Thai / English

เสวนา: “กระบวนการยุติธรรมกับสิทธิแรงงาน”



13 .. 51
ประชาไท

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2551 โครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), ศูนย์ศึกษาสหภาพแรงงาน , กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อกระบวนการยุติธรรมกับสิทธิแรงงาน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายแล ดิลกวิทยรัตน์ ศูนอาจารจย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายไพโรจน์ พลเพ็ชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ดำเนินรายการโดยศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)กล่าวว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง มีการสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อยุติปัญหาอยู่หลายรูปแบบในสังคมไทย รูปแบบสูงสุดคือ ศาลแรงงาน ตั้งขึ้นในปี 2522 ใช้ระบบสามฝ่ายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เน้นการไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมา ก็ได้เกิดข้อสงสัยกับศาลแรงงานอยู่มากคือ 1.ตัวแทน 3 ฝ่ายที่เข้าไป มีสถานะเท่าเทียมกันจริงหรือเปล่า ตัวแทนของฝ่ายลูกจ้าง ไม่แน่ใจว่าเป็นตัวแทนลูกจ้างจริงหรือเปล่า สามารถรักษาผลประโยชน์ของลูกจ้างหรือเปล่า

2.เจตนารมณ์ของศาลแรงงานพูดชัดว่า จะต้องยุติความขัดแย้ง พยายามให้อยู่ร่วมกันให้ได้ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เกิดระบบไกล่เกลี่ย ประนีประนอม ซึ่งแตกต่างจากศาลอื่นๆ แต่วิธีปฏิบัติ แนวโน้มของการไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะไม่ประกันสิทธิแรงงาน เช่น กฎหมายบอกชัดเจนว่าค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่าไร เจรจาไปเจรจามาสามารถต่ำกว่ากฎหมายได้

3.การเข้าถึงข้อมูล เป็นเรื่องใหญ่มากของกระบวนการยุติธรรม ตามกฎหมายบอกว่าศาลต้องเข้าถึงข้อมูลได้ แต่ข้อเท็จจริงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะได้ผู้พิพากษาจากกระบวนการยุติธรรมปกติ จึงไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแรงงาน และนำเอาวิธีการปฏิบัติแบบเดิมที่เชื่อว่าสองฝ่ายเท่ากันในการต่อสู้กับนายจ้างลูกจ้าง ทั้งการเข้าถึงข้อมูล และศักยภาพต่างๆ จึงแล้วแต่ใครจะหาข้อมูลเท่าไร ศาลมีหน้าที่นั่งฟัง ในความเป็นจริงนายจ้างกับลูกจ้างไม่เท่ากันอยู่จึงนับว่าไม่เป็นธรรมตั้งแต่เบื้องต้น

ไพโรจน์กล่าวถึงคดีของจิตราว่า แยกเป็น 2 อย่างคือสิทธิในฐานะพลเมืองไทยที่แสดงความคิดเห็น ในฐานะพลเมืองแสดงได้ โดยไม่กระบทต่อเสรีภาพคนอื่น หรือความมั่นคง กับสิทธิของลูกจ้างก็ต้องมีสิทธิต่อรอง รวมตัว นัดหยุดงาน เป็นกรรมการลูกจ้าง เป็นต้น ทั้งนี้ กฎหมายจะคุ้มครองเรื่องเลิกจ้าง โดยมีเงื่อนไขชัดเจนว่าจะเลิกจ้างได้ในกรณีใดบ้าง เช่น จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย

โดยนายไพโรจน์ตั้งคำถามว่า กรณีที่น.ส. จิตรา คชเดช ไปออกรายการโทรทัศน์นั้นสร้างความเสียหายให้นายจ้างจริงหรือไม่ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่า การที่กรณีดังกล่าวถูกเชื่อมโยงกับเรื่องคดีความมั่นคงและคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ไม่ใช่ประเด็นพิจารณาของศาลแรงงาน ทั้งนี้ แม้แต่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็ต้องพิสูจน์และอยู่ในเขตอำนาจศาล “การเอาบริบททางการเมืองปัจจุบันที่มีการโหมกระแสมาใช้ตัดสิน…ถ้าคำพิพากษาออกมาว่าการแสดงออกทางการเมืองกระทบต่อนายจ้างทั้งหมดก็ต้องออกกันหมด แสดงความคิดเห็นไม่ได้ จะขึ้นปราศรัยที่ไหนก็ไม่ได้ อันนี้มันกำลังขยายขอบเขตการพิจารณา”ไพโรจน์กล่าว

นอกจากนี้เขายังระบุถึงการไม่พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการตามหาตัวผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้เกิดการไกล่เกลี่ย ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานว่าต้องให้สองฝ่ายมาเจอกันให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลิกจ้างประธานสหภาพ เป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาจก่อปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอื่นๆ ได้ง่าย

ประเด็นต่อมา ตุลาการภิวัตน์ ในความสัมพันธ์ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐต้องเข้าไปแทรกแซง แต่ในเรื่องทั่วไปที่เกิดขึ้นเสมอเวลาศาลพิพากษามักเป็นความขัดแย้งระหว่างการใช้อำนาจของรัฐกับการใช้เสรีภาพของประชาชน สิ่งที่เราอยากเห็นของศาลไทยคือ ศาลไม่ควรละเลยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และควรขยายความเรื่องสิทธิเสรีภาพ

นายแล ดิลกวิทยรัตน์ ศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ กล่าวถึงความสำคัญของสหภาพแรงงานว่า สหภาพแรงงาน เกิดก่อนกฎหมายแรงงาน ศาลแรงงาน และกระทรวงแรงงาน สำหรับประเทศไทย ระบบประกันสังคมเกิดขึ้นได้ก็เพราะการเรียกร้องต่อสู้ของขบวนการแรงงาน

“ถ้าดูประวัติศาสตร์แล้ว ขบวนการแรงงานไม่เคยหวังว่าจะให้มีสถาบันใดหยิบยื่นความเป็นธรรมให้โดยเราไม่ต้องทำอะไรเลย” แลกล่าวและตั้งข้อห่วงกังวลว่ามาช่วงหลังๆ ขบวนการแรงงานมีการพึ่งพิงหรือเรียกร้องจากส่วนอื่นๆ มากขึ้น กว่าการพึ่งพาตัวเอง

“ถ้าเรามีสหภาพที่เข้มแข็งอย่างในหลายประเทศ เชื่อว่านายจ้างไม่กล้าให้เราออกเพียงเพราะอาศัยคำชี้ขาดของสถาบันตุลาการ เพราะหลายประเทศการเลิกจ้างปรานสหภาพเป็นเรื่องทำไม่ได้ เพราะสหภาพไม่ยอม ถ้าดูกฎหมายแรงงานในเวียดนาม การเลิกจ้างประธานสหภาพ ต้องได้รับความยินยอมจากสภาแรงงานของประเทศด้วย ปัญหาคือคุณสามารถสร้างอำนาจต่อรองได้หรือไม่” แล กล่าว

แลยังระบุถึงช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรมว่า เมื่อคนจนถูกเลิกจ้าง ไม่ได้ค่าชดเชย การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องยุ่งยากและล้วนมีต้นทุนสูง และนายจ้างจึงมักใช้ข้อเสียเปรียบนี้มาต่อรองกับลูกจ้าง

“ที่จริงแล้ว กระบวนการทางการใดๆ ก็เป็นอุปสรรคต่อคนจน เพราะเป็นต้นทุนทั้งสิ้น ฉะนั้นโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากสถาบันทางการเหล่านี้ไม่ค่อยมี เพราะไม่คุ้นเคย และไม่มีทุน หนทางที่ทำได้คือการรวมตัวเรียกร้อง ต่อรองกับนายจ้างเอง” แล กล่าวและว่าสิ่งที่ต้องทำคือพยายามสร้างความร่วมมือในวงการแรงงานระหว่างประเทศ และต้องกระตุ้นความตื่นตัวของสหภาพแรงงานในโรงงานต่างๆ แล้วผนึกกำลังกันในการต่อสู้กับทุน ซึ่งก็มีการปรับตัวอย่างมากในช่วงการต่อสู้ที่ผ่านมา

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าประเด็นตุลาการภิวัฒน์มีความสำคัญต่อปัญหาแรงงาน เนื่องจากศาลนั้นเป็นสถาบันทางการเมืองที่เอาไว้ชี้ขาด แต่สิ่งที่สำคัญมากก็คือดูเหมือนคนในสังคมไทยจำนวนมากเชื่อว่า เมื่อมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับศาลแล้ว จะเป็นผลดีกับสังคม ซึ่งนี่คือความเชื่อที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

“ผมว่านี่คือเรื่องสำคัญเพราะ ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนเชื่อถือศาลกันมากๆ แล้วศาลทำอะไรบ้าง อีกประการคือ ศาลได้ถูใช้เป็นกลไกในการยุติความขัดแย้งสำหรับขบวนการแรรงงานด้วย ซึ่งหลายๆ คนดูเหมือนเชื่อว่านี่เป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาได้”

นายสมชายตั้งคำถามว่าขณะที่คนเชื่อมั่นในศาลมากว่าจะเป็นที่พึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ในการแก้ปัญหา แต่ศาลหรือสถาบันตุลาการของไทยนั้นมีความรู้หรือความเข้าใจเกี่ยวกับคนจนแค่ไหน ไม่เฉพาะประเด็นแรงงานท่านั้น แต่ต้องพิจารณาจากการตัดวินของศาลในประเด็นที่เกี่ยวข้อกับคนจนเรื่องอื่นๆ ด้วย ก่อนอื่น เมื่อเราพูดถึง

ทั้งนี้ประเด็นตุลการภิวัฒน์นั้นในต่างประเทศหมายถึงการที่ศาลตัดสินและวางรากฐานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิบัติ เช่น ศาลอเมริกา ตัดสินว่าการยืนหรือไม่ยืนเคารพธงชาตินั้นเป็นเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน ขณะที่ตุลการภิวัฒน์ ในบ้านเราหมายถึง การพยายามดึงเอาศาลเข้ามาจัดการกับข้อขัดแย้งทางการเมืองเช่น ระหว่างทักษิณ กับพันธมิตรฯ

สำหรับกรณีของ น.ส. จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ซึ่งถูกศาลแรงงานตัดสินให้นายจ้างยกเลิกการจ้างงานได้ด้วยเหตุผลที่นายจ้างอ้างว่าสร้างความเสียหายให้กับบริษัทโดยการใส่เสื้อรณรงค์ ‘ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม เห็นต่างไม่ใช่อาชญากร’ ไปออกรายการโทรทัศน์นั้น นายสมชายตั้งข้อสังเกตว่า

1 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชานตามรัฐธรรมนุญนั้นเล็กกว่าผลประโยชน์ของนายจ้าง ถ้าขัดผลประโยชน์นายจ้าง ทำไม่ได้

2 คดีของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นที่มาของการณรงค์ผ่านเสื้อยืดดังกล่าวนั้นยังไม่ถูกตัดสิน ฉะนั้น ผู้ถูกกล่าวหาก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา “หลักกฎหมายบ้านเราไม่ว่าจะจบจากไหนก็ตาม ถ้าไม่ได้เรียนกฎหมายยุคหิน จนกว่าคำพิพากษาจะเกิดขึ้น คุณยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้านายจ้างเลิกจ้างแบบนี้ คือจำเลยผิดจนกว่าจะตัดสิน นี่คือหลักกฎหมายเมื่อประมาณ 1000 ปี”

ทั้งนี้ เมื่อคดีของ น.ส. จิตรา ได้ถูกตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว คำตัดสินแก้ไขไม่ได้ แต่การเรียกร้องให้ นายจ้างจะรับกลับเข้าทำงานไม่ใช่เรื่องกระบวนการแก้คำตัดสินของศาล แต่คือพลังของขบวนการสหภาพที่จะกดดัน เป็นส่วนที่พ้นกระบวนการศาล เป็นการทดสอบพลังของสหภาพว่าจะกดดันให้นายจ้างรับน.ส. จิตรากลับเข้าทำงานได้หรือไม่

นายสมชายกล่าวไปถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า อาจจะต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้มีการใช้กฎหมายหมิ่นทำร้าย เนื่องจากที่ผ่านมา คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยเกิดขึ้นบนการกระทำเชิงสัญลักษณ์แทบทั้งสิ้น และสัญลักษณ์ที่กว้างขวางมาก

ในส่วนของคดีแรงงานนั้น ที่ผ่านมายังไม่เคยมีนายจ้างติดคุกซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มีนายจ้างทำผิดกฎหมายแรงงาน “ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของนักลงทุนจริงๆ คือ ผมคิดว่าในการตัดสินหรือในคำวินิจฉัยของศาลเกี่ยวกับเรื่องคดีแรงงาน มีความเชื่อบางอย่างกำกับอยู่ เช่น เชื่อว่าต้องให้การคุ้มครองกับการลงทุน จะไม่ลงโทษนายจ้างด้วยการติดคุก

“กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้มกขึ้น ผมคิดว่าเราอาจจะต้องคิดถึงเรื่องนี้ให้มากขึ้น ที่ผ่านมาดูเหมือนมีแนวโน้มว่าการเคลื่อนไหวของแรงงานจะผลักให้เกิดการชี้ขาดบางอย่างโดยให้ศาลเป็นคนตัดสิน ในแง่หนึ่งก็ไม่ผิด แต่ว่า สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามก็คือว่า มันมีเรื่องไหนที่เราคาดหวังได้บ้าง และเรื่องไหนที่เราคาดหวังไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่กระบวนการแรงงานต้องรู้และเข้าใจ เพราะไม่ใช่ว่าเราจะฝากความหวังไว้กับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด”

ทั้งนี้ การไม่สนหวังพึ่งกระบวนการตามกฎหมายไม่ได้หมายความว่าให้ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม แต่ต้องเข้าถึงและเข้าใจตัวกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และนอกจากนี้นายสมชายกล่าวว่าสำหรับขบวนการแรงงานนั้น การรวมตัวนั้นคือพื้นฐาน เป็นสิ่งที่จะต้องสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับ และที่สำคัญมากคือ การเคลื่อนไหวอย่ามีประสิทธิภาพไม่สามารถแยกออกจากขบวนการประชาธิปไตย อย่างน้อยต้องสัมพันธ์กับการเรียกร้องสิทธิอำนาจของประชาชนมากขึ้น ขบวนการแรงงานไม่อาจะแยกตัวออกจากขบวนการประชาธิปไตยได้ และต้องสร้างขบวนการแนวร่วมของคนตัวเล็กๆ ให้เกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีของเกาหลีใต้ซึ่งขบวนการแรงงานไม่ได้เคลื่อนไหวโดดๆ แต่สัมพันธ์กันกับขบวนการของเกษตรกรด้วย

สำหรับกรณีที่มีคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมนั้นถูกแทรกแซงได้หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ปัญหาการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ไม่สำคัญเท่ากับทัศนคติของผู้พิพากษา