Thai / English

แรงงานไทยในตปท. รายได้ส่งกลับหดตัว


บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
18 .. 52
โพสต์ทูเดย์

ปัญหาการว่างงานในหลายประเทศทั่วโลกก็ยังคงมีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ภาวะดังกล่าวได้ส่งผลต่อเนื่องมายังไทย ผ่าน สถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศ ตลอดจนรายได้ส่งกลับที่ยังคงอ่อนแอ

โดยจากรายงานตัวเลขแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศตั้งแต่ต้นปี 2552 พบว่าจำนวนแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศล่าสุดในเดือนเม.ย. 2552 อยู่ที่ 12,680 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 33.2% จากเดือนมี.ค. แต่ก็ยังคงหดตัว 13.2% จากเดือนเม.ย. 2551 แม้ว่าจะเป็นอัตราการหดตัวในขนาดที่ลดลงจาก 24.3% ของเดือนมี.ค.

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นของตัวเลขแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศดังกล่าวอาจยังไม่สามารถใช้เป็นข้อสรุปได้ว่าสถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว เนื่องจากประการแรก การเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงานจากเดือนก่อนหน้า อาจได้รับอิทธิพลด้านฤดูกาลที่จำนวนแรงงานในเดือน เม.ย. มักสูงกว่าเดือนมี.ค. เป็นส่วนใหญ่

ประการที่สอง อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าของจำนวนแรงงานมีความผันผวนสูง ขณะที่การปรับผลกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาลด้วยค่าเฉลี่ย 3 เดือนย้อนหลังในเดือนเม.ย.นั้น เพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบ 4 เดือน โดยหดตัว 14.2% เทียบกับ 18.6% ในเดือนมี.ค.

ดังนั้น จึงอาจยังเป็นการเร็วเกินไปที่จะมั่นใจว่าสถานการณ์ แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศถึงจุดต่ำสุดแล้ว จนกว่าทิศทางการฟื้นตัวดังกล่าวจะปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนถัดๆ ไป สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 นี้ จำนวนแรงงานไทยที่ เดินทางไปทำงานในต่างประเทศยังคงหดตัวสูงถึง 17.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับที่หดตัว 0.1% ในปี 2551

นอกจากนี้ รายได้ส่งกลับของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศประจำเดือนเม.ย. 2552 ก็กลับมาถดถอยลง โดยมีอัตราการหดตัว ที่สูงขึ้นจาก 4.4% ในเดือนมี.ค. มาที่ 13.4% (โดยมีเงินส่งกลับ ทั้งสิ้น 4,600 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวน 4,970 ล้านบาท) หลังจากที่สถานการณ์รายได้ส่งกลับดังกล่าวฟื้นตัวขึ้นชั่วคราวโดยบันทึกอัตราการหดตัวที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าในเดือนมี.ค.

ทั้งนี้ การชะลอตัวของรายได้ส่งกลับดังกล่าวมีส่วนส่งผลให้ใน ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 นี้ รายได้ส่งกลับมีจำนวน 18,417 ล้านบาท ลดลง 11.7% จากปีก่อน เทียบกับที่เติบโตถึง 11.9% ในปี 2551 หรือคิดเป็นเงินที่หายไปประมาณ 2,400 ล้านบาท

แนวโน้มแรงงานไทยในต่างประเทศช่วงที่เหลือของปี 2552 ยังคงเปราะบาง โดยอาจได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยเสี่ยงดัง ต่อไปนี้

v เศรษฐกิจของประเทศปลายทางที่แรงงานไทยนิยมเดินทาง ไปทำงาน แม้แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นจะเริ่มมีสัญญาณบวกจากการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้เศรษฐกิจบางส่วน แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งเป็น 3 ประเทศแรกที่แรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงาน ล่าสุดทั้งจากเครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนเม.ย. 2552 และจากมุมมองของนักวิเคราะห์ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ บ่งชี้ถึงสัญญาณการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเม.ย. 2552 ของทั้งสามประเทศที่หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วประเทศปลายทางดังกล่าวก็ยังมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดย ประเทศไต้หวันมีอัตราการว่างงานในเดือนเม.ย. พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุด ที่ 5.77% เทียบกับ 5.63% และ 5.72% ในเดือนก.พ. และมี.ค. ตามลำดับ

อีกทั้งยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 5% ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2551 ขณะที่ในประเทศเกาหลีใต้เองก็มีอัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับ 4% ในเดือนเม.ย. ส่วนในประเทศสิงคโปร์ อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2.4% ตั้งแต่ไตรมาส 4/2551 พุ่งขึ้นสู่ 4.8% ในไตรมาส 1/2552

ทั้งนี้ การปรับตัวเลขคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจแม้จะดูดีขึ้น แต่ก็คาดว่าเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลาในการดูดซับกำลังการผลิต ส่วนเกิน และแรงงานที่ว่างงานอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งในระหว่างนี้ อาจทำให้ความต้องการแรงงานจากต่างประเทศ รวมทั้งแรงงานไทยชะลอตัว

v การแข่งขันกับแรงงานต่างประเทศอื่นๆ ทั้งนี้นับวันตลาดแรงงานในต่างประเทศที่แรงงานไทยเคยเข้าไปมีบทบาทสำคัญและมีจำนวนมากนั้น เริ่มถูกทดแทนจากแรงงานต่างชาติอื่นๆ โดยเฉพาะจากประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าไทยหรือต่ำกว่าประเทศปลายทางที่ไปทำงาน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันมีคนงานไทยลดลงเพราะถูกทดแทนด้วยแรงงานต่างชาติอื่นๆ อาทิ เวียดนาม ที่ยอมรับค่าแรงงานต่ำกว่า ขณะที่นายจ้างก็ย่อมต้องการแรงงานที่มีราคาถูกกว่าหากมีฝีมือและมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน

v สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่แม้อัตราการตายจากโรคดังกล่าวจะน้อยกว่าหากเทียบกับโรคซาร์ส (SARS) ในปี 2546 ที่มีส่วนทำให้แรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศลดลงมากในช่วงนั้น โดยลดลงถึง 8.1% เหลือเพียง 147,769 คน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีแรงงานได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศสูงถึง 160,807 คน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์การอนามัยโลก หรือฮู ได้ยกระดับการเตือนภัยและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากระดับ 5 เป็นระดับ 6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นก็อาจจะมีผลต่อการเดินทาง การเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกประเทศได้