Thai / English

เปิดปมข้อพิพาทแรงงานฟอร์ด-มาสด้า เอเอที กระทบยาวรถ 8 พันคันค้างส่ง


พรหมมินทร์ งามจั่นศรี phrommin@nationgroup.com
22 .. 51
กรุงเทพธุรกิจ

เปิดเบื้องลึกข้อพิพาทแรงงาน "ฟอร์ด-มาสด้า" นายจ้างชี้การเมืองภายในสหภาพฯ ต้นเหตุผละงาน ด้าน "สมศักดิ์ สุขยอด" ประธานสหภาพฯ ร้อง "กรณ์" ช่วยต่อสายเคลียร์กับผู้บริหารฟอร์ด เอเชีย-แปซิฟิก อ้างนายทุน เตรียมดิสเครดิตล้มสหภาพฯ

การหยุดงานเพื่อเรียกร้องผลตอบแทนการทำงานของสหภาพแรงงานฟอร์ด-มาสด้า กับผู้บริหาร บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) หรือ เอเอที ผู้ผลิตรถยนต์ฟอร์ดและมาสด้า จังหวัดระยอง กลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ยังคงหาข้อยุติไม่ได้ หลังจากเจรจากันมาแล้วถึง 9 ครั้งไม่เป็นผล ส่งผลให้ล่าสุด เอเอที ประกาศหยุดสายการผลิตและปิดโรงงานชั่วคราวไปจนถึงวันที่ 12 มกราคม ปี 2552 (อ่านแถลงการณ์ เอเอทีประกอบ) ในขณะที่ทั้งสองฝ่าย มีการนัดเพื่อแก้ไขปัญหาอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 24 ธันวาคม ที่จะถึงนี้

เอเอที ชี้ปัญหาการเมืองในสหภาพฯ

แหล่งข่าวจาก เอเอที เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ข้อเสนอของผลตอบแทนที่เอเอที เสนอกับสหภาพนั้นถือเป็นข้อเสนอที่สูงมากที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ คือ โบนัส 6 เท่าของเดือน บวกเงินพิเศษ 14,000 บาท ขึ้นเงินเดือน 6% บวกอีก 350 บาท ในขณะที่เงื่อนไขล่าสุด สหภาพฯ ต้องการโบนัส 6.5 เท่าของเงินเดือน บวกเงินพิเศษ 25,000 บาท และขึ้นเงินเดือน 6.5% บวกอีก 450 บาท ซึ่งบริษัทไม่สามารถยอมรับได้และยืนยันตามข้อเสนอเดิม เพราะสถานการณ์ของบริษัทแม่ สหรัฐอเมริกาก็ย่ำแย่ ประกอบกับตลาดรถยนต์โดยรวมเข้าสู่ภาวะชะลอตัว อีกทั้งผลตอบแทนที่เอเอที ที่เสนอให้ ถือว่า สูงและยุติธรรมที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับ บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยอย่างเช่นโตโยต้าที่จ่ายโบนัสใกล้เคียงกัน

" สหภาพฯ กดดันบริษัทแต่บริษัทจะใช้วิถีทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในการแก้ปัญหา การที่พนักงานผละงานและชุมนุมปิดทางเข้าออกโรงงาน ถือว่าผิดขั้นตอนการเจรจา ขณะนี้ บริษัทมีจุดยืนว่าจะเจรจาผ่านกรมแรงงานเท่านั้นและยืนยันข้อเสนอเดิม" แหล่งข่าวกล่าว

บี คาร์เสี่ยงต่อการเลื่อนผลิต

แหล่งข่าวกล่าวว่า เดิมนั้น เอเอที มีแผนจะหยุดสายการผลิต ในช่วงปลายปีจนถึงวันที่ 12 มกราคมปีหน้า เพราะว่าเป็นการหยุดโรงงานชั่วคราวตามกำหนด เพื่อติดตั้งเครื่องจักรของสายการผลิตรถยนต์บี คาร์ หรือรถขนาดซับคอมแพคท์ รุ่นมาสด้า2 และ ฟอร์ด เฟียสต้า ซึ่งใช้เงินลงทุนตามโครงการ รวมกว่า 2 หมื่นล้าน แต่การที่สหภาพฯ นำพนักงานมาปิดทางเข้าออกเพื่อขัดขวางการผลิต ทำให้ เอเอที ไม่สามารถติดตั้งเครื่องจักรได้ และคาดว่าจะกระทบต่อแผนการผลิตรถยนต์บีคาร์ ในอนาคต

รถค้างส่ง8พันคัน

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปถึงผลกระทบจากการปิดโรงงานว่า การชะงักของการผลิตครั้งนี้ได้ทำให้บริษัทไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ ซึ่งจะต้องประกอบเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เป็นจำนวน 8,000 คัน และการที่จะกลับมาเดินสายการผลิตใหม่จะไม่สามารถทำได้ในทันทีเพราะว่าจะต้อง เตรียมพร้อม สำหรับการผลิตและ ซัพพลายเออร์ จำนวน 173 ราย ที่หยุดก็ต้องใช้เวลาในการเตรียมการเช่นกัน

สหภาพฯอ้างยอดรายได้บริษัทเพิ่ม-ต้องจ่ายโบนัสเพิ่ม

ด้าน นายสมศักดิ์ สุขยอด ประธานสหภาพแรงงานฟอร์ด-มาสด้า กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า เอเอที ไม่จริงใจในการเจรจา และทางสหภาพฯ ไม่ยอมรับว่าการพูดคุยกันที่ผ่านมาเป็นการเจรจา เพราะว่าการเจรจาต้องมีการยื่นข้อเสนอและต่อรอง ที่ผ่านมาทุกปีก็ดำเนินเช่นนี้ โดย สหภาพฯ เสนอข้อเรียกร้องไป แล้วเอเอทีต่อรองมา จำนวนมากหรือน้อย แตกต่างกันตามแต่สภาพเศรษฐกิจ แต่ในปีนี้ เอเอทียืนยันว่าจะจ่ายเท่าเดิม และเงินพิเศษน้อยกว่าปีที่แล้ว ทั้งที่ปีนี้เอเอทีมีรายได้จากยอดขายสูงกว่าเดิม เพราะทำการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น คือ ในปี 2551 คาดว่าจะผลิตรถได้ 1.87 แสนคัน คิดมีรายได้ 80,000 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2550 ผลิตได้ 1.57 แสนคัน มีรายได้ 71,000 ล้านบาท หรือผลิตรถเพิ่มขึ้น 30,000 คัน จากปีก่อนหน้า

" ช่วงนี้ เอเอที มีแทคไทม์ (ระยะเวลาประกอบรถสำเร็จ 1 คัน) 1.6 นาที/คัน คิดเป็น 560 คัน/2กะ/วัน คิดเป็นมูลค่า 280 ล้านบาท พนักงานทำงานหนักเช่นนี้ เทียบกับข้อเสนอที่คิดเป็นเงินมูลค่า 230 ล้านบาท ผลิตรถวันเดียวก็สามารถจ่ายโบนัสได้แล้ว" นายสมศักดิ์ ระบุ

"สมศักดิ์" แฉแผนล้มสหภาพฯ

"ปัญหาเรื่องแรงงานสัมพันธ์ครั้งนี้ ซับซ้อนเกินกว่าการเรียกร้องต่อรองโบนัส ต้นเหตุเกิดจากการที่บริษัทไม่มีความจริงใจและต้องการล้มสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นสหภาพอุตสาหกรรมสไตล์อเมริกัน ที่แข็งแกร่งกว่าสหภาพสไตล์ญี่ปุ่น และกลัวว่าอนาคตทางสหภาพเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ จีเอ็ม จะมารวมเข้าด้วยกันเหมือนสหภาพแรงงานยานยนต์และการบินของสหรัฐ" นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ ตั้งข้อสังเกต ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่า เอเอที ต้องการให้ยืดเยื้อออกไปจนพ้นวันที่ 31 ธันวาคม การที่ เอเอที หยุดโรงงานต่อเนื่องไปจนถึง 12 มกราคมปีหน้า ทั้งนี้ในช่วงที่ปิดโรงงานชั่วคราวเอเอทียังจ่ายค่าจ้างอยู่ทั้งในส่วนพนักงานประจำและเหมาค่าจ้างหรือซับคอนแทรคท์ ซึ่งการปิดโรงงานนั้นเป็นความสูญเสีย จึงมีข้อน่าสังเกตว่า ทำไม เอเอที จึงยอมจ่าย

"เอเอที ต้องการใช้สิทธิปิดงาน เพื่องดจ่ายค่าจ้าง ทำลายขวัญของสมาชิก แล้วเลือกพนักงานกลับมาทำงานใหม่ โดยโดดเดี่ยวสหภาพฯ " นายสมศักดิ์ กล่าว

ร้องรัฐบาลช่วยเคลียร์กับสนง.ภูมิภาค

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ยื่นหนังสือไปที่พรรคประชาธิปัตย์ และได้พบกับนายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่งนายกรณ์ได้รับทราบถึงปัญหา และได้ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเจรจา กับ ผู้บริหารฟอร์ด สำนักงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งได้รับแจ้งจากนายกรณ์ว่า ผู้บริหารฟอร์ดจะยินดีปรับขั้นตอนการเจรจาโดย ไม่ต้องผ่านตัวแทน 6 คน ที่เอเอทีแต่งตั้งมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอการติดต่อมาจากผู้บริหารเอเอที

กสร.ประเมินเจรจายืดเยื้อ

นายอาทิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) หรือ เอเอที ในช่วงวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา ว่า กรณีพนักงานจำนวนกว่า 400 คน ชุมนุมประท้วงเรียกร้องเงินโบนัส ว่า กสร.ได้เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยแล้ว 2-3 ครั้ง แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้เพราะนายจ้างก็ยังยืนยันที่จะจ่ายให้พนักงาน 6 เดือน บวกเงินพิเศษประมาณ 1.4 หมื่นบาท แต่พนักงานไม่ยอมต้องการมากกว่านั้น โดยอ้างว่าผลประกอบการของบริษัทว่ามีกำไรจำนวนหลายล้านบาท อย่างไรก็ตามจะนัดลูกจ้างและนายจ้างเจรจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งในวันที่ 24 ธันวาคมนี้

“เราเป็นตัวกลางที่จะช่วยไกล่เกลี่ย ก็อยากให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน ไม่อยากให้ยืดเยื้อต้องเอาความจริงมาพูดกัน ซึ่งหากตั้งอยู่บนความไม่เชื่อใจกันแล้วปัญหาจะไม่จบสิ้น พนักงานก็จะไม่ได้เข้าทำงาน นายจ้างเองก็จะประสบปัญหาด้านการผลิต แต่ดูท่าทีแล้วไม่จบง่ายๆ ดังนั้นเราในฐานะคนกลางจะนำข้อมูลผลประกอบการที่แท้จริงให้ทั้งสองฝ่ายดูและทำความตกลงกันในวันที่ 24 ธันวาคม หวังว่าทุกคนจะเข้าใจ ลงเอยกันด้วยดี” นายอาทิตย์ กล่าว