Thai / English

รายงาน: มุมมองต่อโครงการการช่วยเหลือค่าครองชีพแรงงานและบุคลากรภาครัฐ



15 .. 52
ประชาไท

15 ม.ค. 52 – ประชาไทขอนำเสนอรายงาน “มุมมองต่อโครงการการช่วยเหลือค่าครองชีพแรงงานและบุคลากรภาครัฐ” ซึ่งเป็นภาพสะท้อนต่อนโยบาย “แจกเงิน 2,000 บาท” ให้กับแรงงานในระบบและข้าราชการของรัฐบาล “แรงงาน – ภาคประชาชน” ชี้ รัฐบาลแก้ไม่ตรงจุดละเลยแรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นคนตกงาน แรงงานนอกระบบ “นักวิชาการ” ถล่มซ้ำ สร้างภาพ ไม่ยั่งยืน และเป็นการใช้งบหาเสียงมากเกินไป

งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 “เดินหน้าประชานิยม” [1]

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวน 115,000,000,000 บาท และอนุมัติในหลักการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 พ.ศ. .... เป็นเรื่องเร่งด่วนและแจ้งผลการพิจารณาให้สำนักงบประมาณทราบโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงบประมาณจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติและเอกสารงบประมาณเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 20 มกราคม 2552 เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จะประกอบด้วย

1. งบประมาณรายจ่ายเพื่อดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 95,860.5237 ล้านบาท

2. งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 19,139.4763 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 115,000 ล้านบาท โดยมีแหล่งเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่าย เพิ่มเติม ดังนี้

(1) เงินกู้เพื่อการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 95,860.5237 ล้านบาท

(2) ภาษีและรายได้อื่น จำนวน 19,139.4763 ล้านบาท

ทั้งนี้ วงเงินสูงสุดที่รัฐบาลกู้ได้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ตามนัยบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 21 จะมีจำนวนรวม 417,940.9 ล้านบาท แต่ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลไปแล้ว จำนวน 249,500 ล้านบาท ดังนั้น จึงยังมีวงเงินกู้ที่สามารถกู้เพิ่มเติมเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกจำนวน 168,440.9 ล้านบาท และเนื่องจากเงินกู้มิใช่เป็นรายได้ที่จะนำมาตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จึงกำหนดแหล่งที่มาของรายได้จากภาษีและรายได้อื่น ดังกล่าว

เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางและวิธีการของระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ และสอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 สำนักงบประมาณได้กำหนดโครงสร้างแผนงานตามยุทธศาสตร์เพื่อประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ดังนี้

ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 2 แผนงาน คือ

(1) แผนงานฟื้นฟูและเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ

(2) แผนงานเสริมสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านสังคม

การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำแนกตามแผนงาน-โครงการ/รายการ และกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์

ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.prachatai.com/05web/th/home/15239

“โครงการการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ” : อุดหนุนแรงงานในระบบและข้าราชการ

จากนั้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่กระทรวงแรงงานได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 13 มกราคม 2552 และเห็นชอบให้ใช้งบกลางปี 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวน 8,138,815 คน และข้าราชการ ลูกจ้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล จำนวน 1,476,623 คน ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 14,999 บาทต่อเดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพรายละ 2,000 บาท โดยมีงบทั้งหมดจำนวน 115,000 ล้านบาท ส่วนที่ 1 คือ โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ งบประมาณรายจ่ายจำนวน 18,970.4 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐดังกล่าว โดยยืนยันว่าเป็นจ่ายเหมาคราวเดียวในรอบมาตรการ 6 เดือน

และส่วนที่ 2 คือ โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ในชุมชนวงเงิน 6,900 ล้านบาท ทั้งสองส่วนนี้จะเบิกจ่ายได้ทันทีหากมีการอนุมัติเบิกจ่ายงบกลางปี โดยจะตัดบัญชีรายชื่อผู้ประกันตนให้ในวันที่ 13 มกราคม 2552 หรือวันอื่นใดแต่ไม่น่าจะเกินสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยทั้งสองส่วนและโครงการย่อยๆ อื่นๆ อีก รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 115,000 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวด้วยว่าไม่ได้นำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาใช้แต่อย่างใด แต่นำมาจากงบประมาณเพิ่มเติมของรัฐบาลเป็นผู้ประชุมพิจารณา แต่หากไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายนี้จะต้องชี้แจงเหตุผลให้ตนได้รับทราบด้วย

ทัศนะจาก “แรงงาน – ภาคประชาชน” : รัฐบาลละเลยแรงงานส่วนใหญ่

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ยังคิดไม่ออกว่าให้เงินมาแล้วจะไปใช้จ่ายอะไรได้บ้าง อาจจะลดภาระได้บ้างนิดหน่อย เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นมาก อยากให้รัฐบาลมองการแก้ปัญหาระยะยาวมากกว่า ส่วนการลดเงินสมทบที่ สปส.เสนอ ต้องคิดให้ดีกว่าจะกระทบกับกองทุนชราภาพในอนาคตหรือไม่ นอกจากนี้ รัฐบาลควรขยายความช่วยเหลือให้ลูกจ้างนอกระบบ สปส.ที่ยากจนด้วย [2]

กัลยา สุริยะมณี ประธานสหภาพแรงงานยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ให้ความเห็นว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ โดยได้ตั้งข้อสงสัยว่าแรงงานที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายนี้จะได้รับเงินถึงมือถ้วนหน้าจริงๆ หรือเปล่า จะมีการซิกแซกหรือไม่ และแรงงานที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายนี้ก็มีปริมาณมากและมีความเดือดร้อนกว่ารัฐก็ไม่ควรละเลย โดยกัลยากล่าวถึงเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามก็คือความเสมอภาคและการเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนไม่ตรงจุด

“ถ้าคนหนึ่งได้ แต่อีกคนไม่ได้อาจจะมีปัญหาตามมาก็ได้” กัลยากล่าว

นางประทิน เวคะวากยานนท์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า คนที่อยู่ในชุมชนแออัด คนที่ทำงานอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 23 ล้านคน หรืออาจมากกว่านั้นยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ และมีคนจำนวนไม่น้อยเป็นลูกจ้างเหมาของหน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อะไร [3]

สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิเพื่อนหญิงและชมรมเพื่อนเพื่อเพื่อนในเขตนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน ให้ความเห็นว่าในส่วนตนแล้วไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เช่นประเด็นตั้งฐานเงินเดือนของคนที่จะได้รับสิทธิจากนโยบายนี้ที่สูงเกินไป (14,999 บาทต่อเดือน) เพราะกลุ่มคนที่มีเงินเดือนเท่านั้นและมีประกันสังคมด้วยไม่ใช่เป็นกลุ่มที่เดือดร้อนมากที่สุด ทั้งนี้อาจจะลดฐานเงินเดือนต่ำลงมากว่าหลักหมื่นแล้วขยายการช่วยเหลือคนให้ครอบคลุมมากกว่าเดิมช่วยเยียวยาด้วยนโยบายที่มีเนื้อมีหนังมากกว่านี้ จะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

ในส่วนภาพรวมของนโยบายนั้น สุชาติกล่าวว่าเป็นการตำพริกละลายแม่น้ำ เพราะแรงงานที่ได้รับผลกระทบจริงๆ อย่างส่วนของแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมคือกลุ่มของแรงงานที่ถูกลดโอที และถูกเลือกจ้าง

“สถานการณ์ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูนตอนนี้ถูกทยอยปลดไปบางส่วนแล้ว นอกจากนี้คนงานในนิคมส่วนใหญ่ถูกลดโอที ซึ่งทำให้รายได้หลักหายไปกว่าครึ่ง นโยบายระยะสั้น ด้วยเงินเพียง 2,000 บาท แทบที่จะไม่ได้ช่วยอะไรเลย ทั้งคนที่ถูกเลิกจ้างและคนที่ถูกลดโอที”

นายเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ความเห็นว่าเป็นนโยบายที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่ถูกจุดที่คับแคบ และคลุมเครือไม่แยกแยะกลุ่มคนที่แย่จริงๆ จนไม่มีหลักประกันอะไรเลยให้ชัดเจน อาจจะเป็นให้ประโยชน์เพียงกับกลุ่มคนชั้นกลางระดับต่ำที่มีฐานเงินเดือนไม่ถึงหนึ่งหมื่นห้าพันบาทและต้องมีการทำประกันตนด้วยมากกว่า ก็ควรให้พวกเขาได้ประโยชน์ มีส่วนร่วมในการจัดการมิฉะนั้นจะเกิดช่องทางให้มีการคอรัปชั่นได้ง่ายหรือฉ้อฉลให้เฉพาะพรรคพวกตนเอง

“นโยบายนี้รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนตกงาน คนงานที่มีรายได้ต่ำมากๆ ซึ่งอาจจะไม่มีประกันตนด้วย และ ปัจจุบันนั้นแรงงานนอกระบบมีจำนวนประมาณ 20 กว่าล้านคนจะไม่ได้รับประโยชน์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนทั้งในเมืองและชนบท ทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด เพราะไม่ได้ทำประกันตนด้วย และที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายประชานิยมเพราะพวกเขาได้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม แต่นโยบายชิ้นนี้จะมองว่าเป็นประชานิยมหรือการโฆษณาแว๊บเดียวแล้วหายไป คำตอบของคำถามนี้คงอยู่ในใจทุกคนอยู่แล้ว”

“ประชาธิปัตย์เองเคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก่อนหน้านั้นไว้มาก โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชานิยม’ แต่จังหวะของการใช้ประชานิยมอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรคทำในตอนที่คนจนไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล, กองทุนหมู่บ้านที่ทำในตอนที่คนจนไม่มีแหล่งสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ หรือ 6 เดือน 6 มาตรการ ในช่วงน้ำมันแพง ข้าวของแพง นโยบายเหล่านี้ถึงแม้จะไม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแต่ยังพอเลือกจังหวะเวลาได้ถูกต้อง แต่การให้เงิน 2,000 แก่กลุ่มคนที่มีความมั่นคงอยู่แล้ว (มีประกันสังคม, ข้าราชการ) เป็นการใช้จังหวะ เวลา และกลุ่มเป้าหมายผิดพลาด เพราะวิกฤตที่เรากำลังเจอครั้งนี้เป็นปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นในการลงทุนที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน อันเป็นลักษณะที่เลวร้ายของทุนนิยม ดังนั้นคนว่างงานกับแรงงานนอกระบบจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ยิ่งถ้าละเลยการเยียวยากลุ่มนี้ไป ความขัดแย้งในสังคมจะมีสูงขึ้น คุณก็รู้ว่าแรงงานนอกระบบคือฐานเสียงสีแดง ถ้ามีการจุดประเด็นการละทิ้งคนเหล่านี้ยิ่งจะเป็นปัญหาใหญ่”

เจษฎาให้ความเห็นต่อว่า อย่างไรก็ตามเงินเพียง 2000 บาท ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวหรือปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ควรชัดเจน เช่น รัฐต้องมีนโยบายกระจายการถือครองที่ดินรองรับผู้ที่ต้องการกลับไปเป็นเกษตรกรแต่ไม่มีที่ดินทำการกิน แก้ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกร สนับสนุนระบบสหกรณ์ ให้การสนับสนุนกองทุนหรือเข้าควบคุมกิจการที่ล้มโดยให้คนงานรวมกลุ่มมีส่วนร่วมทำการผลิตเป็นเจ้าของร่วมประกอบการในโรงงานมิใช่ตั้งกองทุนช่วยเหลือแก่เจ้าของกิจการ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วที่สำคัญ สังคมไทยควรผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม มีการกระจายรายได้มิใช่กระจุกอย่างที่เป็นอยู่ โดยมีมาตรการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีรายได้ ภาษีมรดก ภาษีรถยนต์ ภาษีสิ่งฟุ่มเฟือยที่ไม่ใช่เหล้าบุหรี่ และอื่นๆ เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม สร้างหลักประกันพื้นฐานให้กับคนในสังคม เพราะประเทศเรามิใช่ประเทศยากจน เพียงแต่คนส่วนน้อยนิดครอบครองทรัพยากรความมั่งคั่งไม่กระจายให้คนส่วนใหญ่ มากกว่า

จรรยา ยิ้มประเสริฐ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่าเป็นนโยบายที่ฉาบฉวยไม่มีความยั่งยืน และหากถึงแม้ว่าไม่ได้เงินจาก สปส. มาใช้ แต่ก็ยังเป็นเงินที่รัฐนำมาจากภาษีของทุกคน เราทุกคนควรตระหนักถึงปัญหานี้ด้วยเพราะทุกคนมีส่วนนำเงินตรงนี้ไปใช้

“รัฐบาลควรส่งเสริมด้านความยั่งยืนของเศรษฐกิจทางเลือกที่ให้ประโยชน์แก่คนจนและแรงงาน การสร้างตลาดบริโภคภายในประเทศที่เป็นธรรม การอุดหนุนกิจการที่คนงานก่อตั้งและเป็นหุ้นส่วนเอง และการเชื่อมภาคเกษตรกับแรงงานในเรื่องของราคาสินค้าเพื่อการดำรงชีพ”

จรรยากล่าวเสริมว่าสิ่งที่รัฐบาลควรกระทำเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตในปัจจุบัน ให้เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนนั้นอาจจะกระทำได้ด้วยวิธีการเช่น ตั้งธนาคาร “เพื่อคนงานและการสร้างอาชีพ” ที่เปิดให้สมาชิกสำนักงานประกันสังคมกู้ยืมประกอบอาชีพ โดยใช้เงินจากเงินกองทุนประกันสังคมกว่า 4 แสนล้าน, การตรึงราคาสินค้า และเปิดตลาดกลางสินค้าตรง “จากเกษตรกรสู่นิคมอุตสาหกรรม” ในทุกย่านอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อช่วยเกษตรกรได้ระบายสินค้า และช่วยให้คนงานซื้อสินค้าในราคาที่ยุติธรรม

เปิดโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนตกงานในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะคนงานส่วนใหญ่ต้องเช่าห้องพักหรือบ้านพัก ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง เมื่อตกงานจึงไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า รัฐต้องมีมาตรการ “สร้างบ้านเงินผ่อนหรือบ้านเช่าราคาถูกให้คนงานอยู่” โดยเฉพาะตามย่านนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ และ รัฐต้องแปลงที่ดินสาธารณะทั้งหลายเป็นสวนครัว โดยเฉพาะการนิคมแห่งประเทศไทยจะต้องจัดสรรที่สาธารณะหรือที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทั้งหลายให้กับกลุ่มคนงาน ใช้ปลูกพืชผักสวนครัว โดยจัดระบบน้ำเพื่อการเกษตรให้ ทั้งนี้การทำสวนครัวไม่ใช่เพื่อการแก้ปัญหาค่าครองชีพ และทำให้คนงานได้อาหารปลอดสารพิษทานเท่านั้น แต่มันยังสามารถช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจคนงานในสภาวะที่ตึงเครียดทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ทัศนะจาก “นักวิชาการ” : นโยบายฉาบฉวย สร้างภาพ

รศ.ดร. แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมาตรการการช่วยเหลือมนุษย์เงินเดือนที่เป็นสมาชิกประกันสังคม (สปส.) และบุคลากรภาครัฐ จำนวน 2,000 บาทต่อคน ว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลจะให้เงินจำนวน 2,000 บาท เพื่อลดภาระในการครองชีพในปัจจุบัน แต่คงไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก เพราะการให้เงินเพียงงวดเดียวเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ควรทำให้เป็นโครงการต่อเนื่องจะมีประโยชน์ต่อผู้ประกันตนมากกว่า

รศ.ดร. แล เห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นการสร้างภาพในการทำงานให้กับรัฐบาลมากกว่าแก้ปัญหา เช่นเดียวกับการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมร้อยละ 1.5 ทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นการช่วยเหลือระยะสั้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียเพราะเป็นการลดเงินชราภาพ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนในอนาคตมากกว่า ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเสริมส่วนที่มีการลดลงไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อเงินในกองทุน

"รัฐบาลควรดูผู้ประกันตนที่เกิดผลขึ้นแล้วจริงๆ อาทิเช่น ผู้ถูกเลิกจ้างไปแล้ว โดยเฉพาะลูกจ้างระบบซับคอนแทรคท์ ที่ไม่ได้รับทั้งสวัสดิการและสิทธิต่างๆ ที่เท่าเทียมกับลูกจ้างในระบบ รัฐบาลควรที่จะร่วมมือกับทางนายจ้างลูกจ้างหรือหน่วยงานเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และหาแนวทางป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น" รศ.ดร.แล กล่าว [4]

ทางด้าน รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การให้เงินจำนวน 2,000 บาทต่อคน คิดแล้วเหมือนว่าได้เงินเดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นคนละน้อยนิดไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้นเป็นการใช้เงินแบบสูญเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

"เงินจำนวนเกือบ 20,000 ล้านบาท จะหายไปเลยไม่ช่วยลดภาระให้กับลูกจ้างมากนักเป็นเงินที่สูญเปล่าไร้สาระ"

รศ.ดร.ณรงค์ เขาเห็นว่ารัฐบาลควรจะนำเงินกองทุนประกันสังคม หรือเงินกองคลังจำนวนกว่า 40,000 ล้านบาทนำสมทบกับเงินที่อนุมัติให้กู้ไปแล้วจำนวน 10,000 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท นำมาจัดตั้งกองทุน เพื่อให้ลูกจ้างกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นประโยชน์กับลูกจ้างและประเทศมากกว่า ดีกว่าเสียเงินจำนวน 18,000 ล้านบาทไปฟรีๆ [5]

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าการให้เงินจำนวน 2,000 บาทครั้งเดียว เป็นการไม่ต่อเนื่องและไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นประชานิยมที่ไม่มีเนื้อหาสาระ เป็นการทำเพื่อประชาสงเคราะห์แต่ไม่ยุติธรรมกับทุกกลุ่มเป้าหมาย อาทิเช่น ชาวไร่ ชาวนา คนจนเมือง คนจนชนบท คนสลัม แรงงานอกระบบ ไม่ได้รับการช่วยเหลือดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรจะคิดให้ลึกกว่านี้ เงิน 2,000 บาท ในยุควิกฤติเช่นนี้ใช้แค่เพียงระยะเวลาไม่กี่วันหมดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทบต่อระบบภาษีเงินกองคลังของประเทศ และเป็นภาระที่รัฐบาลจะต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มชดเชย ถ้าจะช่วยก็ต้องช่วยอย่างต่อเนื่อง เพราะวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายเดือน

"จากการวิจัยของผมพบว่า คนงานที่เข้ามาทำงานในภาคกลางส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด ซึ่งหากถูกเลิกจ้างก็จะกลับชนบทเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น บางคนก็ไม่กลับ และส่วนใหญ่ก็ไม่หวังที่จะทำงานในโรงงานตลอดไป โดยต้องการที่จะประกอบอาชีพอิสระเป็นเจ้าของกิจการ

ดังนั้น รัฐบาลจะช่วยเหลือคนงานก็ควรที่จะช่วยเหลือโดยเอื้ออำนวยตรงตามความต้องการ อาจจะจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อจัดฝึกอบรม ฝึกอาชีพอิสระ หรือสนับสนุนเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำในการประกอบการชีพ เป็นต้น แทนที่จะไปทำอย่างนี้ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำประชานิยม หาเสียงชัดๆ" รศ.ดร.วรวิทย์กล่าว [6]

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เท่าที่พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณกลางปี 2552 พบว่า มีทั้งในส่วนที่คุ้มค่า ได้แก่ การกระตุ้นการลงทุน การสร้างงาน แต่ยังมีส่วนที่ไม่คุ้มค่า เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณมีลักษณะเน้นการหาเสียงทางการเมืองเกินไป และเป็นลักษณะการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ โดยเฉพาะการแจกค่าครองชีพรายละ 2,000 บาท เนื่องจากบุคคลที่ได้รับจะมีรายได้ไม่เกิน 14,999 บาทต่อเดือน ถือเป็นผู้มีรายได้ประจำ และไม่น่าเป็นผู้รับความเดือดร้อนมาก อีกทั้งการให้เงินเพียงครั้งเดียว ในทางปฏิบัติคนกลุ่มนี้คงไม่นำเงินที่ได้ไปใช้จ่าย ส่วนใหญ่คงเก็บเอาไว้ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตจริงๆ คือกลุ่มที่อยู่นอกระบบ หรืออยู่นอกเกณฑ์ดังกล่าว กลับไม่ได้รับประโยชน์จากตรงนี้

"แผนงานที่ออกมา หากมองในรายละเอียดจะพบว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ เพราะกว่าเม็ดเงินจะออกก็จะเป็นในช่วงเดือนเมษายน ขณะที่ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุด กลับยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมา ดังนั้น รัฐบาลควรมีการวางแผนใหม่ โดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้" นายนิพนธ์กล่าว และว่า มองว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการขณะนี้ยังไม่ตรงเป้า และชี้ให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลมีจุดอ่อนในเรื่องเศรษฐกิจมหภาค เพราะในทางปฏิบัติการกระตุ้นเศรษฐกิจสามารถทำได้มากกว่านี้ เช่น การสร้างตลาดบริโภคภายในประเทศ นอกเหนือจากเพียงแค่นโยบายกระตุ้นหน่วยงานรัฐเร่งจัดสัมมนาภายในประเทศเพียงอย่างเดียว [7]

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้วิเคราะห์และวิจารณ์เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบกลางปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมาดังนี้

“เห็นแล้วอึ้ง ไม่นึกว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณออกมาเป็นเช่นนี้ ตามที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า งบจะมี 2 ลักษณะ คือ การสร้างงาน และแจกเงิน จะหวัง ให้สร้างงาน 100% อย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีการแจกเงินหาเสียงบ้าง แต่ไม่คิดว่าจะเป็นงบหาเสียงมากเช่นนี้ โดยเฉพาะที่แจกคนละ 2,000 บาท 9 ล้านคน หนเดียว”

“ผมนึกไม่ออก ทำไมคิดได้แค่นี้ ไม่อยากจะบอกว่าจบจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด หรือเคมบริดจ์จะคิดได้เท่านี้ งงที่สุด เพราะงบ 1.8 หมื่นล้านจะหายไปเลย สหรัฐเคยทำในสมัยรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยใช้มาตรการนี้เมื่อเดือนพ.ค. 2551 ที่ผ่านมา โดยคืนภาษีให้ครอบครัวละ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถดึงเศรษฐกิจขึ้นมาได้เพียง 2 เดือน เพราะคืนภาษีในช่วงกลางเดือนพ.ค. 2551 สามารถช่วยดึงเศรษฐกิจเดือนพ.ค.-มิ.ย.ขึ้นมา จากนั้นเศรษฐกิจก็ตกลงไปอีก ไม่นึกว่าจะทำกัน มันแค่ฉาบฉวยม้วนเดียวขนาดนี้ ยังมีอันอื่นที่แจกเงินอีก”

“ในขณะเดียวกันกลับให้งบฝึกงานกว่า 6,000 ล้านบาท เป็นงบให้เงินเดือนเพื่อช่วยฝึกงานให้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งชีวิตของผมอยู่กับธุรกิจมาเยอะ การสร้างผู้ประกอบการไม่สามารถทำได้ภายใน 6 เดือน เพราะเมื่อสร้างผู้ประกอบการรายย่อยขึ้น เมื่อจะต้องไปเป็นผู้ประกอบการเอง เขาเหล่านี้จะต้องนำเงินเก็บมาลงทุน ยิ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง ความต้องการซื้อมีน้อย ใครเริ่มลงทุนตอนนี้จะเจ๊งได้ง่าย ช่วงเศรษฐกิจขาลงดูแลให้ผู้ประกอบการเดิมพออยู่ได้ก็ดีแล้ว แต่นี่ไปเพิ่มผู้ประกอบการอีก ยิ่งทำให้เจ๊งทั้งรายเก่าและรายใหม่ ผมไม่นึกว่าเขาจะบ้องตื้นขนาดนี้ คิดบ้องตื้นมาก ทั้งงบ 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นการละลายแม่น้ำหนเดียวเหมือนของสหรัฐอเมริกา ดึงเศรษฐกิจได้เดือนสองเดือน ตัวอย่างของตัวเลขสหรัฐอเมริกาก็สอนเรามาแล้ว” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว [8]

………………………….

[1] สรุปการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 มกราคม 2552

[2] จากบทสัมภาษณ์ในข่าว อนุมัติโปรยงบ1.15แสนล. มี.ค.ถึงชาวบ้าน ปชป.ฮุบบริหารเอง"60%" (เว็บไซต์มติชน, 14 มกราคม 2551)

[3] อ้างแล้ว

[4] จากบทสัมภาษณ์ในข่าว นักวิชาการอัดแจกงบ1.16แสนล้าน "สร้างภาพ สูญเปล่า ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 15 มกราคม 2551)

[5] อ้างแล้ว

[6] อ้างแล้ว

[7] จากบทสัมภาษณ์ในข่าว รบ.ขยายวงแจก2พัน/หัว "ขรก."ล้านคน นักวิชาการ-เพื่อไทย"สับ" (เว็บไซต์มติชน, 15 มกราคม 2551)

[8] ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 98.0 เมกะเฮิรตซ์ 15 มกราคม 2551