Thai / English

34องค์กรแรงงานตั้งศูนย์รับร้องทุกข์ช่วยตกงาน



21 .. 52
กรุงเทพธุรกิจ

34องค์กรแรงงาน ผนึกจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ช่วยคนตกงาน ด้านกฎหมาย-สิทธิประโยชน์ หลังพบแนวโน้มปี 52 จะมีคนงานถูกเลิกจ้างกว่า 2 ล้าน

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่โรงแรมบางกอกพาเลช เครือข่ายองค์กรเพื่อผู้ใช้แรงงานกว่า 34 องค์กร นำโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงาน เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งในด้านกฎหมายและสิทธิประโยชน์ผ่านทางศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์กว่า 21 ศูนย์ทั่วประเทศ

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกขณะนี้ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยเป็นอย่างมาก โรงงานปิดกิจการไปแล้ว 597 แห่ง แรงงาน ถูกเลิกจ้างไปแล้ว 50,000 คนและคาดว่าในปี 52 จะมีแรงงานจะถูกเลิกจ้างเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 2,000,000 คน ดังนั้น คสรท. และเครือข่ายองค์กรผู้ใช้แรงงาน 34 องค์กร จึงได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จำนวน 21 ศูนย์ ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือให้แรงงานได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงาน สิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคม โดยศูนย์ดังกล่าวจะมีผู้ให้คำแนะนำและตรวจสอบว่าสถานประกอบการสมควรเลิกจ้างหรือจะดำเนินมาตรการปิดงานชั่วคราวตามกฎหมายแรงงานมาตรา 75 หรือไม่

หลังจากนั้นจะส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบอีกครั้ง อย่างไรก็ตามขณะนี้การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเป็นเพียงนโยบายเท่านั้น รูปธรรมยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นเครือข่ายองค์กรแรงงานต้องทำงานเชิงรุก โดยจะรวบรวมข้อมูล ปัญหาของแรงงานที่ได้จากพื้นที่พร้อมประสานไปยังรัฐบาลเพื่อเร่งแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง ทันเวลา

"เราต้องทำงานเชิงรุกและเป็นส่วนหนึ่งในกลไกที่ช่วยรวบรวมข้อมูลให้รัฐ และคาดว่า ภายใน 2 เดือนน่าจะมีข้อมูลที่เสนอต่อรัฐได้ สำหรับนโยบายของรัฐนั้นถ้าพูดแล้วต้องปฏิบัติได้ไม่ใช่แจกเงินแล้วจบ รัฐสมควรตรวจสอบว่าโรงงานไหนประสบปัญหาจริงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายแห่งฉวยโอกาสในภาวะวิกฤตนี้ปรับเปลี่ยนและปลดแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และบางแห่งยังฉวยโอกาสในการใช้มาตรา 75 จ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานร้อยละ 75 ของค่าจ้างแต่บางคนก็จ่ายแค่เพียงร้อยละ 50 นอกจากนี้นายจ้างหลายรายกดดันให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก เพราะต้องการจ่ายเงินค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเป็นระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น" น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

นายชาลี ลอยสูง ประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 52 นี้เครือข่ายองค์กรแรงงานจะเดินหน้าสนับสนุนให้มีการตั้งสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 19 สหภาพ ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และ จะตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานในการให้ข่าวสาร ความรู้ในด้านกฎหมายแก่แรงงานที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง รวมถึงการช่วยเหลือแรงงงานที่ว่างงานและถูกปลดให้สามารถกลับเข้าทำงานในสหภาพที่ตนเข้าร่วมได้ โดยศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จะทำหน้าที่เสมือนกระจกที่สะท้อนการทำงานไปยังกระทรวงแรงงานและรัฐบาล

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์ยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาและปี 52 นี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบรถยนต์มีปัญหาอย่างหนัก และมีนายจ้างหลายแห่งฉวยโอกาสลดการทำงานและการปรับลดโบนัส รวมทั้งมีการใช้มาตรา 75 ซึ่งมีพนักงานรับเหมาช่วงหรือซับคอนแทคได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะถูกเอาเปรียบและมัดมือฉกจากนายจ้างอีกทั้งพวกเขาไม่สามารถที่จะเข้าสหภาพแรงงานได้จึงส่งผลให้มีการชุมนุมเรียกร้องและปิดเส้นทางจราจรในที่สุด ดังนั้นรัฐบาลควรจะดูแลและช่วยเหลือแรงงานอย่างจริงจัง

นางสุจิน รุ่งสว่าง เครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบกว่า 23 ล้านคนได้รับผลกระทบจากดังกล่าว เพราะไม่มีออร์เดอร์ ไม่มีงานทำส่งผลให้ขาดรายได้ ซึ่งปัจจุบันการช่วยเหลือของรัฐยังไม่ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ ดังนั้นรัฐจึงควรควบคุมราคาสินค้าในตลาดเพราะสามารถที่จะช่วยเหลือได้ทั่วถึงกว่าการที่รัฐบาลช่วยเหลือแรงงานในระบบโดยการให้เงินจำนวน 2000 บาท ทั้งนี้หากรัฐบาลต้องการอยู่ให้นานครบเทอม 4 ปี ก็สมควรที่จะดูแลแรงงานให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จะมีครบเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ

คณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย 02-654-7688

สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย 02-225-2166

สหพันธ์แรงงานสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย 02-427-6967

สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต 081-570-3287

สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย 02-709-1792 สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย 02-709-1792

กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก 038-337-523

กลุ่มผู้ใช้แรงงานย่ายอยุธยาและไกล้เคียง 081-586-4232

เครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ 02-915-0488

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ 02-171-5135

เป็นต้น