Thai / English

สหภาพแรงงานโซนี่เรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้าง สิทธิคนงานเหมาช่วง และสิทธิคนงานตั้งครรภ์



16 .. 51
ประชาไท

14 ก.ค. 51 ที่บริษัทโซนี่เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี สหภาพแรงงานโซนี่ ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องกับผู้บริหาร เพื่อขอปรับสภาพการจ้างงานให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงการเรียกร้องสิทธิของคนงานประจำจำนวน 1,500 คน ที่เหลือประมาณ 3,500 คน เป็นพนักงานเหมาค่าแรง

สหภาพแรงงานโซนี่ ประเทศไทย ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการ โดยได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2550 และต่อมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 แกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงานฯ ถูกเลิกจ้างจำนวน 19 คน ในจำนวนนั้นเป็นผู้หญิง 18 คน พวกเขาได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจนได้รับกลับเข้ามาทำงานเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550

สหภาพฯแสดงความไม่พอใจถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงโดยคณะผู้บริหารฯ ในเดือนเมษายน 2551 ที่ผ่านมาพนักงานโซนี่ฯ จำนวนมากได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างจากเดิมเพียงวันละ 3 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะฝืดเคือง ซึ่งหมายความว่าทุกคนดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการต้องทำงานล่วงเวลา ในเวลาประมาณ 11.00 น. ตัวแทนคณะกรรมการสหภาพฯนำโดย นางสาวมณีรัตน์ อาจวิชัย ประธานฯสหภาพได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับบริษัทเมื่อ โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 9 ข้อดังนี้

ข้อเรียกร้องสหภาพแรงงาน โซนี่ ประเทศไทย ยื่นต่อ

บริษัทโซนี่ เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด (เฉพาะส่วนอมตะนคร)

ข้อที่ 1 ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานทุกคน ในเดือนธันวาคม ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และบวกเพิ่มพิเศษอีกคนละ 7,000 บาท

ข้อที่ 2 ขอให้บริษัทฯ เปลี่ยนวิธีจ่ายเบี้ยขยันให้กับพนักงานทุกคนจากเดิมเป็นดังนี้

ไม่หยุดงานเดือนที่ 1 - 600

ไม่หยุดงานเดือนที่ 2 - 700

ไม่หยุดงานเดือนที่ 3 ขึ้นไปจ่ายอัตราคงที่ - 800

ข้อที่ 3 ขอให้บริษัทฯ ปรับฐานเงินเดือนให้กับพนักงานดังนี้

พนักงานที่มีอายุงาน 5 ปีแต่ไม่ถึง 7 ปี - 6,500

พนักงานที่มีอายุงาน 7 ปีแต่ไม่ถึง 9 ปี - 7,000

พนักงานที่มีอายุงาน 9 ปีขึ้นไป - 7,500

ข้อที่ 4 ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าครองชีพให้กับพนักงานทุกคน คนละ 1,500 บาท ต่อเดือน

ข้อที่ 5 ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าทำฟันให้กับพนักงาน ปีละ 3,000 ต่อคน /ต่อปี

ข้อที่ 6 ขอให้บริษัทปรับค่าจ้างประจำ ให้กับพนักงานเป็น เปอร์เซ็นต์ ตามฐานเงินเดือน ไม่ต่ำกว่า 6 %

ข้อที่ 7 ในกรณีที่รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ให้บริษัทฯ ปรับเพิ่มค่าจ้างให้กับพนักงานทุกคนเท่ากับผลต่างของค่าจ้างที่รัฐบาลประกาศกำหนด

ข้อที่ 8 ขอให้บริษัทปรับเพิ่มเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังต่อไปนี้

พนักงานที่มีอายุงานไม่ถึง 3 ปี - 4%

พนักงานที่มีอายุงาน 3 ปีแต่ไม่ถึง 5 ปี - 5%

พนักงานที่มีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป - 6%

ข้อที่ 9 ขอให้บริษัทฯ และบริษัทเหมาค่าแรงที่นำลูกจ้างมาทำงานในบริษัทฯให้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานดังต่อไปนี้

9.1 กรณีพนักงานลาป่วยแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบัน จะต้องได้รับค่าจ้าง

9.2 ห้ามเลิกจ้างพนักงานหญิงเนื่องจากเหตุมีครรภ์

9.3 ในกรณีใช้สิทธิการลาหยุดผักผ่อนประจำปีไม่หมดในปีใดให้บริษัทฯ จ่ายคืนเป็นเงินให้กับพนักงานทั้งหมด

9.4 ขอให้บริษัทฯ จัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัยในทำงานให้เพียงพอและเหมาะสมต่อการใช้งาน

9.5 ให้นายจ้างปฏิบัติตามปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 11/1 วรรคสอง คือ ให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกับลูกจ้างสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ตัวแทน สหภาพฯ ได้ให้เหตุผลในการยื่นข้อเรียกร้องว่า ในประเด็นการขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายระบุ เป็นสิทธิที่แรงงานควรได้รับอย่างชอบธรรม และการลาล่วงหน้าที่ปกติจะแจ้งก่อน 7 วันนั้น พนักงานคิดว่าไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง ที่บางครั้งพนักงานอาจมีกิจธุระเร่งด่วน เช่นญาติพี่น้องไม่สบาย หรือเสียชีวิต จะต้องใช้สิทธิการลาพักร้อนในการแก้ปัญหาเหล่านั้น ทั้งนี้ปกติเมื่อพนักงานขอลาพักร้อนทางบริษัทกว่าที่จะอนุมัติก็ใช้เวลานานหรือไม่อนุมัติเลย

ในส่วนของการปรับโบนัสประจำปีนั้นทางกรรมการสหภาพเห็นว่า บริษัท โซนี่ เป็นบริษัทที่ทำการผลิตสินค้าด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็คทรอนิคส์แบรนด์เนมที่สวยหรู มีราคาแพง มียอดขายเป็นอันดับที่ ๑๒ ของโลก ซึ่งมีรายได้จากการขายในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าสองหมื่นล้านบาท เมื่อคนงานได้ทำงานอย่าขยันขันแข็งจงรักภักดีต่อบริษัท และทำให้บริษัทมีกำไรมหาศาล บริษัทก็ควรมีการตอบแทนให้กับคนงานอย่างเหมาะสม

สภาพการจ้างงานที่โหดร้ายมากก็คือการเลิกจ้างคนงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งก่อนการก่อตั้งสหภาพทางบริษัทได้นำมาใช้จนทำให้เกิดการหวาดกลัว คนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ต้องใส่กางเกงยีนส์เพื่อไม่ให้บริษัทได้รับรู้ว่าตนตั้งครรภ์ แต่เมื่อได้ก่อตั้งสหภาพฯ ขึ้น สหภาพได้ต่อสู้ไม่ให้บริษัทใช้มาตรการที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมนี้ต่อคนงานหญิง แต่การต่อสู้คุ้มครองสิทธิผู้ใช้แรงงานก็ยังครอบคลุมได้เพียงพนักงานที่ขึ้นตรงต่อบริษัทเพียงแค่ 30 % เท่านั้น แต่ในส่วนของคนงานในระบบจ้างเหมาค่าแรง ซึ่งมีจำนวนมากถึง 3,500 คน หรือ 70% ของคนงานทั้งหมดก็ยังต้องเผชิญกับความโหดร้ายนี้อยู่ สหภาพเรียกร้องให้บริษัทฯ และบริษัทเหมาค่าแรงที่นำลูกจ้างมาทำงานในบริษัทฯ ให้ทำตามกฎหมายแรงงานและหลักมนุษยธรรม ยุติการใช้มาตรการดังกล่าวต่อคนงานที่ตั้งครรภ์ตลอดไป