Thai / English

แฉเล่ห์โรงงาน อาศัยช่วงวิกฤต ดอดปิดกิจการ ย้ายไปเปิดที่ใหม่



13 .. 51
แนวหน้า

สอท.ฟันธงยอดออเดอร์สินค้าส่งออกของไทยต้นปี 52 จะลดลง 30-40 % ยอดขายอัญมณีตกวูบ เพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ย้ำธุรกิจเอสเอ็มอีอาการโคม่า ทยอยเจ๊งแล้ว ประธานสมานฉันท์แรงงานไทยแฉเล่ห์ธุรกิจ อาศัยสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจปิดโรงงาน เพื่อเปิดกิจการที่ใหม่

นายสมมาตร ขุนเศษฐ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและของประเทศไทยในขณะนี้ ส่งผลกระทบห้ยอดออเดอร์การส่งออกของหลายอุตสาหกรรมเริ่มลดลงแล้ว ซึ่งในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้การลดอยู่ประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ แต่ในต้นปี 2552 จะอาการหนักกว่านี้ เพราะจะอยู่ถึง 30 - 40% และตอนนี้ได้มีการลดวันทำงานลงแล้ว เช่น อุตสาหกรรมเซรามิก เสื้อผ้าที่ขายในประเทศ โดยเฉพาะพวกอัญมณี ถูกมองว่า เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้คนไม่อยากซื้อ เนื่องจากกำลังซื้อไม่มีและเงินตึงตัวด้วย นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีปัญหาแล้ว

“ที่น่าเป็นห่วงคือ พวกเอสเอ็มอีที่มีประมาณ 2 ล้านราย และมีการสร้างงานถึง 10 ล้านคน ถ้าเอสเอ็มอีตาย ธุรกิจก็ตายกันหมด ตอนนี้เอสเอ็มอีได้นำธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่เข้ามาทำด้วย หรือทำของตัวเองและส่งขายเอง มีจำนวนมาก แต่ตอนนี้เอสเอ็มอีเริ่มเจ๊งแล้ว เพราะไม่มีเงิน ยกตัวอย่างเรื่องการท่องเที่ยวที่ขาดหายไปกว่า 50 % การผลิตที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ของชำร่วยต่างๆ ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีทั้งนั้น ถ้าไม่มีการซื้อการขายก็อยู่ลำบาก”นายสมมาตรกล่าว

รองเลขาธิการส.อ.ท.ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลต้องช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเร็วที่สุด เพราะบ้านเราไม่เหมือนที่อื่น ทั้งนี้เราโดน 2 ต่อ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองภายในประเทศที่เรื้อรัง จนทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหมดไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาส.อ.ท.ได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินและผ่อนปรนเงื่อนไขให้มากที่สุดเท่า ที่จะทำได้ เช่น ให้ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ แต่เท่าที่ดูกลับไม่มีการช่วยเหลือเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลเลย

ด้านน.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แสดงความเป็นห่วงปัญหาแรงงานถูกเลิกจ้างในปี 2552 อาจจะมีถึง 1 ล้านกว่าคน รวมทั้งนักศึกษาจบใหม่ที่ยังหางานทำไม่ได้ และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ คนงานที่อยู่ในโรงงานและทำงานมาหลาย 10 ปี ถ้าตกงานจะหางานทำได้ยาก จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก ล่าสุดทราบว่า มีโรงงานผลิตชุดชั้นในย่านอ้อมน้อยได้ปลดคนงานหลายร้อยคนแล้ว และจะมีโรงงานแถวอ้อมใหญ่เลิกจ้างคนงานอีก 600 คน ส่งผลให้สถานการณ์การเลิกจ้างน่าเป็นห่วง

“ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น คือ บริษัทหรือโรงงานที่มีกิจการแย่ ส่อเค้าจะปิดกิจการอยู่แล้ว จะอาศัยช่องว่างของสถานการณ์ที่มีวิกฤต เพื่อขยับขยายไปเปิดกิจการที่ใหม่หรือไม่ โดยอ้างว่า สู้ค่าจ้างแรงงานไม่ไหว ตรงนี้น่ากังวล เพราะไม่แน่ใจมาตรการของภาครัฐเกี่ยวกับการตรวจสอบการเลิกจ้าง มีความเข้มงวดแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้เข้าไปดูแลการจ้างงานเลย”น.ส.วิไลวรรณกล่าวและ ว่า สำหรับธุรกิจที่จะมีการเลิกจ้างงานส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจประเภทชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เซรามิก เครื่องประดับและเรื่องการท่องเที่ยว โดยตัวเลขการจ้างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอจะสูงมากที่สุด