Thai / English

ผู้พิพากษาอาวุโสไขปมพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 51


ผู้จัดการรายสัปดาห์
22 .. 51
ผู้จัดการ

ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแรงงานกลาง กล่าวถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 ซึ่งเริ่มใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคม นี้ ในงานสัมมนาที่จัดโดย มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ว่า การนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้ยังเป็นข้อถกเถียงในความชัดเจนของการตีความหมายเพื่อนำมาใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งในฐานะตนเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในศาลแรงงานจึงขออธิบายเพื่อให้กระจ่างชัดในบางมาตราดังนี้

มาตรา 11/1 กรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ

ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว

ในมาตรานี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่ง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแรงงานกลาง ให้ความเห็นว่า เนื่องจากมาตรานี้ยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่เกิดคดีตัวอย่างมาก่อนทำให้มีความลำบากใจในการทำงาน แต่ความเห็นส่วนตัวของตนการให้สวัสดิการกับผู้รับเหมาตามกฎหมายอย่างเท่าเทียบ ต้องมาพิจารณาถึงขอบเขตในกระบวนการผลิตซึ่งการควรบังคับใช้กับแรงงานที่อยู่ในสายการผลิตหลักตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่งรับผลิตภาชนะอลูมิเนียมมีการจ้างงานที่เป็นผู้รับเหมาในแผนกจัดส่งสินค้าและแผนกบรรจุหีบห่อ ซึ่งในความคิดของตนไม่จำเป็นต้องจ่ายสวัสดิการให้กับพนักงานรับเหมาในส่วนการผลิตนี้เพราะไม่ได้อยู่ในสายการผลิตหลัก ตรงข้ามกับพนักงานที่อยู่ในแผนกหลักของสายการผลิตเช่น แผนกดัดแผ่นอลูมิเนียม

มาตรา 17 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ในกรณีสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้าวหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน

ทั้งนี้ให้ถือว่าสัญญาทดลองงานเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย

สิ่งที่ผู้ประกอบการควรใส่ใจในส่วนของพนักงานทดลองงานเนื่องจากกฎหมายกำหนดคุ้มครองให้นายจ้างจ่ายเงินกับพนักงานทดลองงานเนื่องจากถือว่าบุคคลเหล่านี้ได้ทำงานให้กับบริษัท

มาตรา 23 ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันให้นำเวลาในส่วนที่เหลือไปรวมกับเวลาทำงานในวันทำงานปกติอื่นเกินวันละ 8 ชั่วโมง ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกินสำหรับลูกจ้างรายวันและรายชั่วโมงหรือไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามผลงาน

มาตรานี้อาจเป็นอีกประเด็นที่ทำให้ไม่เกิดความเท่าเทียมในการจ่ายค่าจ้างกับพนักงานรายเดือนในการทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง เพราะกฎหมายฉบับนี้คุ้มครองแรงงานรายวันและรายชั่วโมงให้รับค่าจ้างรายชั่วโมงไม่ต่ำกว่า1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย

มาตรา 115/1 นายจ้างต้องยื่นแบบแสดงสถานภาพการทำงานต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเดือนมกราคมของทุกปีและต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงภายในเดือนถัดไป

สำหรับผู้ประกอบการมาตรานี้เป็นเรื่องที่สร้างความยุ่งยากเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน การขึ้นเงินเดือน การลาออก ในแต่ละเดือนบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทำให้การแจ้งการเปลี่ยนแปลงในเดือนถัดไปหลังการเปลี่ยนแปลงอาจสร้างความลำบากให้กับผู้ประกอบการเนื่องจากต้องยื่นเรื่องให้กับกระทรวงทุกครั้ง