Thai / English

ก.แรงงานคุมเข้ม "นายจ้าง-ต่างด้าว" ยอดขึ้นทะเบียนหด



04 .. 51
กรุงเทพธุรกิจ

ก.แรงงานประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเดินหน้ากวาดจับนายจ้างและแรงงานต่างด้าวเถื่อน หลังสรุปยอดต่างด้าวต่ออายุทำงานลดลง 30% ลั่นไม่ขยายเวลาหลังหมดอายุตั้งแต่ 30 มิ.ย.

นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หลังจากที่มีการเปิดให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่มีใบอนุญาตการทำงานหมดอายุภายในวันที่ 30 มิ.ย.2551 ให้มาต่อใบอนุญาตการทำงานใหม่ และได้หมดเขตไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2551 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีตัวเลขแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติมาแจ้งดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตการทำงานทั้งสิ้นจำนวน 276,684 คน คิดเป็นร้อยละ 70.2 จากจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มาต่ออายุใบอนุญาตการทำงานเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2550 ทั้งหมด 394,443 คน โดยแบ่งเป็นสัญชาติพม่ามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 90 และสัญชาติลาว กัมพูชาตามลำดับ

ส่วนจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมาต่อใบอนุญาตการทำงานมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 48,000 คน สมุทรสาคร 37,000 คน เชียงใหม่ 28,000 คน สุราษฎร์ธานี 18,000 คน ภูเก็ต 13,000 คนตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขจะพบว่าแต่ละปีมักจะมีจำนวนหายไปร้อยละ 30 โดยสาเหตุหลักที่ไม่มาต่ออายุการทำงาน ได้แก่ มีการเดินทางกลับประเทศ และไม่กลับเข้ามาทำงานอีก บางรายมีการเปลี่ยนนายจ้างโดยที่ไม่มาแจ้งกับกรมการจัดหางาน ซึ่งกลุ่มดังกล่าวถือว่าสละสิทธิ์ ซึ่งในวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสุดท้ายของการต่ออายุใบอนุญาตการทำงาน และไม่มีนโยบายที่จะขยายเวลาออกไป

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ส่วนแรงงานที่หายไปไม่มาขึ้นทะเบียนร้อยละ 30 นั้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกรรมกรและแรงงานที่ยังหลบอยู่ใต้ดิน หรือทำงานอย่างผิดกฎหมาย ทางกรมการจัดหางานจะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กวดขันจับกุมนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตการทำงาน จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2521