Thai / English

"รพ.เอกชน"วอนสปส.เพิ่มค่ารายหัว



22 .. 51
กรุงเทพธุรกิจ

โรงพยาบาลเอกชนในเครือข่ายประกันสังคมอ่วมเจอต้นทุนค่ารักษาพุ่ง วอน สปส.เพิ่มค่ารายหัวผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริง เนื่องจากโรงพยาบาลขนาดเล็กอยู่ไม่ได้

น.พ.พิพัฒน์ พงศ์รัตนามาน ที่ปรึกษาชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบงานบริการประกันสังคม เปิดเผยว่า จากภาวะปัจจุบันค่าครองชีพที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้สินค้าทุกอย่างแพงขึ้นตามไปด้วย ไม่เว้นแม่แต่ค่ายาเวชภัณฑ์สำหรับรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเรื้อรังหลายชนิด

และยังมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับหมอ พยาบาล ซึ่งเริ่มต้นประมาณเดือนละ 50,000-60,000 บาท บางคนเดือนละ 100,000 บาท เหตุนี้เองทำให้เกือบทุกโรงพยาบาลเอกชนต้องแบกรับภาระอย่างมาก บางโรงพยาบาลถึงกับหยุดกิจการ บางโรงพยาบาลต้องปรับตัว ซึ่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็อยู่รอด เพราะสามารถขยายไปต่างประเทศ เช่น ในจีน ในตะวันออกกลาง เป็นต้น ขณะที่โรงพยาบาลขนาดเล็กต้องรับชะตากรรม

น.พ. พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้หลายโรงพยาบาลต้องแบกรับภาระผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตนในสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เนื่องจากขณะนี้ได้รับเหมาจ่ายเพียง 1,306 บาทต่อคนต่อปี ทั้งที่จริงแล้วทั้งค่ายาและค่าตอบแทนหมอมากกว่านั้นหลายเท่า แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อรับเข้ามาแล้วก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงไปถึงสิ้นปี

อย่างไรก็ตามอยากวิงวอนให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เข้าใจในหัวอกของโรงพยาบาลเอกชนบ้าง ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการทบทวนเพิ่มค่ารักษาให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริง

“ตอนนี้หมอโรงพยาบาลเอกชนลำบากมาก ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและเรื่องปัญหาการฟ้องร้อง คนแก่เพิ่มมากขึ้นต้องรับผิดชอบมากขึ้น เข้าใจว่า สปส.เองก็คำนึงถึงความมั่นคงของกองทุน แต่ก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับการรักษาโรคเช่นกัน ถ้าไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลตายแน่ๆ ตอนนี้ถ้าพูดถึงระบบการให้เงินค่ารักษา สปสช.เขาชัดเจน มีระบบที่ดี เพิ่มเงินค่าหัวให้ตามความเหมาะสม แต่ก็มีข้อเสียเช่นกันคือ คนป่วยเยอะ หลายโรค

ดังนั้น สปส.ก็น่าจะทำให้ชัดเจนเหมือนกับ สปสช.จะเป็นการดี เรียกว่าหมอก็อยู่ได้ สปส.ก็อยู่ได้ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตน” นพ.พิพัฒน์กล่าว