Thai / English

อบรมช่างไม้เสริมเขี้ยวเล็บอุตสาหกรรมไทย



16 .. 52
ผู้จัดการ

iTAP จับมือ มจพ. เปิดหลักสูตร “การตั้งใบมีดและการปรับตั้งเครื่องไสสี่หน้าสำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้” อบรมผู้ประกอบการไทย หวังฟื้นฟูศักยภาพฝีมือแรงงานสู้ตลาดต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญเปรย ช่างไทยยังขาดเทคนิคเบื้องต้น หวั่นวิชาช่างไม้สูญ เหตุทำงานตามความเคยชินจากรุ่นสู่รุ่นไม่บันทึกเป็นตำรา

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนถือว่ามีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทยอีกแขนงหนึ่งที่สามารถเรียก เม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาปีหนึ่งหลายพันล้านบาท แต่ปัจจุบันกำลังได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังตกต่ำ ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมไม้ไทยเองก็เติบโตช้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมและให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ ด้านความรู้เบื้องต้นการใช้เครื่องมือ ด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาหน้างานและการประหยัดพลังงาน

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมกับ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย จัดโครงการอบรม “การตั้งใบมีดและการปรับตั้งเครื่องไสสี่หน้าสำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้” ให้กับผู้ประกอบการไทย ภายใต้โครงการ “พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้”

นายสงกรานต์ บางศรัณย์ทิพย์ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไม้ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในฐานะ หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญของ มจพ. ภายใต้โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ กล่าวถึงการจัดอบรม “การตั้งใบมีดและการปรับตั้งเครื่องไสสี่หน้าสำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้” ว่า ผู้ประกอบการได้เรียกร้องให้จัดผู้เชี่ยวชาญมาอบรม หลังจากที่ 2 ปีก่อนหน้านี้ได้มีการจัดสัมมนาเชิงทฤษฎีให้กับผู้ประกอบการมาแล้ว ขณะที่ iTAP เองได้คำนึงถึงปัญหาฝีมือแรงงานและเทคนิคในการเตรียมงานไม้ เพราะยังขาดความรู้และความเข้าใจในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงาน อีกทั้งการขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้ความชำนาญด้านเทคนิค จึงจำเป็นต้องสรรหาตัวบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญมาพัฒนาด้านตัวบุคคลให้สถานประกอบการ เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านธุรกิจจนนำไปสู่การแข่งขันในอนาคต

“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไม้ไทยเติบโตมาจากครัวเรือน จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดรวบรวมเคล็ดวิชาไม้ออกมาเป็นตำราสอนอย่างจริงๆ ทำให้ความรู้ด้านนี้ยังเป็นความลับ อุตสาหกรรมไม้ในประเทศไทยจึงเติบโตช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ”นายสงกรานต์ กล่าว

หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญของ มจพ. ภายใต้โครงการ ฯ เปิดเผยอีกว่า เพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดโครงการ “พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้” โดยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาส่งเสริมความรู้และเทคนิคการผลิตให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไม้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก

การทำงานของ iTAP จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นทีมอุตสาหกรรม ทำหน้าที่บรรยายและรวบรวมองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั้งทางด้านเทคนิคการผลิตและเทคนิคทางวิศวกรรมสำหรับการผลิตเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ไม้มาเขียนเป็นตำราเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ประกอบการไปแล้ว 7 เล่ม

ส่วนที่ 2 คือ ฝ่ายเทคนิค มี นายสันทัด แสงกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมไม้ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษคณะวิศวกรรมไม้ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มายาวนานกว่า 30 ปี เข้ามาอบรมผู้ประกอบการ โดยมี นายจามร วสุรัตน์มณี อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไม้ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นผู้ช่วย

นายสันทัด แสงกุล กล่าวว่า การเปิดอบรมเป็นการปูพื้นฐานการทำงานใหม่ให้กับผู้ประกอบการ โดยยึดหลักง่ายๆ คือ พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ทรัพยากรไม้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อลดต้นทุนการผลิต

จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานทำให้ทราบว่าผู้ประกอบการเกิดการสูญเสียไม้ในขั้นตอนการไส ขัด ตัด เจาะ มากถึง 40% โดยมีสาเหตุมาจากการการขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานจะทำงานตามความเคยชินส่งผลให้สูญเสียด้านพลังงาน เม็ดเงิน และเสียเวลาในการทำงาน

“ผู้ประกอบการหรือพนักงานบางคนทำงานมากว่า 10 ปี แต่เมื่อพูดถึงพื้นฐานเบื้องต้นกลับมองภาพรวมไม่ออก เพราะเรียนรู้มาแต่ส่วนยอด โดยขาดพื้นฐานความเข้าใจเบื้องต้น การสอนจึงต้องเริ่มที่ปัจจัยหลักของการทำงาน คือ รู้จักใบมีด รู้จักหัวตัดรวมถึงการนำเทคนิคในการปรับเปลี่ยนองศาของใบมีดเพื่อให้เหมาะสมกับชิ้นงานที่จะผลิต โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องตัวใหม่ให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำป็น”นายสันทัด กล่าว

นายสันทัด เปิดเผยอีกว่า ความเข้าใจคุณสมบัติของใบมีดและหัวตัดเป็นหัวใจหลักต่อการทำงาน โดยเฉพาะการนำเทคนิคมาปรับใช้เพิ่มมุมการตั้งใบมีดจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 10% ฉะนั้นการพัฒนาตัวบุคลากรภายในสถานประกอบการจึงเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนา เมื่อเกิดความเข้าใจหลักการเบื้องต้นทั้งหมด ก้าวต่อไปคือการสร้างความสัมพันธ์ขององค์ความรู้แต่ละตัวให้เป็นหนึ่งเดียว จึงจะสามารถพัฒนาเครื่องและนำไปสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้

นายพิภพ แสนคำ หัวหน้าแผนกไสประสาน บริษัท วันเดอร์เวิร์ล โปรดักส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ จังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า บริษัทวันเดอร์เวิร์ล ฯ เป็นบริษัทผลิตของเล่นไม้จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ มีพนักงานฝ่ายผลิตประมาณ 360 คน โดยบริษัทมีนโยบายหลักในการพัฒนาศักยภาพการทำงานของพนักงานจึงได้ส่งตัวแทนเข้ามาอบรม ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เข้าร่วมโครงการอบรมกับ iTAP

“ยอมรับหลังจากได้เข้ามาอบรมและทดลองใช้เครื่องมือทำให้รู้ว่ากว่า 10 ปี ที่ทำงานมาความรู้พื้นฐานยังไม่แน่นพอ ทำให้ไม่รู้จักคุณลักษณะของใบมีดจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาหน้างานได้ เช่น มุมการตั้งใบมีดซึ่งเป็นสาเหตุในการสูญเสีย แต่หากรู้จักนำเทคนิคมาปรับใช้ก็จะสามารถช่วยบริษัทลดการสูญเสียวัตถุดิบและพลังงานได้ ” นายพิภพ กล่าว

หัวหน้าแผนกไสประสาน กล่าวอีกว่า การอบรมครั้งนี้ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าสามารถนำไปปรับใช้กับงานที่ทำอยู่ได้จริง โดยเฉพาะลดการสูญเสียเพราะที่ผ่านมาการสูญเสียมักเกิดจากเรื่องเล็กๆน้อยๆ ทำให้มองไม่เห็น แต่เมื่อนำเม็ดเงินมาร่วมกันจะรู้ว่าตัวเลขค่อนข้างสูง การอบรมครั้งนี้ เป็นการสะท้อนปัญหาการทำงานได้เป็นอย่างดี

ด้าน นายวิบูลย์ ภู่วิจิตร เจ้าของ หจก.ชัยพฤกษ์รุ่งเรือง จำหน่ายไม้แปรรูปและขึ้นโครงเฟอร์นิเจอร์ ตั้งอยู่ที่ซอยประชานฤมิตร (ถนนไสไม้) บางโพ กรุงเทพฯ กล่าวว่า โรงงานของเราเป็นเอส เอ็ม อี เล็กๆ มีพนักงาน 16 คน เมื่อได้รับการติดต่อจาก iTAP เรื่องการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำระบบงานไสไม้ ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจจึงได้ตอบตกลง โดยเมื่ออาจารย์สันทัด เข้ามาเยี่ยมโรงงานก็ได้ให้คำแนะนำและชี้ให้เห็นถึงปัญหาการผลิตว่าเกิดจากสาเหตุใด จึงได้ตัดสินใจเข้าอบรมเพื่อต้องการความรู้พื้นฐานเพิ่มเติม โดยเฉพาะเทคนิคการตั้งใบมีดที่ถูกต้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การทำงานนอกจากต้องการให้ชิ้นงานออกมาสวยและดีแล้ว งานต้องเร็ว ประหยัดกำลังคน ประหยัดค่าไฟฟ้า และสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง