Thai / English

สร.ร.ฟ.ท.บี้ครม.23มิ.ย.เลิกมติตั้ง2บริษัทฟื้นฟูร.ฟ.ท.



23 .. 52
เครือมติชน

เวลา 17.00 น. วันที่ 22 มิถุนายน นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท. (สร.ร.ฟ.ท) เข้าพบ นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยนายสาวิทย์ยืนยันข้อเรียกร้องเดิมคือ ขอให้นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอ ครม.ให้ยกเลิกมติ ครม.เรื่องแผนการฟื้นฟูกิจการรถไฟและสถานะทางการเงินของ ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 โดยจะรอที่ประชุม ครม.วันที่ 23 มิถุนายน พิจารณาเรื่องดังกล่าว ก่อนตัดสินใจเลิกการหยุดเดินรถ

นายสาวิทย์กล่าวว่า จะหยุดเดินรถจนกว่า ครม.จะทบทวนมติดังกล่าว เพื่อให้ ร.ฟ.ท.กับสหภาพกลับมาเริ่มต้นหารือกันใหม่ เนื่องจากแผนก่อนหน้าไม่ได้มีการหารือกับสหภาพมาก่อนเลย และแผนดังกล่าวจะมีผลกระทบกับประชาชนในระยะยาว เพราะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาบริหารดูแลด้วยในอนาคต ไม่มีการรับประกันว่าจะแก้ไขปัญหาและไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีอะไรที่จะไม่สร้างผลกระทบได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีปัญหาให้เห็นอยู่อย่างกรณีของโครงการโฮปเวลล์

แถลงการณ์ขอคืนที่ดินเขากระโดง จากตระกูล"ชิดชอบ"

"ก่อนหน้านี้ซึ่งเคยเป็นกรรมการของสหภาพชุดก่อนนั้นก็ยอมรับว่าหารือ แต่สหภาพเห็นด้วยเฉพาะเรื่องการตั้งบริษัทมาดูแลแอร์พอร์ตลิงก์เท่านั้น ต้องขออภัยประชาชนที่ต้องได้รับความเดือดร้อน และได้รับความเสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นความเสียหายระยะสั้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ในระยะยาว เราจะปกป้องผลประโยชน์ให้มากที่สุด เรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย" นายสาวิทย์กล่าว และว่า ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้มีพรรคการเมืองใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าหัวหน้าพรรคคือนายสมศักดิ์ โกศัยสุข จะเป็นที่ปรึกษาของสหภาพก็ตาม

ขณะเดียวกัน สหภาพ ร.ฟ.ท.ได้ออกแถลงการณ์ย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

1) ยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552

2) ขอให้เพิกถอนสิทธิการครอบครองที่ดินร.ฟ.ท.บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ จากนายชัย ชิดชอบ และ นางกรุณา ชิดชอบ ทันที

3) ให้สหภาพมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงร.ฟ.ท.

ยอดลาป่วย451-96ขบวนนิ่ง

นายยุทธนากล่าวว่า สำหรับยอดการลาใน 2 วันระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายนนั้น มียอดการลารวม 451 คน แต่ฝ่ายช่างได้วิเคราะห์ว่าแม้ว่าพนักงานจะไม่ลาทั้งหมด แต่คาดว่ารถไม่สามารถเดินได้ เพราะมีการตั้งเวทีไฮปาร์คที่สถานีบางซื่อ ซึ่งกีดขวางพนักงานขับรถที่จะไปรับรถก็คงรับรถไม่ได้เพราะอาจไม่ปลอดภัยได้ สำหรับความเสียหายนั้น พบว่ามีประชาชนได้รับความเดือนร้อนประมาณ 50% หรือประมาณ 2 แสนคนจากที่มีผู้ใช้บริการต่อวันประมาณ 4 แสนคน ทั้งนี้ สำหรับขบวนรถไฟที่หยุดเดินเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนประกอบด้วยเที่ยวขึ้นจำนวน 51 ขบวน เที่ยวล่องอีก 45 ขบวน รวมทั้งสิ้น 96 ขบวน จากทั้งหมด 290 ขบวน ขณะที่รถขบวนสินค้าก็หยุดไปรวม 50 ขบวน

ผู้ว่าการร.ฟ.ท.ขู่ใช้กม.ให้คุณให้โทษ

นายยุทธนากล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทางผู้บริหารจะไปดูเรื่องข้อกฎหมายว่ามีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากถูกต้องก็ไม่มีปัญหา แต่หากไม่ถูกต้องจะมีการนำเรื่องระบบให้คุณให้โทษมาใช้ในการดำเนินการสำหรับผู้ที่ทำการประท้วง นอกจากนี้ จะไปยกเลิกข้อตกลงที่สหภาพทำไว้กับผู้บริหารเมื่อประมาณปี 2550 ที่ขอให้สหภาพเป็นผู้ตั้งพนักงานระดับ 8 หรือหัวหน้างานเบื้องต้นด้วย ทั้งที่ระดับดังกล่าวควรจะเป็นอำนาจของผู้ว่าการ จากเดิมที่สหภาพตั้งตำแหน่งงานได้แค่ระดับ 7 เท่านั้น ทั้งนี้ ปัจจุบันพนักงานระดับ 8 นั้นมีอยู่ประมาณ 530 คน

"ที่ผ่านมาสหภาพพยายามที่จะเข้ามามีส่วนในเรื่องนี้ ซึ่งข้อบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อตกลงก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551" นายยุทธนาระบุ

"โสภณ-ประดิษฐ์"ยันไม่มีแปรรูป

ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทลูก 2 บริษัท เป็นแนวทางการฟื้นฟูฐานะการเงินของ ร.ฟ.ท. โดย ครม.มีมติให้ ร.ฟ.ท.ถือหุ้นในบริษัทลูก 100% ยืนยันว่าจะไม่มีการแปรรูป ร.ฟ.ท.โดยเด็ดขาด และแนวทางการฟื้นฟูฐานะการเงินของ ร.ฟ.ท.นั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังได้หารือกัน เพื่อแก้ปัญหาขาดทุนที่สะสมมานาน ถ้าไม่เร่งดำเนินการ ร.ฟ.ท.จะยิ่งลำบากในอนาคต

"ส่วนข้อเสนอของสหภาพที่เรียกร้องให้ทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมยังเปิดรับฟังความคิดเห็นของสหภาพ แต่ทุกฝ่ายต้องหารือกันว่าจะแก้ปัญหาการขาดทุนอย่างไร และหากมีข้อเสนอที่ดี ตนพร้อมจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.วันที่ 23 มิถุนายน เพราะเป็นคนมีเหตุผล แต่การทำงานต้องเป็นขั้นตอน เมื่อ ครม.มีมติถือว่าเป็นกฎหมายที่ต้องดำเนินการ" นายโสภณกล่าว และว่า ไม่ใช่ยกเลิกมติ ครม.เพราะสหภาพขอให้ยกเลิก แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้

ด้านนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลจะลงทุนในระบบขนส่งในช่วง 3-5 ปี เป็นเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้าง ร.ฟ.ท.ให้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับจำนวนเงินมหาศาลที่จะต้องใส่ลงไป เพื่อให้ฐานะดีขึ้นและกลับมาเป็นประโยชน์กับประเทศชาติสอดคล้องกับนโยบายลงทุน และยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้แปรรูป ร.ฟ.ท.แต่อย่างใด

ร.ฟ.ท.หยุดทั่วปท.ต้านแผนฟื้นฟู

ก่อนหน้านี้ เกิดเหตุการณ์รถไฟหยุดให้บริการทั่วประเทศกว่า 50 ขบวน โดยเริ่มจากขบวนรถไฟสายกรุงเทพฯ-ลพบุรี ซึ่งกำหนดออกจากสถานีหัวลำโพงเวลา 04.20 น. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน หยุดวิ่งเป็นขบวนแรก เนื่องจากพนักงานรถไฟประท้วงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา กรณีอนุมัติแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการ เพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงิน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ให้จัดตั้งบริษัท 2 แห่ง คือ บริษัท เดินรถ จำกัด และบริษัท บริหารทรัพย์สิน ซึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท. (สร.ร.ฟ.ท) อ้างว่าเป็นการอนุมัติแผนโดยที่ไม่ผ่านการหารือกับพนักงาน ร.ฟ.ท.ก่อน ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถานีหัวลำโพงภายหลังรถไฟหยุดเดินรถ ทำให้ประชาชนไปคืนตั๋วที่จองไว้จำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงว่าหากคืนตั๋วในวันเดินทางที่ ร.ฟ.ท.หยุดเดินก็จะได้เงินคืน 100% แต่หากคืนตั๋วล่วงหน้าโดยที่ยังไม่ทราบว่าวันที่เดินทางจะมีรถไฟหยุดหรือไม่จะถูกหักประมาณ 20% ของราคาตั๋วตามกฎของ ร.ฟ.ท. ทำให้ประชาชนไม่พอใจเรียกร้องไปยังนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ให้ออกคำสั่งหากคืนตั๋วก็ควรจะได้เงินคืน 100%

ปชช."เหนือ-ใต้-อีสาน"โกลาหล

ขณะที่บรรยากาศที่สถานีรถไฟในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศทั้งภาคเหนือ ใต้ อีสาน ต่างเกิดความโกลาหลวุ่นวายเช่นกันตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อเด็กนักเรียน พ่อค้า นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไปต่างได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่มีรถไฟวิ่งตามปกติ ผู้โดยสารพากันยืนออเพื่อคืนตั๋ว บางคนตะโกนด่าแสดงความไม่พอใจที่ ร.ฟ.ท.ไม่แจ้งล่วงหน้าทำให้เสียเวลาเดินทาง

นายวิษณุ จันทร์กระจ่าง นายสถานีรถไฟ จ.พิจิตร กล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าขบวนรถไฟในเส้นทางสายเหนือทั้ง 28 ขบวน ขบวนใดบ้างงดเดินรถ แต่ช่วงเช้าที่ผ่านมามีขบวนธรรมดาเที่ยวล่อง ขบวนที่ 202 ต้นทางสถานีพิษณุโลก-กรุงเทพฯ ให้บริการเพียงขบวนเดียวเท่านั้น ขณะที่สถานีรถไฟชุมพร ตั้งแต่ช่วงเช้าบรรดาเด็กนักเรียนที่ต้องเดินทางโดยรถไฟในระยะสั้นที่วิ่งระหว่างอำเภอต้องตกค้างอยู่ตามสถานีต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ผู้โดยสารทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศนับพันคนต่างไม่พอใจและโวยวาย หลังเจ้าหน้าที่แจ้งว่ารถไฟหยุดให้บริการโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากจองตั๋วรถไฟไว้ล่วงหน้า และแม้เจ้าหน้าที่ยินยอมคืนค่าโดยสารให้ทั้งหมดก็ตาม เพราะต้องเปลี่ยนการเดินทางแบบกะทันหันและส่งผลกระทบต่อแผนการท่องเที่ยวที่วางไว้

คุ้มครองผู้บริโภคชี้ทำเดือดร้อน

ที่สถานีรถไฟยะลา ประชาชนจำนวนมากยืนรอใช้บริการแต่ไม่มีรถไฟวิ่งตามปกติ โดยทางสถานีจัดเจ้าหน้าที่ชี้แจงสาเหตุหยุดเดินรถพร้อมทั้งนำป้ายผ้ามาติด เรียกร้องไม่ให้ขายกิจการการรถไฟให้เอกชน ด้านผู้โดยสารคนหนึ่งเปิดเผยว่า ได้รับความเดือดร้อนมากเนื่องจากต้องใช้บริการรถไฟเดินทางไปทำงานที่ อ.รามัน จ.ยะลาเป็นประจำทุกวัน เพราะเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ รถเมล์โดยสารหยุดวิ่ง อยากให้สหภาพ ร.ฟ.ท.รีบเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้องเปิดให้บริการตามปกติ

ส่วนที่สถานีรถไฟนครราชสีมา ตั้งแต่ช่วงเช้าเงียบเหงาประชาชนทราบข่าวสหภาพรถไฟประท้วงรัฐบาลพากันหันไปใช้บริการรถโดยสารแทน ส่วนรถไฟท้องถิ่นที่วิ่งระหว่างนครราชสีมา-อุบลราชธานี-ขอนแก่น-หนองคาย และอำเภอยังคงให้บริการปกติ

นางแววดาว เขียวเกษม ผู้ประสานงานมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การหยุดรถประท้วงครั้งนี้ สร.ร.ฟ.ท.ควรแจ้งให้ประชาชนทราบก่อน เพราะทำให้ประชาชนที่ไม่ทราบเดือดร้อน

"พขร.-ช่างเครื่อง"ใช้ยื่นลาป่วย

ต่อมาเวลา 11.00 น. นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงรถไฟหลายขบวนหยุดวิ่งว่า ไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน ซึ่งก็เกิดฉุกละหุกพบว่ามีพนักงานหยุดงานโดยใช้เหตุผลลาป่วย เป็นพนักงานขับรถ และพนักงานช่างเครื่อง พนักงานทั้ง 2 ฝ่ายที่มีอยู่ประมาณ 2,200 คน ส่งผลให้มีรถหยุดเดินแล้วเบื้องต้น 50 ขบวน

"รถที่หยุดวิ่งนั้น ส่วนใหญ่เป็นรถดีเซลรางชานเมือง ใน กทม. 13 ขบวนและที่เหลือเป็นรถชานเมือง ส่วนรถระยะยาวยังวิ่งอยู่ ยกเว้นสายใต้ กรุงเทพฯ-สุโหงโก-ลก ที่วิ่งถึงสถานีหาดใหญ่เท่านั้น ร.ฟ.ท.จะเกลี่ยกะการทำงานของพนักงานให้มากขึ้นจากเดิม 3 กะก็อาจเกลี่ยให้เป็น 5-9 กะ และมีการรายงานเรื่องนี้ไปยังนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งนายโสภณให้ประนีประนอมรับฟังปัญหาและหาทางแก้ไขกันต่อไป" ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ระบุ

ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ชี้ข้อเรียกร้องขัดกม.

นายยุทธนากล่าวว่า ร.ฟ.ท.ต้อขอโทษประชาชนที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น ส่วนความเสียหายยังคาดการณ์ไม่ได้ แต่ปกติ ร.ฟ.ท.จะมีรายได้ประมาณ 15-20 ล้านบาทต่อวัน จากการขนส่งผู้โดยสาร 10 ล้านบาท และขนส่งสินค้าประมาณ 5-10 ล้านบาท และยังไม่สามารถบอกว่ารถจะกลับมาเดินได้เต็มที่เมื่อไหร่ แต่ประสานงานไปกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บ.ข.ส.เพื่อให้ขนคนที่ตกค้างแล้ว

นายยุทธนากล่าวว่า การกระทำของ สร.ร.ฟ.ท.เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และข้อเรียกร้องดังกล่าวถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้มีการหารือกับ ร.ฟ.ท.เลยเป็นการขอให้ยกเลิกมติ ครม. และแผนฟื้นฟูที่ผ่าน ครม.นั้นไม่ใช่การแปรรูป แต่เป็นการตั้งบริษัทเพื่อเดินรถและบริหารทรัพย์สินเพื่อฟื้นฟูรถไฟให้ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม และ ร.ฟ.ท.ก็ถือหุ้นทั้ง 100%

"แผนดังกล่าวทางสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท.ชุดก่อนก็เคยเห็นชอบด้วย เพราะสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานก็คงได้สิทธิเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และแผนดังกล่าวก็เพื่อไม่ให้ ร.ฟ.ท.ตกต่ำไปมากกว่านี้ และหากต้องยกเลิกแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.จะยิ่งขาดทุนมากขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน เพราะไปกู้เงินเขามาทำ" ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าว

ห่วงการเมืองแทรก"สร.ร.ฟ.ท."

นายยุทธนากล่าวว่า ประธานสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท.คนใหม่คือ นายสาวิทย์ แก้วหวาน เพิ่งมารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 2 เดือน และยังไม่ได้มีการหารือกัน เพราะที่ผ่านมาไปต่างประเทศเพิ่งกลับมา พอกลับมาถึงก็ทำการประท้วงหยุดเดินรถเลยถือว่าไม่ถูกต้อง ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารได้จัดทำเอกสารแจกจ่ายและชี้แจงแผนการฟื้นฟูให้กับพนักงานไปแล้ว แต่ล่าสุดทราบว่าเอกสารดังกล่าวไปไม่ถึงมือพนักงาน ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น กำลังหารายละเอียดในเรื่องดังกล่าวอยู่ และทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องปรับรูปแบบการประชาสัมพันธ์ใหม่ โดยให้ฝ่ายการเดินรถรับเรื่องไปดำเนินการไปเผยแพร่ในทุกสถานีและให้มีเสียงตามสายเพื่อชี้แจงให้กับพนักงานด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องดังกล่าวมีกลุ่มพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ นายยุทธนากล่าวว่า เป็นเรื่องภายในของ ร.ฟ.ท. เชื่อว่าปัญหาน่าจะพูดคุยและหาทางออกกันได้ แต่หากปัญหาดังกล่าวมีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องก็คงจะเป็นเรื่องลำบาก ซึ่ง ร.ฟ.ท.ก็ห่วงเรื่องนี้อยู่เช่นกัน มีการนัดหารือกับนายสาวิทย์ เมื่อเวลา 11.00 น. เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราพร้อมจะคุย หากในที่สุดแล้วไม่มาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร และถือว่าเป็นการเมืองที่ปล่อยให้คนนอกเข้ามาแทรกแซง

ร.ฟ.ท.ซัดเอาสมบัติขายเอกชน

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายภาคประชาชน อาทิ เครือข่ายศิลปิน เครือข่ายสลัม 4 ภาค คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น ร่วมกันหารือถึงการประท้วงหยุดการเดินรถของสมาชิก สร.ร.ฟ.ท.ที่คัดค้านแผนการฟื้นฟูของผู้บริหาร ร.ฟ.ท.

นายสุพิเชษฐ์ สุวรรณชาตรี เลขานุการ สร.ร.ฟ.ท.กล่าวภายหลังว่า สร.ร.ฟ.ท.ได้คัดค้านการแปรรูปมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเรียกว่าแผนฟื้นฟู หรือการแปรรูป เพราะในที่สุดก็คือการเอาสมบัติของประชาชนไปขายให้เอกชน แม้ตอนแรก ร.ฟ.ท.อาจยังถือหุ้นเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องค่อยๆ ขาย และสภาพของบริษัทก็คงไม่ได้เป็นไปอย่างที่ผู้บริหารกล่าวอ้าง เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นใน ปตท.จากที่เคยกำไรไม่กี่หมื่นล้านบาท กลับเพิ่มขึ้นเป็นแสนล้านบาท แต่กลับส่งเงินเข้ารัฐน้อยลง ครั้งนี้ก็เช่นกัน เหมือนกับการรื้อบ้านแล้วสร้างใหม่ ท้ายสุดที่ดินกว่า 2 แสนไร่ของ ร.ฟ.ท. โดยเฉพาะพื้นที่ทำเลดีๆ กว่า 3 หมื่นไร่ ก็ถูกนายทุนเอาไปหมด

แฉแผนจ้องเขมือบจึงใช้ยาแรง

"ที่ผ่านมา เราต้องแบกต้นทุนและรัฐบอกว่าจะจ่ายค่าบริการทางสังคมให้ แต่ตอนนี้รัฐค้างชำระหนี้อยู่กว่า 2 หมื่นล้านบาท จริงๆ แล้วสหภาพไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่รู้ว่าใครได้ผลประโยชน์จากแผนฟื้นฟู 2 แสนล้านบาทนี้ ใครไปตั้งบริษัทรอเพื่อเขมือบรถไฟ ถ้าเขาเปิดเงื่อนไขอย่างนี้ ให้ ร.ฟ.ท.ทำเองก็ได้" นายสุพิเชษฐ์กล่าว และว่า ขณะนี้ประชาชนอาจด่า ร.ฟ.ท. แต่อีกไม่กี่ปีจะต้องนึกถึงสิ่งที่ สร.ร.ฟ.ท.คัดค้าน เพราะแผนการฟื้นฟูครั้งนี้ถือว่าเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาผูกขาด แผนนี้ถือว่าปิดลับมาโดยตลอด โชคดีที่ สร.ร.ฟ.ท.ไปเจอตกอยู่หน้ากระทรวงคมนาคม เลยทราบข้อเท็จจริง ซึ่งข้อเรียกร้องครั้งนี้ต้องการให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม.เพราะถือว่าเป็นการทำลายรถไฟทั้งระบบ ดังนั้น สร.ร.ฟ.ท.จึงต้องใช้ยาแรง ไม่เช่นนั้นสังคมคงไม่รับทราบ

นายสุพิเชษฐ์กล่าวอีกว่า ต้องชุมนุมเพื่อหยุดแผนนี้ให้ได้ และว่ามีข้อตกลงว่า ก่อนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรถไฟ ต้องแจ้งให้ สร.ร.ฟ.ท.ทราบ แต่เรื่องนี้ไม่เคยมีการหารือ ทั้งๆ ที่ต้องยื่นเป็นข้อเรียกร้อง และแจ้งให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ทราบ ซึ่งถือว่าทำผิดกฎหมาย เพราะเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างของ ร.ฟ.ท.กว่า 4,000 คน และพนักงานกว่า 10,000 คน เพราะต้องถูกบังคับให้เลือกว่าจะย้ายไปอยู่บริษัทเอกชนหรืออยู่กับ ร.ฟ.ท.

แถลงการณ์พธม.16จว.หนุน

นางเสน่ห์ หงส์ทอง ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า เชื่อว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพราะมีผู้หวังผลประโยชน์ในที่ดินกว่า 2 แสนไร่ เช่น ที่ดิน จ.บุรีรัมย์

นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ ผู้ประสานงานจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า คนจนจำนวนมากอาศัยอยู่ริมทางรถไฟ ซึ่งหลายแห่ง ร.ฟ.ท.ให้เช่าราคาถูก แต่อนาคตถ้าที่ดินตกไปอยู่ในมือเอกชน เชื่อว่าต้องจ่ายค่าเช่าแพงขึ้น

นายสุนทร รักษ์รงค์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.ชุมพร และผู้ประสานงานพันธมิตร 16 จังหวัดภาคใต้ ออกแถลงการณ์เห็นด้วยกับการหยุดงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯและมีมติคัดค้านการทำแผนฟื้นฟู ทั้งนี้รัฐบาลต้องพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนเพราะเป็นแผนทำลายรถไฟ นำสมบัติสาธารณะไปให้บริษัทเอกชนเข้ารับผลประโยชน์

กสร.เตือนคัดค้านอยู่ในกรอบ

ด้านนายอาทิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สอบถามกับผู้บริหาร ร.ฟ.ท. ทราบว่าพนักงานจำนวน 200 คนทั่วประเทศ ลาหยุดงานคนละ 2 วัน อย่างถูกต้อง ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่หากลาป่วยจะต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน ได้พยายามติดต่อกับฝ่ายลูกจ้าง การใช้สิทธิลา อย่าขาดงานเกิน 3 วัน ไม่เช่นนั้นจะถูกเลิกจ้างตามกฎหมายได้ และจะเตือนว่าการแสดงออกคัดค้านอะไรให้อยู่ในกรอบพอสมควร ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน