Thai / English

“ไพบูลย์ฟุตแวร์” บุรีรัมย์เลิกจ้างอีก 150 คน - ผู้ว่างงานแห่ยื่นร่วม “ต้นกล้าอาชีพ” อื้อ



25 .. 52
ผู้จัดการ

“ไพบูลย์ฟุตแวร์” โรงงานผลิตชิ้นส่วนรองเท้า สาขานางรอง จ.บุรีรัมย์ ปิดกิจการเลิกจ้างแรงงานอีกกว่า 150 คน อ้างถูกตัดออเดอร์ส่งออก พร้อมนัดจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานสิ้นเดือนนี้ ส่วนแรงงานที่ถูกเลิกจ้างแห่ลงทะเบียนขอรับเงินประกันการว่างงาน ขณะที่ผู้ว่างงานยื่นเข้าร่วมโครงการ “ต้นกล้าอาชีพ” ของรัฐบาลกว่า 660 คน

วันนี้ (24 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า บรรดาพนักงานลูกจ้าง ของ บริษัท ไพบูลย์ฟุตแวร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บชิ้นส่วนรองเท้ายี้ห้อไนกี้ สาขานางรอง ตั้งอยู่ภายในศูนย์ซีเบิร์ด ต.หนองโบส์ถ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกเลิกจ้างกว่า 150 คน ได้มาลงทะเบียนเป็นผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อนำหลักฐานไปยื่นขอรับเงินประกันการว่างงานกับสำนักงานประกันสังคม

นายนคร เขตรัมย์ หัวหน้าแผนกโรงงานตัดเย็บชิ้นส่วนรองเท้า บริษัท ไพบูลย์ฟุตแวร์ จำกัด กล่าวว่า โรงงานบริษัท ไพบูลย์ฟุตแวร์ จำกัด ได้ปิดกิจการเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างว่า ถูกตัดออเดอร์ส่งออก ทำให้แรงงานทั้งหมดกว่า 150 คนต้องตกงาน ขณะที่ทางบริษัทได้นัดให้แรงงานไปรับเงินชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง ในอัตราร้อยละ 25 ของอายุการทำงาน ในวันที่ 30 มี.ค.และ 10 เม.ย.นี้ แต่หากทางบริษัทไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้ กลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าวก็จะร่วมกันเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

บริษัท ไพบูลย์ฟุตแวร์ ตัดเย็บชิ้นส่วนรองเท้ายี่ห้อไนกี้ ส่งให้กับ บริษัท รามชู จ.ชลบุรี และได้เปิดกิจการมานานกว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งแรงงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด ขณะนี้ก็ยังไม่มีงานรองรับ เพียงแค่มาลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินประกันการว่างงานเท่านั้น จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้ความช่วยเหลือแรงงานดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนบรรยากาศการเปิดรับลงทะเบียนเข้าฝึกทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้น ใน “โครงการต้นกล้าอาชีพ” ตามนโยบายของรัฐบาลในวันสุดท้ายที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีแรงงานที่ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้าง และนักศึกษาจบใหม่ สนใจมาลงทะเบียนเข้าฝึกอาชีพในโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่เริ่มเปิดรับสมัคร ในวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ได้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 660 คน

โดยส่วนใหญ่สนใจเข้าฝึกอบรมหลักสูตรคอมพิวเตอร์ ช่างซ่อม และหลักสูตรนวดแผนไทย เพื่อนำความรู้ ประสบการณ์ และทักษะฝีมือจากการฝึกอบรมไปประกอบอาชีพตามความถนัด โดยระหว่างการฝึกผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ยังจะได้รับเบี้ยเลี้ยงรายละ 200 บาทต่อวัน และค่าเดินทางเหมาจ่ายอีกเดือนละ 1,000 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ว่างงานดังกล่าวด้วย

นายสุทธิ สุโกศล จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังปิดรับลงทะเบียนแล้วทางสำนักงานจัดหางานจังหวัด จะรวบรวมข้อมูลรายชื่อผู้ที่มาลงทะเบียนทั้งหมด ส่งไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาคัดเลือกอีกครั้ง จากนั้นจะมีการติดประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าฝึกอบรมในโครงการดังกล่าวในวันที่ 26 มี.ค.นี้