Thai / English

ชงรื้อ ก.ม.แรงงานสัมพันธ์ หนุนเจรจาแก้ข้อพิพาทสกัดนายจ้างโละทิ้งแกนนำ



17 .. 51
ไทยรัฐ

17 พ.ย. 51 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 19 พ.ย. กระทรวงแรงงานจะเสนอขอความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ เนื่องจากกระทรวงแรงงานเห็นว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาด้านแรงงานสัมพันธ์และสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้นเหตุให้มีการเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติปี 2550 ต่อรัฐบาล โดยสภาองค์การลูกจ้างจำนวน 11 แห่ง จึงเห็นควรแก้ไขในบทบัญญัติเกี่ยวกับขั้นตอนการเจรจาต่อรองและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้มีความยืดหยุ่น ส่งเสริมการแก้ไขข้อขัดแย้งและการยุติข้อพิพาทด้วยระบบบทวิภาคี โดยกำหนดระยะเวลาและหลักเกณฑ์การแจ้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยให้แจ้งข้อเรียกร้องภายใน 60 วันก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมจะสิ้นสุดลง เมื่อได้รับข้อเรียกร้องแล้ว ให้ฝ่ายที่รับข้อเรียกร้องแจ้งชื่อผู้เข้าร่วมเจรจาเป็นหนังสือแจ้งให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องทราบโดยไม่ชักช้า และให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจาหาทางตกลงกันภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง โดยให้นับระยะเวลาเป็นชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีที่ไม่มีการเจรจากันภายในกำหนดเวลาหรือเจรจาแล้วตกลงกันไม่ได้ถือว่า เกิดข้อพิพาทแรงงานขึ้นแล้ว ให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่พ้นกำหนดระยะเวลาหรือนับแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานต้องเริ่มดำเนินการไกล่เกลี่ยภายใน 5 วัน เพื่อให้ฝ่ายแจ้งและฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลงกันภายใน 15 วัน และกำหนดให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องสามารถร่วมกันทำเป็นหนังสือแจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานให้ยุติการไกล่เกลี่ยเพื่อกลับไปเจรจาหาทางตกลงกันเองได้ กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจโดยตรงในการจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จหรือการลงโทษ เป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกค้าอื่นได้จัดตั้งหรือเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนี้ยังกำหนดห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างกำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือใช้สิทธิปิดงานในส่วนของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเป็นบางคน อันเป็นการเลือกปฏิบัติ และกำหนดห้ามนายจ้างเลิกจ้างบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องมีผลบังคับ และยังแก้ไขบทลงโทษให้เหมาะสมขึ้น ถ้านายจ้างหรือลูกจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดของข้อพิพาทแรงงานนั้นมีผลใช้บังคับต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ