Thai / English

NGOติงรัฐรับมือคนงานต่างด้าวถูกเลิกจ้าง

มูลนิธิชีวิตแรงงานฯ จี้รัฐรองรับแรงงานต่างด้าว 3ล้านคนตกงาน เหตุพิษเศรษฐกิจ อ.แม่สอดที่เดียวเลิกจ้าง 500คน นายจ้างยอมรับจำใจโละคนงานพม่า

20 .. 52
กรุงเทพธุรกิจ

นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวอยู่ประมาณ 3 ล้านคน เป็นชาวพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา แต่สภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ขณะนี้ ทำให้มีแนวโน้มว่าแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น แม้ยังไม่มีการสำรวจตัวเลขที่แน่นอน แต่มีการเก็บข้อมูลทางภาคเหนือ เช่น อ.แม่สอด ตาก พบเลิกจ้างแรงงานพม่าประมาณ 400 - 500 คนในเขตอุตสาหกรรม

ส่วน จ.สมุทรสาคร ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แรงงานพม่าถูกลอยแพจากธุรกิจเรือประมงจำนวนมาก เพราะเป็นแรงงานแบบเหมาจ้าง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกเรือได้ เพราะมีผลผลิตทางทะเลกลับมาน้อยจึงไม่คุ้มค่าออกเรือ และค่าแรงที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับคนงาน ทำเป็นแรงงานเหล่านี้ไม่มีงานทำ จึงหันไปรับจ้างทำงานกับนายจ้างรายอื่น

“ที่เป็นห่วง ถ้ามีการเปิดลงทะเบียนรับแรงงานต่างด้าวใหม่ จะเกิดการแย่งงานคนไทยนั้น ความจริงแล้วแรงงานต่างด้าวทำงานที่แรงงานไทยไม่อยากทำ เพราะรายได้น้อยและงานหนัก เช่น ประมง และห้องแช่แข็ง เป็นต้น ทำให้เจ้าของสถานประกอบการต้องใช้แรงงานต่างด้าวแทน เพราะค่าจ้างถูกกว่าแรงงานไทยมาก และไม่เกี่ยงงานที่ทำ” นายสมพงศ์ กล่าว

แหล่งข่าวจากศูนย์แรงงานพม่า เปิดเผยว่าทันทีถูกเลิกจ้างแรงงานต่างด้าวมักรีบไปรับงานอื่นทันที หรือไม่ก็มีนายจ้างจากที่อื่นมารับตัวไป ซึ่งปัญหาถูกเลิกจ้างที่พบตอนนี้มักอยู่ในแถบภาคกลาง โดยเฉพาะโรงงานที่ต้องอาศัยคนงานในการผลิตสินค้าจำนวนมาก อย่างที่เป็นกรณีในตอนนี้ คือ โรงงานทอผ้าในจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีคนของศูนย์ข้อมูลพม่าแจ้งว่าแรงงานพม่าถูกปลดออก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจแย่ลงทำให้การสั่งสินค้ามีจำนวนน้อยลง จึงทำให้นายจ้างใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการไล่คนงานต่างด้าวออกจากงาน

ขณะที่ ของกิจการร้านขายปุ๋ยแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ซึ่งมีลูกจ้างเป็นแรงงานพม่า เปิดเผยว่า สภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ทำให้มีรายได้น้อยลงจึงมีรานค้าบางแห่งต้องลดแรงงานตามไปด้วย และตนก็เป็นหนึ่งในร้านค้าที่มีการเลิกจ้างแรงงานพม่าด้วย แต่ก็ได้ให้การช่วยเหลือก่อนเลิกจ้างเช่นการให้ค่าจ้างและส่งกลับประเทศ หรือส่งไปทำงานกับคนอื่นที่ต้องการแรงงานพม่า ซึ่งรู้สึกเห็นใจแรงงานเหล่านั้น แต่จำเป็นต้องเลิกจ้างเพราะไม่มีทางเลือก