Thai / English

ลูกจ้าง2ล้านคน"อ่วม" รายได้แค่5พันลำบาก



18 .. 51
เครือมติชน

รถร่วม"ขสมก."พอรับได้ขยับรถร้อนขึ้น 1.50 บาท เล็งขอ รบ.ช่วยลดภาษีติดตั้งเอ็นจีวี กลุ่มค้านขู่ฟ้องศาลปกครองระงับปรับ อธิบดี"กสร."ชี้ลูกจ้างรายได้ต่ำ 8 พันบาทกว่า 2 ล้านคนลำบากแน่ เสนอรัฐลดภาษีนายจ้างจัดสวัสดิการให้ลูกจ้าง นักวิชาการแนะเพิ่มภาษีคนรวยไปช่วยคนจน ดันเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวาระแห่งชาติ แบงก์เผยสินเชื่อบุคคลเกิน 3 เดือนค้างชำระพุ่ง

@ รถร่วมรับได้ปรับขึ้น1.50บาท

ความคืบหน้าสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน เรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าโดยสารรถร้อนอีก 2.50 บาท จากเดิม 8.50 บาท ขึ้นเป็น 11 บาท รถปรับอากาศปรับขึ้นระยะละ 2 บาท แต่กระทรวงคมนาคม เห็นด้วยที่จะให้ ขสมก.ปรับราคาค่าโดยสารให้กับรถร่วมโดยสาร ขสมก. และรถ ขสมก.เพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาท/คน/เที่ยว ซึ่งจะทำให้ราคาค่าโดยสารรถร้อนครีมแดงจาก 8.50 บาท เป็น 10 บาท รถครีมน้ำเงินจาก 7.50 บาท/คน เป็น 8.50 บาท/คน ส่วนรถปรับอากาศ เห็นควรให้เพิ่มขึ้น ช่วงละ 1 บาท จากเดิม 14-26 บาท เป็น 15-27 บาท โดยเตรียมเสนอให้คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ที่มีนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ เพื่อมีมติอย่างเป็นทางการออกมาก่อนนั้น

นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ถึงการปรับอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะในส่วนของรถ ขสมก.และร่วม ขสมก. ว่าต้องรอผลการประชุมของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ก่อน แต่ในส่วนของสมาคมยืนยันว่าน่าจะได้รับการพิจารณาปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นในส่วนของรถร้อน จำนวน 1.50 บาท เนื่องจากที่ผ่านมารถร่วมไม่ได้ปรับราคาค่าโดยสารมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 27 บาทต่อลิตร ขณะที่ขณะนี้อยู่ที่ 34-35 บาทต่อลิตรแล้ว ในส่วนของรถปรับอากาศซึ่งถือว่าเป็นรถทางเลือกหากปรับให้ช่วงละ 1 บาท ก็ถือว่าเป็นอัตราที่น่าพอใจ

"ทางสมาคมจะขอดูผลการประชุมก่อน เพราะในส่วนที่ขอคือ รถร้อน 2.50 บาท แต่อัตรา 1.50 บาทนั้น ก็ยังอยู่ในระดับที่พอรับได้ แต่รัฐบาลคงจะต้องมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากแต่ยืนยันว่าไม่มีการหยุดการเดินรถเพื่อเป็นการประท้วงอย่างแน่นอน"

@ เล็งขอรบ.ลดภาษีติด"เอ็นจีวี"

นายฉัตรชัยกล่าวว่า สมาคมมีความกังวลในนโยบายของนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีนโยบายให้ ขสมก. ซื้อรถเอ็นจีวี จำนวน 6,000 คัน เนื่องจาก หาก ขสมก.ดำเนินการดังกล่าว ผู้ประกอบ การเอกชนอาจจะต้องปิดกิจการลง เพราะไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนได้ขอให้ทางรัฐบาลช่วยในเรื่องการปรับปรุงรถร่วมถึงการติดก๊าซเอ็นจีวีเพื่อลดต้นทุน แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน

"ทางสมาคมจะจับตาดูนโยบายดังกล่าวว่า ขสมก.จะนำรถจำนวนดังกล่าวมาทำเองหรือจะแบ่งกับภาคเอกชนเพราะหากทำเองทั้งหมดก็เท่ากับว่ารัฐบาลทำลายภาคเอกชน ซึ่งไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน เพราะ ขสมก.ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่เอกชนไม่ได้รับการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีในการนำเข้าเครื่องยนต์ และการให้อัตราดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงในการเปลี่ยนเครื่องเอ็นจีวี ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้จะมีการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว" นายฉัตรชัยกล่าว

@ ปชป.ห่วงคนจนแนะออกคูปอง

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรค กล่าวถึงการปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาท ว่าพรรคเห็นว่าการปรับขึ้นค่าโดยสารจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการอย่างมาก ทั้งนี้ เหตุผลในการขอปรับราคา อาทิ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และรัฐบาลได้เพิ่มค่าครองชีพให้ข้าราชการไปแล้วร้อยละ 5 และ 6 นั้น คิดว่าถ้า รมช.คมนาคมใช้เหตุผลนี้ ก็จะต้องคำนึงถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคารถโดยสารด้วยว่า ไม่ได้มีเฉพาะข้าราชการ แต่ยังมีประชาชนที่เป็นลูกจ้างกินเงินเดือน หาเช้ากินค่ำ รับจ้าง มีจำนวนมากกว่าข้าราชการเสียอีก

"ดังนั้น คิดว่ารัฐบาลจะต้องหาทางเพิ่มมาตรการดูแลประชาชนที่ยากจนจำนวนมาก ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่ให้ได้รับผลกระทบ และเห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณามาตรการในการออกคูปอง หรือออกตั๋วเป็นรายเดือน รวมทั้งมาตรการในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนด้วย" โฆษก ปชป.ระบุ

@ กลุ่มค้านขู่ฟ้องศาลปค.ระงับขึ้น

ขณะที่นายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข ประ ธานเครือข่ายคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถยนต์โดยสารสาธารณะ กล่าวว่า หากวันที่ 20 พฤษภาคม มีการอนุมัติให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคารถโดยสาร กลุ่มเครือข่ายจะฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ระงับการปรับขึ้นค่าโดย สารที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้จะดำเนินการตามมาตรการทางสังคมเพื่อลงโทษผู้เกี่ยวข้องด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปย่านตลาดประชานิเวศน์พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่ารถโดยสารเนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ยอมรับว่าการปรับราคาค่าโดยสารครั้งนี้ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงเกินไป ซึ่งจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ขณะนี้ไม่สอดรับกับรายได้ พร้อมทั้งเสนอว่าควรมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นและเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง

นางลำพูล คลังทอง แม่ค้าขายอาหาร กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับราคาค่าโดยสารเนื่อง จากผู้ประกอบการเองได้รับผลกระทบเรื่องราคาน้ำมัน หากไม่มีการปรับขึ้นเกรงว่าจะบริหารงานไม่ได้และส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปติดต่อทำธุระของประชาชน แต่ยอมรับว่าส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน

นางสาวน้ำผึ้ง มากพงษ์ อาชีพรับจ้างทั่วไป กล่าวว่า ยอมรับได้กับการปรับขึ้นค่าโดยสาร แต่ก็ส่งผลกระทบมากเช่นเดียวกันในเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องการเสนอว่าให้มีการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น พร้อมทั้งแนะว่าถ้าต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายจุดนี้ควรเปลี่ยนการเดินทางใหม่ เช่น เมื่อเดินทางระยะใกล้ให้เปลี่ยนจากรถโดยสารหรือมอเตอร์ไซค์เป็นการปั่นจักรยานหรือเดินแทน

@ กสร.ชี้ลูกจ้าง2ล้านคนจุกแน่

วันเดียวกัน นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ให้สัมภาษณ์ถึงผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 8,000 บาทต้องอยู่อย่างลำบาก เพราะมีรายจ่ายมากกว่ารายได้เนื่องจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นว่า ต้องยอมรับว่าในส่วนของลูกจ้างที่มีรายได้จากค่าจ้างขั้นต่ำย่อมประสบความลำบากแน่ เพราะมีรายได้แค่เดือนละ 4,000-5,000 บาท ซึ่งคนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน แต่อีก 20 ล้านคน ที่เป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ารายได้เป็นอย่างไร เพราะอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย

นายผดุงศักดิ์กล่าวว่า ดังนั้น รัฐบาลต้องช่วยเรื่องสวัสดิการและลดค่าครองชีพต่างๆ เช่น การควบคุมราคาสินค้าเพื่อให้คนกลุ่มนี้ซื้อในราคาถูก ขณะเดียวกันนายจ้างก็ต้องช่วยดูด้วยว่าจะจัดสวัสดิการอะไรได้บ้างให้กับลูกจ้าง

"ถึงเวลาที่นายจ้างต้องใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่จะบอกให้นายจ้างช่วยฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้ เพราะเขาก็เสียภาษีเหมือนกัน ดังนั้น รัฐควรลดภาษีให้เมื่อนายจ้างช่วยเหลือจัดสวัสดิการลูกจ้าง เช่น เมื่อนายจ้างจัดที่พักให้ ก็ไม่ควรคิดภาษีรายได้จากหอพัก" นายผดุงศักดิ์กล่าว

@ นักวิชาการจี้เก็บภาษีคนรวยช่วย

นายยงยุทธ แฉล้มวงศ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า คนที่มีรายได้จากค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะมีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับราวเดือนละ 2,000 บาท และรายได้ต่อวันควรอยู่ที่ 260 บาท ถึงพอเพียงกับค่าครองชีพของลูกจ้างคนเดียว ดังนั้น ตอนนี้คนกลุ่มนี้จึงต้องลำบาก ดังนั้น น่าจะหาวิธีช่วยเหลือด้านค่าครองชีพโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายคนที่มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ

นายยงยุทธกล่าวว่า การทำโครงการพิเศษนี้ เพื่อสนับสนุนเงินเพิ่มเหมือนที่รัฐบาลกำลังช่วยข้าราชการและรัฐวิสาหกิจระดับล่าง แต่ต้องมีหลักฐานการช่วยเหลือ เพราะภาคเอกชนมี ข้อจำกัด จะบังคับให้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกคงลำบากเพราะขณะนี้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงอยู่แล้ว และกำลังเป็นปัญหาอยู่ หากไปบังคับนายจ้างอาจทำให้ลูกจ้างต้องออกจากงานเพิ่มขึ้น

"โครงการพิเศษนี้ควรเอารายได้จากการเพิ่มภาษีของคนรวย เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ที่ต้องเก็บภาษีสูงๆ โดยเฉพาะที่ดินที่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ จึงควรเก็บภาษีตรงนี้เอามาช่วยคนจนดีกว่า เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น" นายยงยุทธกล่าว

@ ดันเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวาระชาติ

นายยงยุทธกล่าวว่า ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริง เพราะลูกจ้างมีรายจ่ายมากกว่า แต่จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงนั้น จะ ต้องกำหนดเป็นแผนการระยะยาว โดยระบุให้ชัดเจนว่าจะทำให้ค่าจ้างพื้นฐานทันกับค่าครองชีพ โดยปีใดจะเพิ่มค่าจ้างขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้นักลงทุนได้รับรู้ล่วงหน้าว่าควรลงทุนอย่างไร ควรใช้เทคโนโลยีมากกว่าการใช้แรงงาน

"เรื่องนี้ควรวางแผนให้ชัดเจน 5 ปีหรือ 10 ปี กระทรวงต่างๆ ต้องช่วยกันคิด ไม่ใช่ทำงานกันไปคนละทางสองทาง ควรทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติเพราะมีความจำเป็นจริงๆ เราต้องมองให้ลึกไปยังกลุ่มต่างๆ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 8,000 บาท ว่ามีจำนวนแค่ไหน และอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัด เพราะถ้าอยู่ในเมืองเขาลำบากแน่นอน" นายยงยุทธกล่าว

@ สินเชื่อบุคคลไตรมาสแรกชะลอตัว

รายงานข่าวจากบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม 2551) สินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการอนุมัติมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ขอสินเชื่อในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ และผู้บริโภคที่กำลังเผชิญกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้เข้มข้นอยู่แล้ว สำหรับยอดบัญชี ณ สิ้นไตรมาสแรก มีทั้งสิ้น 10,846,204 บัญชี คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากที่มีการเติบโตร้อยละ 9.9 ในปี 2550

ด้านยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลไตรมาส 1 ปี 2551 ชะลอตัวลงโดยมีมูลค่าประมาณ 206,552 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.8 ในปี 2550 สาเหตุของการชะลอตัวของยอดสินเชื่อคงค้างส่วนบุคคลที่ชะลอตัวลงส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์มีการตัดบัญชีหนี้สูญออกจากระบบเร็วขึ้น

@ หนี้บุคคลเกิน3เดือนค้างชำระพุ่ง

"ส่วนยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป มีมูลค่าประมาณ 9,580 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.1 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 31.7 ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม ยังคงอยู่ในระดับที่สูง และเมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป กับยอดสินเชื่อรวม พบว่าในไตรมาส 1 ปี 2551 ยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 4.6 ของยอดสินเชื่อคงค้าง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ในปี 2550"

ทั้งนี้ สาเหตุของการขยายตัวของยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงนั้นน่าจะมาจากผู้บริโภคเผชิญกับภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคบางรายประสบกับปัญหาสภาพคล่อง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อได้