Thai / English

ก.แรงงาน ชี้ไตรมาสแรกเลิกจ้างแล้ว 85 แห่ง ถูกเลิกจ้าง7พันคน



24 .. 51
กรุงเทพธุรกิจ

ก.แรงงาน เผยไตรมาสแรกเลิกจ้างแล้ว 85 แห่ง ลูกจ้างตกงานกว่า 7 พันคน แนวโน้มเลิกจ้างอีก 31 แห่ง ลูกจ้างกว่า 1.5 หมื่น จับตาพิเศษ 9 แห่ง ลูกจ้าง 9 พันคน ระบุ กิจการเครื่องแต่งกาย-เครื่องประดับ-เฟอร์นิเจอร์ เยอะสุด “ป้าอุ” ชี้เรื่องเล็ก มีงานรองรับเพียบ อธิบดีกรมจัดหาฯ ลั่นไม่ต้องวิตกงานแสนตำแหน่ง ใจป้ำควักเงิน 130 ล้านปล่อยกู้คนทำงานบ้าน

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีสถานประกอบการจำนวน 9 แห่ง ลูกจ้างกว่า 9,000 คนที่อยู่ในการเฝ้าระวังพิเศษที่จะถูกเลิกจ้าง ว่า กรณีดังกล่าวยังถือว่าเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมมากนัก เนื่องจากยังมีสถานประกอบหลายแห่งที่เพิ่งเปิดกิจการในอัตราส่วนที่ไล่เลี่ยกัน อย่างไรก็ตาม หากสถานประกอบการใดมีการเลิกจ้างก็จะต้องมาพูดคุยกันว่าจะมีการปิดในลักษณะไหนและกระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางานพร้อมมีตำแหน่งรองรับทุกคน แต่ขอเพียงว่าอย่าเลือกงาน ต้องเป็นนักสู้ อดทน รับรองมีงานทำแน่นอน

นายอาทิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากผลการรวบรวมการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-16 ก.ค. พบว่ามีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างแล้วจำนวน 85 แห่ง ลูกจ้าง 7,223 คน ส่วนที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้างมากถึง 31 แห่ง ลูกจ้าง 14,486 คน ที่สำคัญในจำนวนดังกล่าวเป็นสถานประกอบการที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 9 แห่ง ลูกจ้าง 9,000 คน ทั้งประเภทที่มีการเลิกจ้างไปแล้ว พบว่า การผลิตเครื่องเรือนและการผลิตเฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ มากที่สุดคือ 20 แห่ง ลูกจ้าง 1,723 คน รองลงมาคือ ผลิตเครื่องแต่งกาย 11 แห่ง ลูกจ้าง 1,291 คน เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์อาหาร 9 แห่ง ลูกจ้าง 726 คน และ ขายปลีก ผลิตสิ่งถัก 5 แห่ง ลูกจ้าง 1,054 คน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอยู่ในเขตพื้นที่ กทม. 22 แห่ง จังหวัดรอบกรุงเทพ 14 แห่ง ภาคเหนือ 12 แห่ง ภาคใต้ 8 แห่ง และตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ส่วนสาเหตุการเลิกจ้างส่วนใหญ่กรณีแรกประสบภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน 38 แห่ง รองลงมาคือการสั่งลดซื้อ 15 แห่ง อื่นๆ เช่น ยกเลิกสัมปทาน ไฟไหม้ สินค้าด้อยคุณภาพ และภาระต้นทุนด้านน้ำมัน เป็นต้น 12 แห่งและได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท 8 แห่ง ตามลำดับ ส่วนสถานประกอบการที่มีแนวโน้มเลิกจ้าง 31 แห่งนั้น การผลิตเครื่องแต่งกาย มีแนวโน้มมากที่สุดคือ 8 แห่ง รองลงมาคือการผลิตเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ 6 แห่ง อาหารเครื่องดื่ม 4 แห่ง ก่อสร้าง 2 แห่งและผลิตสิ่งทอสิ่งถัก 2 แห่ง ทั้งนี้พบว่าตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กทม. 11 แห่ง ภาคเหนือ 7 แห่ง จังหวัดรอบ กทม.5 แห่ง ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง 8 แห่ง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการประสบภาวะขาดทุน หรือขาดสภาพคล่องทางการเงิน ลดการสั่งซื้อ หมดโครงการ สัญญาจ้าง ตามลำดับ

“ก็ที่น่าห่วงที่สุดเห็นจะเป็นโรงงาน 9 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 9,831 คนที่พวกเราเฝ้าระวังเป็นพิเศษจับตามอย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาจากสถานการณ์บ่งชี้แล้ว คาดหมายได้ว่าน่าจะมีการเลิกจ้าง ซึ่งถ้าปัญหานี้ยังอยู่และนายจ้างไม่สามารถแก้ได้ ก็จะมีการประกาศกิจการตามมาแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข่าวดีเพราะว่าในเมื่อจะมีคนกำลังจะตกงาน ก็ยังมีตำแหน่งงานว่างที่กรมการจัดหางานเตรียมไว้รองรับ 160,338 อัตรา เชื่อว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาได้บางส่วน” นายอาทิตย์ กล่าว

ด้านนาย ไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศที่นายจ้างแจ้งต่อกรมการจัดหางาน ณ วันที่ 15 ก.ค. มีจำนวน 154,204 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่เป็นอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต รองลงมาเป็น พนักงานบริการ พนักงานขาย ช่างเทคนิคต่างๆ เสมียน เจ้าหน้าที่ธุรการ เป็นต้น นอกจากนี้กรมการจัดหางานนำงบประมาณรวม 130 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อที่จะให้ผู้ที่ตกงานโดยเฉพาะผู้ที่หันไปประกอบอาชีพอิสระ รับงานไปทำที่บ้านได้กู้ แต่ต้องเป็นการรวมกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน 6 เดือนและสามารถกู้ได้ไม่เกิน 200,000 บาท โดยกำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี