าในส่วนของหลักประกันที่ว่าจะไม่มีการนัดหยุดงานหรือหยุดเดินรถเป็นไปได้ยากและต่อไปนี้คงต้องมาพิจารณาการปรับโครงสร้างของสหภาพฯ ด้วย เพราะที่ผ่านมามีการเข้ามาก้าวล่วงการบริหารของฝ่ายบริหาร ซึ่งขอยืนยันว่าไม่มีการแปรรูป ร.ฟ.ท. เป็นเรื่องของการฟื้นฟู และจะเปิดรับฟังความเห็นของสหภาพฯ อย่างเต็มที่

***หวั่นปัญหาบริษัทลูกลามขสมก.

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคมกล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นเกี่วกับโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 4,000 คัน โดยระบุว่า ยังมีแนวทางอื่นนอกเหนือจากการเช่าหรือซื้อ เช่น การสัมปทาน หรือ การตั้งบริษัทลูก นั้น เป็นแนวทางที่ทำได้ แต่ในส่วนตัวแล้วยังยืนยันแนวทางการเช่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดส่วนการเสนอแนวทางอื่นนั้นโดยเฉพาะการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อบริหาร ก็เกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เดียวกันกับกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ที่ทำการประท้วงหยุดเดินรถไฟ เพื่อต่อต้านการตั้งบริษัทลูกของร.ฟ.ท.

“ยังยืนยันแนวทางเช่า ส่วนใครจะมีการแสดงความคิดเห็นอย่างไร ในวันที่ 29 มิ.ย.52 นี้ กระทรวงคมนาคม จะจัดเสวนาเรื่องรถเมล์เอ็นจีวี ด้วย และจะเชิญทุกฝ่ายเข้าร่วม รวมทั้งจะให้สื่มวลชนได้ร่วมแสดงความเห็นด้วย ก่อนจะรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ”นายโสภณ กล่าว

อย่างไรก็ตามในส่วนของกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าอาจเสนอขอขยายเวลาพิจารณาโครงการดังกล่าวอีก 1 เดือนนั้น นายโสภณ กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับสศช. และหากเกรงว่าจะเป็นการยื้อเวลาออกไปหรือไม่ ก็ไม่เป็นไร เพราะอยากให้ฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

***เล็งขยายเวลาเมล์-รถไฟฟรี

นอกจากนี้ นายโสภณ กล่าวถึงมาตรการรถเมล์ และรถไฟฟรี ของรัฐบาลที่จะหมดอายุในเดือนก.ค. 2552 นี้ ว่า กระทรวงคมนาคมจะพิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง โดยจะพิจารณาถึงความเห็นของประชาชนเป็นหลัก ประกอบกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ว่าประชาชนมีความเดือดร้อนเพียงใด หากมีความเดกือร้อนจริง กระทรวงคมนาคมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อขยายเวลาออกไปอีก ซึ่งเบื้องต้นหากมีการขยายจะขอขยายเวลาออกไปให้ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน