Thai / English

ปัญหาการว่างงานปี 52 กำลังซื้ออาจหายไป1.3หมื่นล้าน



29 .. 51
ผู้จัดการ

ตัวเลขการว่างงานที่รายงานออกมายังต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากยังมีการลดชั่วโมงทำงานอย่างชัดเจนในกลุ่มแรงงานที่มีงานทำในอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตในครั้งนี้”

จากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่ได้ลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ในหลายทวีปทั่วโลก จนกลายเป็นวิกฤตการเงิน จนทำให้เศรษฐกิจโลกก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานโดยตรง ไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตอย่างสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งจากการคาดการณ์ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่าในปี 2552 จะมีคนตกงานทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย ตัวเลขการว่างงานล่าสุดในเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ 4.5 แสนคน หรือร้อยละ 1.2 และยังมีโอกาสที่อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นอีก หากภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าตกต่ำลงมาก จากการประเมินของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าในปี 2552 จะมีการเลิกจ้างสูงถึงกว่าล้านคน ซึ่งจำนวนคนว่างงานที่ระดับ 1 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ซึ่งแม้จะต่ำกว่าอัตราการเลิกจ้างในช่วงเกิดวิกฤตปี 2540 ที่ร้อยละ 4.4 แต่ก็ถือได้ว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังในช่วงหลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตัวเลขการว่างงานที่รายงานออกมายังต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากยังมีการลดชั่วโมงทำงานอย่างชัดเจนในกลุ่มแรงงานที่มีงานทำในอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้นับรวมว่าเป็นผู้ว่างงาน เนื่องจากข้อจำกัดตามนิยามของการมีงานทำที่กำหนดให้ผู้มีงานทำ หมายถึง การมีงานทำตั้งแต่ 1 ชั่วโมงขึ้นไปโดยได้รับค่าจ้าง ดังนั้น แรงงานที่ถูกปรับลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน แม้อาจจะไม่ได้แปลว่าเป็นผู้ว่างงาน แต่จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลงอาจหมายถึงแรงงานจะมีรายได้จากการทำงานลดลง

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่แรงงานอาจจะตกงานเพิ่มขึ้นได้ในระยะถัดไป ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการเป็นหลักและการที่ธุรกิจและการลงทุนส่วนหนึ่งมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ

สถานการณ์ล่าสุด ... ตกงาน 4.5 แสนคน และผู้มีงาน ทำงานน้อยกว่า 35 ชม./สัปดาห์เพิ่มขึ้น

ภาวะการว่างงานของไทยในเดือนตุลาคม 2551 ที่ได้มีการรายงานออกมาโดยสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น พบว่ามีคนว่างงาน 4.5 แสนคน (ร้อยละ 1.2) เพิ่มขึ้นจากเดือน กันยายน ที่มีคนว่างงาน 4.32 แสนคน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวนคนว่างงานลดลง 7 แสนคน หรือลดลงร้อยละ 0.2 และเฉลี่ยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีคนว่างงาน 5.10 แสนคน ใกล้เคียงกับ 5.28 แสนคนในปีก่อน สาเหตุที่ภาพรวมในช่วง 10 เดือนแรกของปีคนว่างงานมีจำนวนลดลงก็เนื่องมาจากการลดลงของจำนวนคนว่างงานในกลุ่มผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน (นักเรียน/นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน) และกลุ่มผู้ที่เคยทำงานในภาคเกษตร

ขณะที่สถานการณ์การว่างงานในกลุ่มผู้ที่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานนอกภาคเกษตรในเดือนตุลาคม 2551 ตกงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 (yoy) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาชั่วโมงทำงานของผู้มีงานทำต่อสัปดาห์ พบว่า ผู้มีงานทำเต็มที่ตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ในเดือนตุลาคม ลดลงเหลือร้อยละ 82.1 จากร้อยละ 85.8 และร้อยละ 83.3 ของผู้มีงานทำในเดือนสิงหาคม และกันยายน ตามลำดับ ขณะที่ผู้มีงานทำน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นผู้มีงานทำไม่เต็มที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16.8 จากร้อยละ 13.7 และร้อยละ 15.8 ในช่วงเวลาเดียวกัน

แนวโน้มในปี 2552 ... ว่างงานเพิ่ม และอาจรุนแรงขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าประเด็นปัญหาแรงงาน โดยเฉพาะการว่างงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในปี 2552 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว และยังมีความเสี่ยงต่อแนวโน้มการขยายตัวในระยะถัดไป ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย และอุปสงค์ที่ชะลอตัว

สาเหตุหนึ่งมาจากการที่มีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนมากจบการศึกษาจากภาควิชาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย อาจยิ่งทำให้ปัญหาการว่างงานรุนแรงขึ้นทั้งการว่างงานแบบเปิดเผย และการว่างงานแฝง จนอาจนำไปสู่การแข่งขันในตลาดแรงงานที่สูงขึ้นระหว่างผู้ที่มีประสบการณ์ (ทั้งผู้ถูกเลิกจ้าง/ลาออกโดยสมัครใจ) และผู้ที่ไม่เคยทำงาน / กำลังแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ (นักเรียน/นักศึกษาจบใหม่ในแต่ละปีที่พร้อมจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน)

การเคลื่อนย้ายแรงงานกลับสู่ภาคเกษตร และอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาการว่างงานในท้องถิ่นได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาแรงงานมีการเคลื่อนย้ายระหว่างภาคการผลิตในระดับสูง โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมและบริการไปยังภาคเกษตรมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นมากโดยเฉพาะในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมา เห็นได้จากสัดส่วนของผู้ทำงานในภาคเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.6 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 39.5 ในปี 2550

ขณะที่สัดส่วนของผู้ทำงานนอกภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 61.4 เป็นร้อยละ 60.5 ในช่วงเดียวกัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้อัตราการว่างงานของไทยอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ในปัจจุบันผลกระทบจากการเลิกจ้าง และการปิดกิจการ ทำให้แรงงานจำนวนมากที่ถูกเลิกจ้างทยอยกลับภูมิลำเนา เพื่อไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรืออาชีพอื่นๆ ในจังหวัดบ้านเกิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการว่างงานในท้องถิ่นตามมา

ท่ามกลางความต้องการแรงงานที่มีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้ ต่อเนื่องถึงปีหน้า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรได้ปรับตัวลงค่อนข้างมากจากปีก่อน และมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลงต่อในปี 2552 อันเป็นผลจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกทำให้อุปสงค์ชะลอตัว สถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้ภาคเกษตรไม่ได้เป็นแหล่งรองรับการว่างงานได้เหมือนกับในอดีต

สวัสดิการแรงงาน และการประกันสังคม เนื่องจากปัจจุบันสวัสดิการด้านแรงงาน และการประกันสังคมของไทยยังไม่ครอบคลุม โดยแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศประมาณ 24.7 ล้านคน หรือร้อยละ 66.5 ของผู้มีงานทำทั้งหมด (37.2 ล้านคน) ยังคงเป็นแรงงานนอกระบบ (Informal Sector) ที่ยังไม่มีสวัสดิการต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพและรายได้เหมือนกับแรงงานในระบบ (Formal Sector) เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังครอบคลุมไปไม่ถึง ดังนั้น หากมีคนตกงานมากขึ้น และการว่างงานรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาด อาจทำให้แรงงานในระบบบางส่วนจากทั้งหมดประมาณ 12.5 ล้านคน ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการขาดหลักประกันในการดำเนินชีวิตหากต้องตกงานและกลายมาเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งเมื่อรวมกับแรงงานนอกระบบที่มีอยู่เดิมเป็นจำนวนมากแล้ว อาจหมายถึงภาระต่องบประมาณด้านสังคมของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และอาจกระทบต่องบประมาณด้านการพัฒนาประเทศก็เป็นได้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าปัญหาว่างงานที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจนำมาซึ่งปัญหาการบริโภคที่ชะลอตัว และปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการตกงานทำให้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้น้อยลงจากการว่างงานแฝง ในเบื้องต้นได้ประมาณการผลกระทบกรณีมีการว่างงาน 1 ล้านคน ในไตรมาสแรกของปีหน้า เนื่องจากมีบัณฑิตจบใหม่ และเฉลี่ยทั้งปี 6.75 แสนคน จะทำให้การบริโภคของกลุ่มแรงงานดังกล่าวน่าจะลดลงอย่างน้อยประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 ของการบริโภคภาคเอกชนในปี 2552 ขณะที่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาด ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของไทย ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่ผลกระทบดังกล่าวต่อการบริโภคของภาคเอกชนมีโอกาสจะสูงกว่าที่ประมาณการในเบื้องต้น เพราะแม้บางอุตสาหกรรมจะยังไม่มีการเลิกจ้าง แต่ก็ได้มีการลดชั่วโมงการทำงานและ/หรือโอทีลง ซึ่งการลดชั่วโมงทำงาน/โอทีดังกล่าวหมายถึง รายได้ของแรงงานที่ลดลง ซึ่งกระทบต่ออำนาจซื้อ และอาจนำไปสู่ปัญหา NPL เนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่งอาศัยค่าแรงจากการทำงานล่วงเวลาในการผ่อนบ้าน รถ และอื่นๆ

นอกจากนี้ หากปล่อยให้เกิดการว่างงานเป็นเวลานาน อาจเกิดปัญหา Human Capital ถดถอย เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้มีสาเหตุที่คล้ายกับวิกฤตในปี 2540 แต่กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบการว่างงานแตกต่างกัน วิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ที่กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ (ท่องเที่ยว) และอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้มีคุณภาพสูงกว่า ซึ่งบางส่วนต้องใช้ความชำนาญ (Specialization) และความรู้ความสามารถในระดับหนึ่ง ดังนั้น หากปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นมีระยะเวลายาวนาน จะทำให้ความชำนาญเฉพาะอย่าง รวมถึงความรู้ความสามารถในการทำงานลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสะสมทุนมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจให้ลดลง อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

ดังนั้น จึงควรมีมาตรการเร่งด่วนในการเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้ และแนวทางแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมในระยะยาว เนื่องจากการว่างงานเป็นประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญ และมีผลกระทบในวงกว้าง ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การวางแนวทางเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงแต่จำนวนคนว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่รวมถึงการว่างงานแฝง / การทำงานต่ำระดับ การเคลื่อนย้ายแรงงาน และสวัสดิการแรงงาน ถึงแม้ว่าอาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการที่สูง รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการผ่านทั้งมาตรการรับมือเฉพาะหน้าในระยะสั้น และครอบคลุมในระยะยาว ดังนี้

มาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องทำพร้อมกันหลายแนวทางโดยการจัดสรรงบประมาณเข้ามา ประการแรก ต้องรักษาระดับการจ้างงานไว้ โดยจูงใจให้มีการเลิกจ้างน้อยที่สุด ตลอดจนช่วยดูแลด้านสภาพคล่องให้พอพยุงกิจการเอาไว้ได้ไม่ให้ถึงขั้นต้องเลิกการผลิต เช่น การลดภาระด้านภาษี** ซึ่งแม้ว่าจะมีผลดีต่อธุรกิจ แต่ก็อาจจะยังคงไม่เพียงพอสำหรับธุรกิจที่ประสบภาวะหดตัวของคำสั่งซื้อจนขาดทุน ต่างจากการลดอัตราดอกเบี้ย และการเพิ่มค่าลดหย่อนสำหรับค่าใช้จ่ายบางรายการ รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งจะเกิดแรงจูงใจได้มากกว่า แต่ก็อาจจะมีผลเสียในเรื่องภาระรายจ่ายของงบประมาณที่อาจมีเพิ่มขึ้น สำหรับกรณีการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นแล้ว มาตรการรับมืออาจทำได้โดยการโอนย้ายแรงงานจากสถานประกอบการที่ถูกเลิกจ้างไปยังสถานประกอบการบางแห่งที่ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงาน (Labor-intensive) รวมทั้งการสร้างงานในชุมชนท้องถิ่นเพื่อรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต และบริการ เพื่อให้มีงานทำ และมีรายได้เลี้ยงชีพ ตลอดจนมีการจัดสรรเงินทุนให้แก่แรงงานที่ตกงาน / ถูกเลิกจ้าง เพื่อให้สามารถนำไปประกอบอาชีพอื่นได้ และมีการ Re-Training จัดฝึกอบรม เพิ่มทักษะ และพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับผู้ตกงาน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหา Human Capital ถดถอย เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถแข่งขันได้ เมื่อต้องกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง

มาตรการเพื่อแก้ปัญหาครอบคลุมในระยะยาวโดยรัฐบาลจำเป็นต้องประคับประคองให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เกิดการลงทุน / การสร้างตำแหน่งงาน เพื่อรองรับบัณฑิตจบใหม่ในแต่ละปี นอกจากนี้ ควรต้องมีการวางแผนพัฒนาทั้งการผลิต และกำลังแรงงาน เช่น จัดการศึกษาและอบรมกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในระบบเศรษฐกิจทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

โดยสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตรการศึกษาในสาขาที่ขาดแคลน รวมถึงอาจจะมีการรับเข้าทำงานหลังจากจบการศึกษา รวมทั้ง มีการพิจารณาปรับปรุงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมตามประเภทอาชีพ และอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง และเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนแรงงาน ประการสุดท้าย ควรเร่งขยายสวัสดิการคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ ผ่านกองทุนที่มีอยู่เดิม หรืออาจจัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสวัสดิการแรงงานที่ยังไม่ครอบคลุม

ดังนั้น มาตรการรับมือทั้งเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และแนวทางในระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่ควรเร่งผลักดันออกมาโดยเร็ว โดยเชื่อว่าทางการก็ได้ตระหนักดีถึงประเด็นปัญหานี้ การวางแผนรับมือแต่เนิ่นๆ ด้วยความรอบคอบ และความร่วมมือจากทุกฝ่ายย่อมน่าที่จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาไม่ให้ลุกลามจนยากเกินจะแก้ไข

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย