Thai / English

ข่าวประชาธรรม : เครือข่ายแรงงานเสนอรัฐแก้ปัญหาค่าแรงยุคข้าวยากหมากแพง



12 .. 51
ประชาไท

น.ส.สาธิตา หน่อโพ ผู้ประสานงานผู้ประสานงานโครงการสิทธิแรงงาน มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) กล่าวว่า ในภาวะข้าวยากหมากแพง แรงงานข้ามชาติก็ได้รับผลกระทบโดยภาพรวมไม่ต่างไปจากประชาชนทั่วไป เช่น ราคาอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น ราคาน้ำมันแพง เป็นต้น

“จากการสอบถามข้อมูลจากแรงานข้ามชาติ พบว่า แรงงานข้ามชาติเริ่มได้รับมีผลกระทบจากภาวะข้าวยากหมากแพง เพราะเมื่อก่อนค่าแรงที่ได้รับจากนายจ้าง แม้ว่าจะต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดแต่ก็ยังพออยู่กินได้ แต่ตอนนี้อะไรหลายๆ อย่างแพงขึ้น หากไม่มีการปรับค่าแรงขึ้น แรงงานข้ามชาติก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน” น.ส.สาธิตา กล่าว

น.ส.สาธิตา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีแรงงานข้ามชาติน้อยรายมากที่จะได้ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย และแม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2551 จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 2-11 บาท ตามอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพแต่ละพื้นที่จังหวัดแล้ว แต่ก็ต้องรอดูต่อไปว่าหลังจากที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำแล้ว นายจ้างจะปรับค่าจ้างให้กับแรงงานข้ามชาติหรือไม่ หากแรงงานไม่ได้รับการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าต้องได้รับความลำบากมากขึ้นในยุคข้าวบากหมากแพงเช่นนี้

ทั้งนี้ การที่แรงงานข้ามชาติไม่รู้ข้อมูล และไม่รู้กฎหมายแรงงาน ทำให้ถูกกดขี่ค่าแรงจากนายจ้างด้วย อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายควบคู่กันไป ทั้งตัวแรงงานข้ามชาติบางคนที่อาจรู้กฎหมายแรงงานแล้ว ก็ควรต้องลุกขึ้นมาบอกกับนายจ้างให้ปรับค่าแรงให้ ส่วนภาครัฐก็ต้องเข้ามาดูแลให้นายจ้างปฏิบัติกับลูกจ้างตามกฎหมายอย่างควบคู่กันไป และตัวนายจ้างก็ควรต้องเห็นคุณค่าของกำลังแรงงานข้ามชาติว่ามีส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค และเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจ เป็นต้น

“ความจริงนายจ้างต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน หมายความว่า นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดแก่ลูกจ้างทุกคนไม่ว่าจะเป็นแรงงานชาติไหนก็ตาม แต่ภาครัฐก็ต้องเข้ามาเข้มงวดในการดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกลไกของกฎหมายด้วย เพราะยังมีนายจ้างไม่ทำตามกฎหมายแรงงานและเลือกปฏิบัติ และกดขี่ค่าแรงกับแรงงานข้ามชาติ” น.ส.สาธิตา กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ประสานงานผู้ประสานงานโครงการสิทธิแรงงาน มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวต่ออีกว่า จากการศึกษาข้อมูลแรงงานข้ามชาติ พบว่า ในระยะหลังมานี้ นายจ้างเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายค่าแรงจากการจ้างแรงงานรายวัน มาเป็นแบบเหมาจ่าย จ้างทำของ หรือจ้างเหมาช่วง เพื่อหลีกเลี่ยงการให้สวัสดิการแก่แรงงานด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีแรงงานข้ามชาติที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแรงงานก่อสร้างโครงการสร้างหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้รับค่าจ้างทำงานแบบเหมาค่าแรง ซึ่งมีผลกระทบคือ เป็นงานเหมาจ่ายที่ไม่มีสัญญาการจ้างงาน ทำให้ลูกจ้างไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้เงิน หรือต้องทำงานแค่ไหนจึงจะเป็นที่พอใจของนายจ้าง

นายจายยอด แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเข้ามาเป็นแรงงานที่ประเทศไทยได้ประมาณ 5 ปี แล้ว โดยมีบัตรอนุญาตทำงานจากกรมแรงงาน ปัจจุบันทำงานรับจ้างเก็บรถเข็นอยู่ที่ห้างค้าปลีกแห่งหนึ่งได้ 7 เดือนแล้ว โดยเริ่มงานตั้งแต่ 15.00-24.00 น. ได้รับค่าจ้างวันละ 179 บาท มีวันหยุดพักอาทิตย์ละ 1 วัน แต่หากทำโอทีในวันหยุดด้วยก็จะได้รับค่าแรง 29.81 บาท/ชั่วโมง ซึ่งการทำโอทีนั้นขึ้นอยู่กับนายจ้างเป็นผู้จัดให้

นายจายยอด กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ข้าวของแพงขึ้น ก็ได้รับผลกระทบมาก ทำให้ค่าใช้มีค่าจ่ายมากขึ้น ทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำมัน และค่าเช่าห้องพัก ก็ปรับราคาขึ้นด้วย เพราะจากเดิมจ่ายค่าเช่าแบบเหมารวมค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า 1,300/เดือน แต่ตอนนี้ ต้องจ่ายค่าห้อง 1,300 บาท แยกกับค่าน้ำ และไฟฟ้า ซึ่งรวมแล้วเพิ่มเป็น 1,400–1,500 บาท/เดือน แต่ก่อนยังพอมีเงินเหลือเก็บจากเงินเดือน แต่ตอนนี้ไม่มีเหลือเลย เงินเดือนที่ได้ก็พอดีใช้ในแต่ละเดือนเท่านั้น ถ้าหากไม่ประหยัดก็คงไม่พอ

“ช่วงนี้ลำบากเพราะเงินเดือนที่ได้ก็ไม่ค่อยเพียงพอกับราคาสินค้าที่ต้องจ่ายแพงขึ้น นายจ้างก็ลดคนงาน เพราะมีคนมาซื้อของน้อยลง โอทีก็ได้ทำน้อยลง ตอนนี้กำลังมองหางานเสริม เพราะยังมีเวลาว่างในตอนเช้า แต่ก็ยังหางานไม่ได้” นายจายยอด กล่าว

นายจายยอด กล่าวอีกว่า สำหรับเพื่อนแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ ซึ่งทำงานอยู่ที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่านายจ้างให้ค่าแรงแค่วันละ 140 บาท แต่ก็ไม่กล้าขอให้นายจ้างเพิ่มเงินค่าแรง เพราะเจ้านายบอกว่าตอนนี้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

“เพื่อเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนายจ้างจะจัดที่พักให้ลูกจ้างอยู่ฟรี ไม่ต้องเสียค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า แต่ตอนนี้นายจ้างขอให้ลูกจ้างช่วยเสียค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ให้ด้วย ส่วนค่าแรงยังได้เท่าเดิม พอเป็นแบบนี้เพื่อนหลายคนก็ทนไม่ไหว ต้องออกไปหางานใหม่” นายจายยอด กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายศรีทล เปรื่องวิชาธร ตัวแทนพนักงานบริษัทโฮย่า กลาสดิสต์ ในฐานะแกนนำสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ค่าครองชีพในปัจจุบันที่สูงขึ้นในทุกๆ ด้าน ทั้งน้ำมัน ข้าวสาร แต่ค่าแรงของพนักงานที่นี่ยังคงเท่าเดิมคือวันละ 152 บาท และคิดว่าแรงงานอีกหลายๆ ที่ก็คงมีสภาพไม่ต่างกัน ที่ผ่านมาทาง สอฟส.เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความเป็นธรรมจากรัฐและนายจ้าง แต่ถึงวันนี้แทบไม่มีเรื่องใดคืบหน้า

“ค่าแรงเราวันละ 152 บาทเท่าเดิม แต่ตอนนี้สินค้าหลายอย่างแพงขึ้น แรงงานจำนวนมากจึงหากทางออกด้วยการทำโอที และไม่ต้องพูดถึงเรื่องระบบสามแปด คือทำงานวันละ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และหาความรู้อีก 8 ชั่วโมง สิ่งเหล่านี้ทำไม่ได้เลย หากเราทำงานวันละ 8 ชั่วโมงเราก็อยู่ไม่ได้ เราจึงต้องทำโอทีจนปัจจุบันแรงงานไทยมีระยะเวลาทำงานต่อวันสูงที่สุดในโลก คือวันละ 12 ชั่วโมง จนแทบไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่มีเวลาให้ครอบครัว และหากยังเป็นอย่างนี้ในอนาคตเราคงต้องทำงานมากกว่าวันละ 12 ชั่วโมงแน่” นายศรีทล กล่าว

นายศรีทล กล่าวต่อไปว่า นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่มีหน่วยงานใดไม่ว่ารัฐหรือนายจ้างแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือนายจ้างยังเข้มงวดกับแรงงาน บังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ กับแรงงานขึ้นมาอีก แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมานั้นนับว่าแรงงานสามารถต่อรองกับนายจ้างได้บ้าง