Thai / English

สุนี ไชยรส แนะแรงงาน “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ไม่เป็นหางเครื่องชนชั้นปกครอง”



20 .. 51
ประชาไท

19 ต.ค.51 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับ สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็คทรอนิคส์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานโรงกลั่นน้ำมันไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า สหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ สหภาพแรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และมูลนิธิไพศาล ธวัชชัยนันท์ จัดกิจกรรมรำลึก 35 ปี 14 ตุลาฯ ในโอกาสร่วมรำลึกเหตุการณ์35 ปี 14 ตุลาคม 2516 และครบรอบ 15 ปีพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ภายในงานมีการนำเสนอภาพยนตร์สารคดี “ขบวนการแรงงานไทยกับมรดกตกทอดจาก 14 ตุลาฯ 2516” ซึ่งจัดทำในโอกาสครบรอบ 35 ปี 14 ตุลาฯ 2516 และการกล่าวรำลึก “คุณูปการ 14 ตุลาฯ ประชาธิปไตยกับขบวนการแรงงานไทย” สลับกับการแสดงดนตรีของ วง “ภราดร”

นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและอดีตที่ปรึกษากรรมกรอ้อมน้อย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การต่อสู้ของขบวนการแรงงานไทย นับตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516” ว่า การต่อสู้ 14 ต.ค. 2516 นั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ บนอากาศ แต่ถูกสั่งสมมายาวนานจากการต่อสู้ของประชาชน นักศึกษา กรรมกร ชาวนา ก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม หากอ่านในหนังสือ “ปฎิวัติตุลาคม” จะพบว่า ขบวนของคนงานใน 14 ต.ค. ไม่ได้เข้ามาเป็นขบวนใหญ่ แต่เป็นรายย่อย เพราะขบวนการแรงงานยังไม่เข้มแข็ง

นางสุนี กล่าวว่า การต่อสู้ที่ผ่านมา เป็นการกล้าต่อสู้ กล้าเอาชนะ และกล้าเสียสละยิ่งใหญ่ เพราะการต่อสู้แต่ละครั้งต้องเตรียมใจถูกปราบ ถูกจับ หรือเสียชีวิต พี่น้องคนงานได้สืบทอดจิตใจเหล่านี้มา อีกข้อคือ 14 ต.ค. ไม่ได้หวังอำนาจรัฐ แต่เป็นการต่อสู้อย่างบริสุทธิ์ใจ เพื่อคัดค้านเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตย และที่สำคัญคือเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับภาคประชาชน

นางสุนี เล่าว่า การต่อสู้ของแรงงานไม่ใช่เพื่อประชาธิปไตยลอยๆ หลัง 14 ต.ค. คนงานสไตรค์กันอย่างกว้างขวาง ชุมนุมกันเจ็ดวันเจ็ดคืนที่สนามหลวง นี่คือการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน ให้นักศึกษา กรรมกร ใช้พื้นที่ของตัวเอง ไม่ใช่ต้องการการเมืองแบบนักเลือกตั้งอย่างเดียว แต่เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องการเมืองในระบอบเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนตรวจสอบการเมืองไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ นางสุนี กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพของกรรมกรนั้นนำมาซึ่ง “3 ประสาน” หลัง 14 ต.ค. นักศึกษาเดินเข้าโรงงาน ไปอยู่กับสหภาพหรือกลุ่มของคนงาน นักศึกษาบางส่วนเข้าเป็นคนงาน ทำให้มีเรื่องเล่าอย่างเรื่องของ มด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) ที่โรงงานฮาร่า และเมื่อมีการเคลื่อนไหวของชาวนา กรรมกร ทุกคนจะมาช่วยเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง ในส่วนของแรงงานทำให้กระบวนของสหภาพแรงงานเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีการร่วมเรียกร้องที่ดินของชาวนา ที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือด นำมาซึ่งกาารเสียชีวิตของคนจำนวนไม่น้อยก่อน 6 ต.ค.

อดีตที่ปรึกษากรรมกรอ้อมน้อย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันพบว่ามีนักศึกษาบางส่วนพยายามเข้าไปอยู่กับสหภาพ ในนามของอาสาสมัคร เช่น อ้อมน้อย ฯลฯ ตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในขบวนของแรงงานมากขึ้น อาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ทำอย่างไรให้มาเชื่อมร้อยกัน รวมถึงขบวนของผู้นำแรงงานภาครัฐและเอกชน ที่ก่อน 14 ต.ค. เป็นหนึ่งเดียวกัน สู้ด้วยกันมาตลอด แต่ต่อมาถูกแยกด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่เป็นหนึุ่่งเดียวกัน รวมถึงเครือข่ายแรงงานนอกระบบ แรงงานเหมาช่วง แรงงานข้า้มชาติด้วย เพราะการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานนั้นไม่เหมือนการต่อสู้อื่น เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องระบบสวัสดิการสังคม วันนี้มีการพูดเรื่องประกันสังคมบ้าง แต่ยังไม่ชัดเจน โดยพี่น้องแรงงานยังกระจัดกระจาย บ้างถูกจัดให้ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน เช่น แรงงานเหมาช่วง ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้แรงงานเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด

นางสุนี กล่าวว่า วันนี้เผด็จการไม่ได้แสดงออกเต็มรูปเหมือนสมัยก่อน สมัยก่อน เผด็จการนั้นชัดเจน วันนี้ไม่มีขาวดำเหมือนก่อน ทุนนิยมผูกขาด-ทุนข้ามชาติ ยังสามัคคีกับกลไกอำนาจรัฐเหมือนเดิม แต่มาในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้การต่อสู้ท้าทายกว่าเดิม

ยุทธศาสตร์ของอุดมการณ์หลัง 14 ต.ค. ของผู้ใช้แรงงาน คือ ทำให้พี่น้องรวมกลุ่มเข้มแข็งต่อสู้ เพื่อให้ฐานของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่สวัสดิการที่เข้มข้นให้ได้ เพราะถ้าเราต่อสู้เรื่องเล็กๆ จะไม่มีทางชนะ โดยยุทธศาสตร์ใหญ่นี้เราเคลื่อนตัวมาหลายรอบตั้งแต่ก่อน 14 ต.ค. รัฐธรรมนูญ 40 รัฐธรรมนูญ 50

นางสุนี กล่าวถึงยุทธวิธีการต่อสู้ โดยอ้างอิงบทเรียนก่อน 6 ต.ค.ว่า ประการแรก“แกนนำการต่อสู้ต้องเข้มแข็ง กล้าหาญ แต่ต้องไม่ทิ้งห่างจากมวลชน” แกนนำต้องเข้มแข็ง สามัคคี ต้องไม่ทิ้งประโยชน์ของแรงงาน เพื่อไม่ให้ฐานลอยจากมวลชน วันนี้การต่อสู้ของพี่น้องแรงงานไม่ค่อยหนุนช่วยกันอย่างเต็มที่ อาจเพราะฐานกว้างขึ้น ทำอย่างไรหนุนช่วยพี่น้องเฉพาะหน้า เรื่องที่ร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิฯ 20% ยังเป็นการต่อสู้ที่ไม่ได้ตาม กฎหมายแรงงาน นั่นแสดงว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงานยังไม่สามารถปกป้องผู้ใช้แรงงาน ตามขั้นต่ำของกฎหมายได้ 30% เป็นเรื่องที่สหภาพแรงงานถูกกลั่นแกล้ง ทั้งภาครัฐ-เอกชน พี่น้องสหภาพฯ ถูกปลดเลิกจ้าง หาเรื่องให้ติดคุก แยกสลาย เพราะฉะนั้นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือการปกป้องการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานต้องเป็นภารกิจใหญ่ที่ต้องช่วยกันให้ได้ มิเช่นนั้น ต่อให้การต่อสู้ทำได้ไกลขนาดไหน แต่ผู้ใช้แรงงานไม่สามารถไปด้วยได้ก็จะเป็นฐานที่ไม่เข้มแข็งในอนาคต

สอง “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” วันนี้พี่น้องผู้ใช้แรงงานหลากหลายและมีความคิดทางการเมืองต่างกัน แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราเคารพความเห็นต่าง 6 ต.ค. 19 ต้องไม่ให้เกิดกับพวกเรา เราต้้องไม่ปล่อยให้สถานการณ์ของสังคมขัดแย้งจนเกิดการเผชิญหน้า จนใช้ความรุนแรง ใครใช้ เราต้องคัดค้าน ไม่ว่ารัฐหรือฝ่ายใดก็ตาม ขณะเดียวกัน เราต้องไม่เข้า่ไปใช้้ความรุนแรงต่อผู้อื่น และไม่ว่าจะต่่อสู้เรื่องอะไร หรือมีภารกิจต่างกัน แต่เรายังมีภารกิจใหญ่รออยู่คือ ต้องสู้เพื่อขบวนผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ต้องกลับมาสู้ในฐานใหญ่ให้ได้ สร้างแนวร่วมกันให้มากที่สุด และโดดเดี่ยวให้น้อยที่สุด

สาม “มีเหตุผล มีประโยชน์ รู้ประมาณ” เจ็บปวดที่วันนี้พี่น้องสหภาพมาที่คณะกรรมการสิทธิฯ สหภาพใหม่ๆ ยังสู้ผิดขั้นตอน แล้วถูกเลิกจ้าง ทั้งที่บทเรียนของแรงงานยาวไกล และเสียดายการต่อสู้ของสหภาพที่จบลงอย่างเจ็บปวด เพราะยังไม่สามารถแสวงหาบทเรียนก้าวข้ามไปเพื่อไม่ให้เสียเปรียบทางการมืองได้

นางสุนี กล่าวว่า 35 ปี 14 ต.ค. ตนเองเป็นเพียงส่วนหนึ่ง หลังเรียนจบได้มาเป็นที่ปรึกษาอ้อมน้อย ซึ่งเกิดการต่อสู้ที่ดุเดือด จนข้ามย่านออกมาอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกัน กระบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” นำมาซึ่งความเจ็บปวด นายจ้างจ้างคนพกปืนเฝ้าสหภาพฯ วันนี้ก็ยังเหมืือนเดิม ไม่น่าเชื่อว่า หลัง 35ปี 14 ต.ค. นายทุนและอิทธิพลของท้องถิ่นในพื้นที่ ยังใช้อิทธิพลเข้าข่มขู่คุกคามคนงาน ทั้งที่กระแสการรต่อสู้ของแรงงานดูก้าวหน้าเข้มแข็ง บทเรียนนี้คือความเจ็บปวด แต่ก็ต้องประคับประคองช่วยกันแก้ไขเรื่องเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม นางสุนี กล่าวว่า เมื่อขบวนผู้ใช้แรงงานแสวงแนวร่วม ต่อสู้อย่างมียุทธวิธีบนอุดมการณ์ใหญ่ เพื่อสวัสดิการสังคมแล้ว ก็ต้องไม่เป็นหางเครื่องของชนชั้นปกครองไม่ว่าฝ่ายใดทั้งสิ้น เพราะการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานคือการต่อสู้บนฐานสวัสดิการสังคม ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ ซึ่งสามัคคีกับนายทุนในหลายๆ เรื่อง นอกจากนี้แล้ว เราต้องสร้างขบวนที่ให้แรงงานที่ไม่ใช่แรงงานในโรงงานเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ ดังคำขวัญ “แรงงานคือผู้สร้างโลก” โดยต้องเป็นหัวหอกของการต่อสู้