Thai / English

แฉสารพัดเล่ห์เหลี่ยมนายจ้างยุควิกฤตฉวยโอกาสบีบเลิกจ้าง



30 .. 52
ผู้จัดการ

วิกฤตแรงงานสาหัสคาดตกงานไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนหนักหน่วงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง แฉสารพัดเล่ห์เหลี่ยมนายจ้างฉวยโอกาสบีบเลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชย ลดค่าจ้าง กลุ่มแรงงานนอกระบบถูกทอดทิ้งไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ ชี้รัฐบาลทุ่มเม็ดเงิน 5,000 กว่าล้านออกมาตรการรับมือวิกฤตผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงานแค่หวือหวายังไม่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

1 พ.ค. ของทุกปีคือวันแรงงานสากลที่บรรดาแรงงานทุกภาคส่วนต่างมีกิจกรรมร่วมสะท้อนปัญหาสภาพการจ้าง สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ขายแรงงานทั่วทุกมุมโลก ซึ่งวันแรงงานสากลในปี 2552 นี้ ดูเหมือนวิฤตแรงงานจะหนักหนาสาหัสกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมาเพราะทั่วโลกเผชิญหน้ากับวิฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามบานปลายมาจากปัญหาซับไพร์มหรือการปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพ ซึ่งมีพี่เบิ้มสหรัฐอเมริกาเป็นต้นตอแห่งวิกฤต

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตแรงงานไทย เครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และเครือข่ายสหภาพแรงงานสากลในประเทศไทย สะท้อนภาพสถานการณ์แรงงานไทยที่มีการเลิกจ้างอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันกับกระทรวงแรงงานว่า ตัวเลขผู้ว่างงานจากวิกฤตครั้งนี้จะสูงถึง 2 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ว่างงานในปี 2540 – 2543 ที่มีเพียง 1.5 ล้านคน เนื่องจากภาคชนบทซึ่งเป็นฐานที่รองรับภาคแรงงานในอดีตนั้นไม่สามารถรองรับสถานการณ์นี้ได้แล้วในปัจจุบัน

และแม้ว่ากระทรวงแรงงานจะมีมาตรการรับมือกับวิกฤตเลิกจ้างและว่างงาน แต่เป็นเพียงมาตรการที่หวือหวาระยะสั้น ไม่ใช่มาตรการที่มีประสิทธิภาพยั่งยืนในระยะยาว และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานได้จริง

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงข่าวเรื่อง “ปฏิบัติการขบวนการแรงงานไทย ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมาโดยสรุปผลจากการเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงาน ซึ่งเปิดเป็นศูนย์ในระดับชาติและระดับเขตพื้นที่ย่านอุตสาหกรรม รวม 20 ศูนย์ ครอบคลุมแรงงาน 4 กลุ่ม

คือ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานหญิงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. – 20 เม.ย. 52 มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบเข้ามาขอคำปรึกษากับศูนย์ฯ จำนวน 12,656 คน แยกเป็นกลุ่มแรงงานในระบบ 11,988 คน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ อย่างน้อย 500 คน กลุ่มแรงงานหญิง 77 คน ส่วนแรงงานนอกระบบไม่มีตัวเลข

สำหรับรูปแบบของปัญหาที่มีผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานในกลุ่มต่างๆ มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันไปตามสภาพการจ้างงานและเพศ โดยภาพรวมพบว่าแรงงานทั้ง 4 กลุ่ม ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจอย่างยากจะหลีกเลี่ยง บางคนถูกลดเวลาทำงาน ลดค่าจ้าง ไม่ได้รับค่าชดเชย นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

แต่ปัญหาสำคัญที่เด่นชัดกว่า คือ การที่นายจ้างใช้ข้ออ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจมาเลิกจ้างผู้ใช้แรงงาน ในส่วนนี้พบมากในกลุ่มแรงงานในระบบ

ส่วนแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาตินั้น มีปัญหาการไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ทั้งการไม่มีสวัสดิการ และการเข้าไม่ถึงการคุ้มครอง ขณะที่แรงงานซึ่งเป็นเพศหญิง กลับยิ่งต้องมีภาระความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นหลังตกงาน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของบุตรหลานในบ้านที่ยังไม่สามารถทำงานได้ เช่น ค่าการศึกษา ค่านมบุตร

แต่ปัญหาที่มากไปกว่านั้น ก็คือ ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม ขาดการรับรู้ข้อมูลส่วนราชการ และเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ

***ยานยนต์ อิเลคทรอนิกส์ ลอยแพมากสุด

สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานในระบบ ที่ถูกเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างที่เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์ ฯ มากที่สุด เป็นแรงงานจากกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ ยานยนต์ และโลหะ สภาพปัญหาหลักมาจากนายจ้างใช้ข้ออ้างปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเพื่อเลิกจ้างแรงงานมากถึง 11,800 คน แยกเป็น กลุ่มเหมาค่าแรง 5,141 คน และพนักงานประจำ 6,659 คน รวมทั้งบางคนยังถูกเลิกจ้างโดยนายจ้างไม่จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินพักร้อน อีก 188 คน

แรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยที่มาขอคำปรึกษาจากศูนย์ฯ เป็นผู้ถูกเลิกจ้างใน 43 บริษัท ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เช่น อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) แหลมฉบัง บ่อวิน อมตะซิตี้ สยามอีสเทิร์น 30 บริษัท ในสมุทรปราการ 6 บริษัท ปราจีนบุรี 5 บริษัท ปทุมธานี 1 บริษัท และในเขตพระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจที่นายจ้างฉวยโอกาสจากวิกฤตเลิกจ้าง เช่น บริษัทเอ็นทีเอ็น แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ประกอบกิจการเครื่องจักร เครื่องทุ่นแรง เลิกจ้างผู้ใช้แรงงานเหมาค่าแรง 1,150 คน แต่กลับมีการเปิดรับสมัครงานใหม่อยู่ตลอด

ส่วนกิจการสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และอื่นๆ พบว่า นายจ้างปิดกิจการ และไม่จ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง กับนายจ้างย้ายฐานการผลิตไปพื้นที่อื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า

*** แฉ “พูม่า” – “ไนกี้” บีบลูกจ้างออก

เล่ห์เหลี่ยมของนายจ้างที่ คสรท. ยกตัวอย่างให้เห็นถึงการปิดกิจการที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง คือ บริษัทแอพพาเรล แอ๊ฟวินิว จำกัด (จำนวนแรงงานที่มาร้องเรียนที่ศูนย์ฯ 200 คน) ผู้ประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ยี่ห้อ “พูม่า” ไนกี้ แอ้ดวานซ์ พบว่า นายจ้างทยอยขายเครื่องจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมออกไปแล้ว 400 คัน

และนับแต่เดือนพ.ย. 49 นายจ้างเริ่มจ่ายค่าจ้างไม่ตรงงวด หักเงินประกันลูกจ้างแล้วไม่นำส่ง แจ้งลูกจ้างว่าจะปิดกิจการเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 51 โดยบริษัทมาสเตอร์ พีช การ์เม้นท์ เท๊กซไทล์ จำกัด จะเข้ามาดำเนินกิจการต่อ แต่บริษัทมาสเตอร์ พีชฯ ไม่รับโอนสภาพการจ้าง ไม่นับอายุงานต่อเนื่อง ลูกจ้างทุกคนต้องไปเขียนใบสมัครงานใหม่และต้องทดลองงาน 120 วัน

การแจ้งปิดกิจการเป็นลักษณะหลอกให้พนักงานทุกคนเซ็นเอกสาร แต่เอกสารนั้นกลับมีข้อความว่า “บรรดารายชื่อพนักงานทั้งหมดที่เซ็นชื่อในหนังสือฉบับนี้ ขอยินยอมลาออกจากบริษัท แอพพาเรลฯ โดยไม่เรียกร้องสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป” และเมื่อพนักงานที่ไม่ยินยอมเซ็นชื่อจะถูกนายจ้างกดดันเรียกเข้าห้องประชุมทีละคนและขู่ให้เซ็นใบลาออก

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 51 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทำงาน ลูกจ้างได้ทวงถามให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกครั้ง แต่นายจ้างกลับแจ้งว่าไม่มี และไม่ให้ อยากได้ให้ไปฟ้องเอา และถึงฟ้องเอาก็ใช่ว่าจะได้ ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 51 ลูกจ้างยังคงเข้าไปที่บริษัทแอพพาแรลฯ เนื่องจากไม่แน่ใจว่านายจ้างปิดกิจการ เมื่อรูดบัตรเข้าทำงานกลับได้รับแจ้งว่าถึงมาทำงานก็ไม่ได้รับค่าจ้างเพราะไม่มีบริษัทแอพพาแรลฯ แล้ว เมื่อไม่ได้สมัครงานกับบริษัท มาสเตอร์ พีชฯ ก็ไม่ได้รับค่าจ้าง

ยังมีบริษัท เดอะคิงส์ พิวเตอร์ จำกัด (จำนวน 40 คน) ประกอบกิจการผลิตวัสดุ อุปกรณ์ ของชำร่วยที่ทำจากแร่ พบว่า นายจ้างออกหนังสือแจ้งการเลิกจ้างล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ เนื้อความมีถ้อยคำข่มขู่ว่าจะลงโทษหากลางานไม่ว่ากรณีใดๆ จะถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย ทำให้ลูกจ้างไม่กล้าลางานแม้เจ็บป่วย

นอกจากนั้น ยังพบว่า นายจ้างต้องเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น ลูกจ้างบางคนจะต้องได้รับค่าชดเชยถึง 84,000 บาท แต่บริษัทบังคับให้ลูกจ้างรับค่าชดเชยเพียง 20,000 บาท โดยกดดันให้ลงชื่อในหนังสือเลิกจ้างที่มีถ้อยคำว่าลูกจ้างยินยอมรับเงินตามที่บริษัทเสนอโดยไม่เรียกร้องใดๆ อีก

***แรงงานนอกระบบไร้ความคุ้มครอง

จากรายงานของศูนย์ฯ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ พบว่า ปัญหาสำคัญของกลุ่มแรงงานนอกระบบไม่ใช่การถูกเลิกจ้าง แต่เป็นเรื่องความไม่รับผิดชอบของภาคธุรกิจในเรื่องสวัสดิการทางสังคม มีการเลือกใช้ระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วง หรือ ซับคอนเทรก เข้ามาใช้ในการจ้างงาน มีบริษัทมารับจ้างทำงานให้กับโรงงาน ทำให้แรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงานแบบนี้ไม่มีหลักประกันสังคมใดๆ เลย ทั้งที่รับงานมาจากโรงงานเช่นเดียวกัน ไม่แตกต่างจากการทำงานในโรงงานแม้แต่น้อย ซึ่งเป็นวิธีการหลบเลี่ยงกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองได้มากที่สุด

แรงงานนอกระบบ ไม่สามารถระบุนายจ้างได้ชัดเจนและไม่มีสวัสดิการรองรับ เมื่อมีผลกระทบจากการปิดกิจการหรือคำสั่งซื้อน้อยลงก็ถูกลอยแพก่อน กรณีในภาคเหนือและภาคใต้ที่มีแรงงานนอกระบบในภาคเกษตรจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการใช้สารเคมี เมื่อมีปัญหาสุขภาพขึ้นมาก็ไม่มีสวัสดิการใดๆ

ส่วนกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้น เป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน เช่น นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หรือจ่ายช้ากว่ากำหนด และมักถูกเลิกจ้างกระทันหันโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ธุรกิจเรือประมงที่จังหวัดสมุทรสาคร มีการเลิกจ้างแรงงานพม่าเป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกันกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานกลุ่มผู้หญิง ที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง ถูกลดเวลาทำงาน และมีแนวโน้มจะกลายเป็นแรงงานนอกระบบและไม่ได้รับความคุ้มครองทางสังคมใดๆ ความเดือดร้อนตามมาสูงทั้งภาระในครอบครัว ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่บุพการี

***ชี้นายจ้างได้ประโยชน์- ลดอำนาจต่อรองลูกจ้าง

สภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น เป็นภาพสะท้อนสำคัญถึงแนวทางจัดการของรัฐที่ยังแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้ไม่ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทำให้มีแรงงานอย่างน้อยนับหมื่นคนที่มาร้องเรียนยังศูนย์ฯ คสรท.และองค์กรพันธมิตร ได้วิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

1)นายจ้างจำนวนมากได้ประโยชน์จากกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 75 ที่เปิดโอกาสให้นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวได้โดยไม่ต้องจ่ายแรงให้ผู้ใช้แรงงานเต็มจำนวน บางกรณีมีการขอร้องให้ผู้ใช้แรงงานหยุดชั่วคราวในลักษณะสมัครใจเพื่อแลกเปลี่ยนกับการจ่ายค่าชดเชยให้แต่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เช่น จะจ่ายให้ร้อยละ 50 ของค่าแรง โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าไม่ช่วยกันโรงงานก็อยู่ไม่รอด ซึ่งวิธีการนี้เข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้ใช้แรงงานชัดเจน ดังปรากฏในกลุ่มยานยนต์ ภาคตะวันออกหลายบริษัท

2)สะท้อนพฤติกรรมนายจ้างที่ไม่เป็นธรรม เช่น การคัดผู้ใช้แรงงานออกโดยไม่ชี้แจงหลักเกณฑ์ให้ทราบ การเลิกจ้างพุ่งไปที่กรรมการลูกจ้างหรือกรรมการสหภาพ รวมทั้งโยกการผลิตไปสู่การับเหมาช่วงแทนเพราะเป็นกลุ่มไม่มีอำนาจต่อรอง

3)บางพื้นที่ผู้ใช้แรงงานไม่มีสหภาพแรงงาน ขาดความรู้ความเข้าใจในสิทธิที่ควรได้รับจากนายจ้าง เมื่อถูกเลิกจ้างก็ตกอยู่ในสภาพสูญเสียการต่อสู้เรียกร้องสิทธิอย่างสิ้นเชิง เมื่อเกิดข้อพิพาทกระบวนการทางศาลก็ยืดเยื้อยาวนานหลายปี จึงผู้ใช้แรงงานไม่อาจรับต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายได้ กลายเป็นผลดีต่อนายจ้างและอาจเป็นแรงจูงใจให้นายจ้างฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน

4)กระทรวงแรงงานหรือผู้เกี่ยวข้องมักละเลยหรือมองไม่เห็นค่อ การลดอำนาจในการต่อรองของสหภาพแรงงานลงโดยอ้างความชอบธรรมจากสภาวะเศรษฐกิจ เพื่อไม่ต้องปรับเพิ่มสวัสดิการให้ลูกจ้าง เช่น กรณีบริษัทผลิตยางกู๊ดเยียร์ บริษัทสยามมิชลิน เป็นต้น

5)กระทรวงแรงงานมักสนใจและยึดติดกับตัวเลขถูกเลิกจ้างในลักษณะมหภาคมากกว่าการพิจารณาการเลิกจ้างเป็นรายกรณี

แม้กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการรับมือวิกฤตเลิกจ้างและว่างงาน เช่น อนุมัติเงิน 5,200 ล้านเพื่อช่วยเหลือแรงงาน 3 กลุ่มหลัก คือ แรงงานผู้ถูกเลิกจ้าง แรงงานในชนบท และผู้จบการศึกษาใหม่ ผ่าน 3 มาตรการเพิ่ม คือ เพิ่มการจ้างงาน และตำแหน่งงาน เพิ่มทางเลือกประกอบอาชีพและเพิ่มฝีมือแรงงาน แต่ยังไม่เห็นรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง เนื่องจากมาตรการดังกล่าว เป็นเพียงระยะสั้นที่ดูหวือหวา ไม่ใช่มาตราการที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนแท้จริง รวมทั้งยังเข้าไม่ถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ

ข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหานี้ คสรท. ขอให้กระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่มีการเลิกจ้างและปิดกิจการว่าประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงวิธีเลิกจ้างเพื่อลดต้นทุนการผลิต ย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น และตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือชดเชยแก่ผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับค่าชดเชย จัดโครงการเงินกู้ยืมแก่ลูกจ้างเพื่อสร้างอาชีพใหม่ แก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้แรงงานที่มีอายุเกิน 55 ปีได้รับสิทธิประโยชน์

ส่วนระยะยาว รัฐต้องเร่งสร้างงานในชนบทที่ยั่งยืน จัดทำนโยบายกระจายรายได้สู่ชนบทในรูปแบบการสร้างอาชีพไม่ใช้อัดฉีดชั่วคราวเท่านั้น จัดตั้งสถาบันฝึกอบรมคนตกงานเพิ่มศักยภาพพร้อมกลับสู่ตลาดแรงงาน