Thai / English

ผู้นำปลุกลูกจ้างป้องสิทธิใส่ใจการเมือง

"วิไลวรรณ"ปลุกลูกจ้างมีส่วนร่วมการเมืองมากขึ้น แก้จุดอ่อนข้อมูลข่าวสาร "ดร.แล" ชี้ กม.แรงงานไม่เป็นธรรม "สาวิทย์"ระบุใช้สิทธิสู้นอกสภาได้

18 .. 52
กรุงเทพธุรกิจ

เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2552 ที่โรงแรมอีสติน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนา “เสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งทางการเมืองของผู้ใช้แรงงาน”

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธาน คสรท. กล่าวว่า แรงงานทั้งในและนอกระบบเวลานี้มีมากกว่า 35 ล้านคน และส่วนใหญ่ขาดโอกาสทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกหรือการเป็นตัวแทนทางการเมือง ไม่มีกลุ่มแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วม จึงทำให้นโยบายของรัฐไม่สามารถใช้ได้จริงกับผู้ใช้แรงงาน จึงอยากให้ผู้ใช้แรงงานเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง หรือการมีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของรัฐ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้เพราะยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งข้อมูล

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า การเพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ใช้แรงงานในด้านการมืองนั้น ต้องเริ่มจากการให้ความรู้ในทุกด้านที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง สิทธิ หน้าที่ของตัวเองลำดับแรก และต้องมีการแก้กฎหมายการเลือกตั้ง เพราะทุกวันนี้กลุ่มผู้ใช้แรงงานไม่มีโอกาสเลือก ส.ส.ในพื้นที่ที่ตนทำงาน ต้องกลับไปลงคะแนนในภูมิลำเนา จึงทำให้ไม่ได้ตัวแทนที่เข้าใจปัญหาของกลุ่มแรงงานอย่างแท้จริง

นายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าววว่า ครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นอีกครั้งของการสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มแรงงานและองค์กรภาคประชาชนสามารถอยู่บนเวทีการเมือง ส่งเสริมการมีคุณธรรมในการเมืองทุกระดับและสร้างค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสม

นายสุจิต กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะเริ่มต้นกับผู้ใช้แรงงานก่อนเนื่องจากสามารถใช้เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน เพราะเป็นองค์กรที่มีพื้นที่และการร่วมกลุ่มที่ชัดเจน จึงสามารถเข้าไปดูแลและทำการรณรงค์ได้ง่าย แต่ภาคประชาชนกลุ่มอื่นๆ นั้นยังทำได้ยากเพราะมีการรวมกลุ่มน้อยกว่าและมีขอบข่ายที่ค่อนข้างกว้างทำให้ยากต่อการสร้างความร่วมมือ โดยต่อไปจะเน้นไปยังกลุ่มรัฐวิสาหกิจ เพราะมีกระบวนการทำงานที่มีรูปแบบและเป็นกลุ่มองค์กร และจะขยายสู่ทุกกลุ่มในสังคมต่อไป

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การออกกฎหมายแรงงานทุกวันนี้ออกมาเพื่อคุมคนงานให้อยู่ในที่ที่เขาคิดว่าควรอยู่ และสามารถควบคุมได้ง่าย จึงทำให้การรวมตัวของผู้ใช้แรงงานกลายเป็นคดีอาชญากรรม และมักถูกกลุ่มนายทุนต่อต้าน เคยมีความพยายามที่ส่งตัวแทนของกลุ่มแรงงานเข้าไปอยู่ในพรรคการเมือง เพื่อเป็นตัวกลางในการต่อรองเจรจา แต่ก็ไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพราะเวลาที่ลงไปอยู่ในพรรคการเมืองเราไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะต้องคอยเกรงใจนายทุนของพรรคการเมืองนั้นนั้น ทางออกที่สามารถทำได้ด้วยกำลังของเราเองคือ การเปิดเวทีเพื่อใช้เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นและศักยภาพของกลุ่มแรงงาน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) กล่าวว่า ขณะนี้วงการแรงงานก็คิดที่จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อมีส่วนในการกำหนดนโยบายโดยเฉพาะด้านแรงงาน ไม่ให้เสียเปรียบคนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะพวกนายทุนที่เอาเปรียบ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

"แต่ในเมื่อขบวนการแรงงานยังไม่เข้มแข็ง ยังไม่มีการรวมตัวประสานกันก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ทำได้เพียงอย่างเดียวคือการต่อสู้นอกสภา แต่ก็ถือว่ายังได้สู้ตามสิทธิที่มีอยู่ได้ดีเช่นกัน" นายสาวิทย์ กล่าว