Thai / English

อุไรวรรณชี้ลดจ่ายสปส.อุ้มคนจนขัดก.ม.



31 .. 51
กรุงเทพธุรกิจ

"ป้าอุ" ชี้ลดเบี้ยประกันสังคมทำไม่ได้ต้องแก้กฎหมาย หนุนช่องทางให้รัฐจ่ายแทนบางกรณีหวังลดภาระผู้ประกันตน 9 ล้านคน บอร์ดสปส.ฝ่ายลูกจ้างแนะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำดีกว่า-เพิ่มอำนาจซื้อ ระบุดัชนีผู้บริโภคพุ่งลิ่วแซงอัตราค่าจ้าง

นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง กรณีที่ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นด้วยกับข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อเป็นการลดภาระให้ประชาชน ว่า ยังไม่ได้หารือกับน.พ.สุรพงษ์ ว่า ความชัดเจนเป็นอย่างไร แต่การให้ลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องแก้ไขกฎหมายซึ่งมีหลายขั้นตอน

นางอุไรวรรณ กล่าวว่า หากรัฐบาลยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินสมทบแทนผู้ประกันตนในบางกรณีก็มีความเป็นไปได้ เพราะปัจจุบันผู้ประกันตนรับภาระจ่ายเงินสมทบร้อยละ 5 หากรัฐบาลจ่ายให้สักร้อยละ 1 หรือแล้วแต่ความต้องการก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของคน 9 ล้านคน แต่เรื่องนี้ต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสำนักงานประกันสังคมพร้อมดำเนินการให้

"ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีกนั้น ตอนนี้เราเฝ้าระวังอยู่ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องร้องขอ ซึ่งขณะนี้ ในส่วนของ 3 จังหวัดที่ไม่ได้รับการปรับเพิ่มครั้งก่อน คือ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และชัยภูมิ ขณะนี้ คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับเพิ่มขึ้น 2-4 บาท และกำลังเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ" นางอุไรวรรณ กล่าวและว่า 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนนั้น เชื่อว่าจะเข้าถึงประชาชนและช่วยบรรเทาภาระได้

นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทยและหนึ่งในคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม กล่าวว่า การลดจ่ายเบี้ยประกันสังคมเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องแก้กฎหมาย ยิ่งเป็นการลดเบี้ยในส่วนของกรณีว่างงานหรือชราภาพ ก็จะส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมทันที ทางที่ดีรัฐบาลควรใช้วิธีเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้ผู้ใช้แรงงานจะดีกว่า เพราะทำให้เกิดกำลังซื้อในกลุ่มลูกจ้างและในตลาด

นายชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแบบบ้าระห่ำ แต่รัฐบาลกลับตรึงราคาค่าจ้างขั้นต่ำเอาไว้ ทำให้เกิดผลเสียกับผู้ค้ารายย่อย เพราะลูกจ้างไม่มีกำลังซื้อ ยิ่งขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาแถลงว่าพุ่งขึ้นเกือบร้อยละ 8 แต่ตัวเลขไม่เป็นทางการอาจพุ่งขึ้นถึงสองหลัก แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับปรับให้แค่ร้อยละ 5 ทำให้ลูกจ้างไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปซื้อของ

"รัฐบาลไม่ยอมปรับค่าจ้างเพราะคิดตามทฤษฎีเดิมๆ คือ กดค่าแรงงานเอาไว้ เพราะเอากำไรสูงสุดแก่สถานประกอบการ อย่างนี้ลูกจ้างจะอยู่กันได้อย่างไร" นายชัยสิทธิ์กล่าว