Thai / English

แก้ไม่ถูกจุด แรงงานเตะฝุ่นยอดพุ่ง


จันทร์จิรา พึ่งวิริยะ
30 .. 52
โพสต์ทูเดย์

สัญญาณเตือนจากภาคอุตสาหกรรม ระบุ หลังสงกรานต์มีแนวโน้มเลิกจ้างแรงงานเพิ่มอีกกว่า 4 แสนคน ขณะที่แรงงานไร้งานในขณะนี้ก็ยังไม่สามารถหางานใหม่รองรับได้ ถือเป็นสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง

สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายต่อการแก้ปัญหาแรงงานตกงานของรัฐบาลกำลังเดินไปผิดทาง

สถานการณ์ด้านแรงงานในเวลานี้จัดว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว เพราะจำนวนแรงงานตกงานมีมาก ขณะเดียวกันแรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานก็เพิ่มเข้ามาทุกวัน แต่หางานทำไม่ได้ ตัวเลขด้านลบจึงเพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อน

ดังนั้น การแก้ปัญหาในเวลานี้ต้องใช้นโยบายที่เข้ามาช่วยรองรับแรงงานตกงานได้คราวละจำนวนมากๆ เพื่อลดทอนตัวเลขคนตกงานให้ได้มากที่สุดเท่าที่ จะทำได้

วิธีที่สามารถรองรับแรงงานตกงานได้คราวละจำนวนมาก ที่เหมาะในเวลานี้ รัฐบาลต้องเข้าไปประสานกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังต้องการแรงงานเพิ่ม ซึ่งยังมีความต้องการแรงงานเพิ่มในสัดส่วนที่มาก

เท่าที่มีการประกาศเจตจำนงออกมาในตอนนี้ก็มีไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นคน

การเลือกดำเนินนโยบายแบบฉายเดี่ยว เพื่อสร้างภาพของรัฐบาล ภายใต้โครงการ “ต้นกล้าอาชีพ” ในภาวะวิกฤตแบบนี้ ไม่ใช่ทางออกที่จะแก้ปัญหาในภาพรวมได้

แม้เป้าประสงค์หลักของโครงการ จะมีความตั้งใจดี มุ่งสร้างอาชีพให้ประชาชนที่ผ่านการอบรมได้ประกอบกิจการของตัวเอง ตลอดจนมองหาตำแหน่งว่างในวงราชการไว้รองรับอีกทาง

แต่ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ ขนาดหน่วยงานรัฐก็ยังเปิดโครงการให้ข้าราชการได้เกษียณอายุก่อนหมดวาระแล้วจะหาตำแหน่งว่างที่ไหนมารองรับ

ยิ่งความตั้งใจจะให้ผู้ผ่านการอบรมได้ไปประกอบกิจการเป็นของตัวเอง ยิ่งเป็นไปได้ยาก หรือถ้าเป็นเถ้าแก่ได้ แต่จะอยู่รอดหรือไม่ ยังเป็นปัญหา

ขณะที่ในภาวะเศรษฐกิจปกติ การจะเป็นเจ้าของกิจการหนึ่งได้ยังไม่ใช่เรื่องง่าย อาศัยฝีมืออย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมีเงินทุน มีสถานที่ มีปัจจัยแวดล้อมอีกสารพัด ที่ว่ามาทั้งหมดนี้รัฐมีนโยบายรองรับด้วยหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มี

อบรมจบไปมีการตามผลกี่มากน้อย ถ้ายังไม่สามารถประกอบอาชีพได้อีก จะช่วยเหลือหรือติดตามผลอย่างไร คำตอบก็ยังไม่มีเช่นกัน

เข้าทำนอง ตั้งใจดี แต่เลือกเดินไม่ ถูกทาง ไม่เข้ากับสถานการณ์ ผลลัพธ์ก็เป็นศูนย์

ฉะนั้น ใครที่ทำให้แรงงานตกงาน รัฐบาลต้องเดินเข้าไปคุย จะลุยเดี่ยว อวดเก่งอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะรัฐไม่ได้ ทำธุรกิจ ไม่สามารถเข้าไปรับช่วงจ้าง แรงงานที่ตกงานไว้ทั้งหมดได้

ต้องหาทางเข้าไปช่วยประคับประคองให้ภาคอุตสาหกรรมที่มีปัญหา จ้างงานต่อได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ลองมองหากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นที่ยังมีความ ต้องการรับแรงงานเพิ่ม เข้าไปเจรจาหาทางถ่ายโอนแรงงานระหว่างกัน

แรงงานส่วนที่เหลือ ไม่สามารถหาที่ลงให้ได้ ก็ต้องมาดูว่าควรจะเพิ่มทักษะด้านไหนให้ เพื่อปูทางให้กลุ่มที่ยังตกงานได้มีความสามารถตรงกับสายงานที่ขาดแคลน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ

ถ้ารัฐบาลจัดหลักสูตรอบรมให้สนองความต้องการของตลาดถูกจุด จะลดการสูญเสียทางงบประมาณได้มาก

ดีกว่าจัดหลักสูตรแบบหว่านแห ครอบคลุมไปทุกสาขาอาชีพ ทั้งที่ในหลายสาขาที่จัดอบรมไป จำนวนไม่น้อยจบการอบรมออกไปก็เจอทางตัน เพราะตลาดปิดตามภาวะเศรษฐกิจซบ เปลืองทั้งงบเสียทั้งเวลา

รัฐต้องใช้ข้อมูลจากภาคธุรกิจให้มาก ร่วมแก้ไขปัญหากับภาคเอกชน การขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาถึงจะเดินหน้าได้ตรงประเด็น เนื่องจากสถานการณ์ในเวลานี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องคัดสรรเฉพาะหลักสูตรที่มีโอกาสจะลดการตกงานได้เท่านั้น

เพราะถึงแม้รายไหนที่ผ่านการอบรมไปแล้ว ไม่ได้ไปเป็นเถ้าแก่ แต่นำทักษะที่ได้เรียนรู้ ได้ฝึกอบรมมา ไปสมัครงานต่อ โอกาสที่จะถูกจ้างก็มีเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งความหวังไว้มากกว่า

ก็หวังว่า ต้นกล้าอาชีพ รุ่นสอง คงจะได้เห็นภาพ การเชื่อมโยงแรงงาน ที่ผ่านการอบรมไปแล้ว ได้ไหลเข้าสู่ ระบบการจ้างงานที่แท้จริงอีกครั้ง ไม่ใช่แค่มีวิชาติดตัว แต่ก็ยังต้องตกงาน เหมือนเดิม