Thai / English

ถามหามาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำ ถามหามาตรฐานคุณภาพ


โดย ภาสกร จำลองราช padsakorn@hotmail.com
05 .. 51
เครือมติชน

แล้วปีนี้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานก็ยังคงต้องวิ่งไล่ตามตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนทุกๆปีที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำระหว่าง 2-11 บาท แต่ตัวเลขที่อ้างว่าพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้วนี้ ยังชวนให้สับสนอยู่มาก โดยเฉพาะใครที่ติดตามดูตัวเลขการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละปี จะสังเกตหามาตรฐานที่แน่นอนไม่ได้เลย แม้จะคณะกรรมการค่าจ้างจะอ้างถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของแต่ละจังหวัด แต่เอาเข้าจริงๆ ผลที่ออกมานี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เช่นนั้นจริงหรือไม่

ระบบโครงสร้างการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ถือว่าเก่าแก่มาก เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2516 ในรูปแบบคณะกรรมการไตรภาคีซึ่งประกอบด้วยผู้แทนราชการ ลูกจ้างและนายจ้างฝ่ายละ 5 คน ซึ่งในอดีตการปรับค่าจ้างขั้นต่ำถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และชวนสยองใจสำหรับฝ่ายการเมืองและข้าราชการ เพราะถูกขบวนการแรงงานออกมาเคลื่อนไหวและกดดันเรื่อยมา

แม้ระยะหลังการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศจะรุดหน้าไปตามลำดับ แต่รูปแบบการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำยังคงเหมือนเดิม คือเป็นการต่อรองเรื่องตัวเลขที่ไม่ได้สะท้อนความจำเป็นในชีวิตจริงของลูกจ้าง เพราะตัวเลขที่ใช้เป็นฐานคิดต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ไม่มีใครกล้ารื้อฐานนี้ เพราะหวั่นเกรงผลกระทบต่อทุน ทั้งทุนเก่าของนายจ้างที่ลงไปแล้วอาจส่งผลต่อกิจการ และทุนใหม่ที่พยายามใช้แรงงานราคาถูกล่อตาล่อใจซึ่งเชยมากๆ

หากแยกแยะตัวเลขของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประจำปี 2551 ซึ่งปรับเพิ่มให้ทุกจังหวัด แตกต่างจากปีก่อนๆ พบว่ามี 62 จังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ไม่ถึงวันละ 170 บาท และในจำนวนนี้มี 47 จังหวัดได้ไม่ถึงวันละ 160 บาท นั่นหมายความว่า ตัวเลขที่ปรับเพิ่มให้วันละ 8-11 บาท มีพื้นที่ที่ได้รับอานิสงส์จริงๆ ไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มจังหวัดในกลุ่มกรุงเทพฯและปริมณฑล

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับในอัตรานี้นั้นน่าจะเป็นเรื่องของการชดเชยที่ครั้งก่อนๆ ได้ปรับน้อย ดังนั้น ปีนี้จึงเพิ่มให้มาก แต่เมื่อดูตัวเลขสำเร็จ ก็ยังไม่ติดอยู่ในกลุ่มบนของค่าจ้าง (ดูตารางประกอบ) เช่น กรณีจังหวัดอุบลราชธานี ปีนี้ได้รับการปรับเพิ่ม 9 บาท แต่เมื่อรวมกับฐานเดิมที่ได้วันละ 145 บาท ทำให้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำแค่วันละ 154 บาท ซึ่งไม่ได้สูงอะไรเลย

เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราค่าจ้างในกลุ่มจังหวัดที่ได้รับสูงสุดคือวันละ 203 บาท แตกต่างจากจังหวัดที่ได้รับต่ำสุดวันละ 148 บาทคือชัยภูมิ ถึง 55 บาท ขณะที่ค่าครองชีพและราคาข้าวของที่แพงขึ้นของทั้ง 2 พื้นที่มีความแตกต่างกันมากมายขนาดนั้นเชียวหรือ

เมื่อเทียบเคียงตัวเลขในจังหวัดที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกันยิ่งเห็นถึงมาตรฐานอันสับสนของการปรับค่าจ้างในครั้งนี้ โดยที่อีสานใต้ โคราชได้ปรับค่าจ้าง 5 บาท แต่อุบลราชธานีได้ 9 บาท และอำนาจเจริญได้ 8 บาท ส่วนภาคใต้ตอนล่าง ปัตตานี และยะลา ซึ่งเคยอยู่กลุ่มเดียวกับนราธิวาส แต่ปีนี้ 2 จังหวัดแรกได้เพิ่ม 7 บาท แต่นราธิวาสได้ 5 บาท ขณะที่จังหวัดใหญ่อย่างสงขลาได้แค่ 5 บาท ซึ่งหากเอามาตรฐานเรื่องค่าครองชีพมาพิจารณา จะให้คำตอบถึงหลักเกณฑ์กันอย่างไร

ที่พิลึกพิลั่นเช่นเดียวกันคือกลุ่มจังหวัดที่ได้ปรับน้อยสุดเพียงแค่ 2 บาท คือสุโขทัย อุตรดิตถ์ และชัยภูมิ ซึ่งในปีที่แล้วทั้ง 3 จังหวัดก็ไม่ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเลย แต่ปีนี้กลับยังได้จิ๊บจ๊อย ผิดกับเชียงรายซึ่งปีที่แล้วไม่ได้ปรับเพิ่มเลยเช่นกัน แต่ปีนี้ก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นถึง 11 บาท ขณะที่จังหวัดที่อยู่รายรอบต่างได้รับค่าจ้างใหม่มากกว่าเดิมไม่น้อยกว่า 4 บาททั้งสิ้น ครั้นจะอ้างว่าเป็นข้อเสนอที่อนุกรรมการจังหวัดมีมติกันเช่นนี้ก็ไม่ได้ เพราะอนุกรรมการฝ่ายลูกจ้างสุโขทัยก็ออกมาให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่าขอไป 5 บาท แต่กลับได้แค่ 2 บาท

คำตอบจึงอยู่ในสายลม

ลองตั้งคำถามกันต่อไป อย่างที่ภูเก็ตปีนี้ปรับเพิ่มให้ 4 บาท แต่จังหวัดแถบอันดามัน ไม่ว่าจะเป็นกระบี่ พังงา หรือแม้แต่ระนอง ต่างได้ปรับการปรับเพิ่ม 5-6 บาททั้งสิ้น ถ้าเอาหลักเกณฑ์มาตรฐานค่าครองชีพมาจับแล้วคงตอบยาก จริงอยู่แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภูเก็ตได้ปรับเพิ่มค่าจ้างสูงกว่าจังหวัดในย่านเดียวกัน แต่เป็นเหตุผลที่เหมาะสมแล้วหรือที่ครั้งนี้ภูเก็ตถูกดองให้ได้เพิ่มเพียงแค่ 4 บาท เพราะยิ่งทำให้ห่างชั้นจากกลุ่มระดับบนของค่าจ้างมากขึ้น ทั้งๆ ที่มีสภาพเศรษฐกิจไม่แตกต่างกันมากนั้น

มองไปที่ภาคตะวันออก ระยองได้ปรับเพิ่ม 8 บาท แต่ชลบุรีซึ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเช่นเดียวกันกลับได้เพียง 5 บาท ขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงคือตราดและนครนายกได้เพิ่ม 6 บาท ซึ่งชวนสับสนไม่แตกต่างกับ 3 จังหวัดภาคกลางตอนล่าง โดยเพชรบุรีซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างราชบุรีกับประจวบฯ แต่ปรากฏว่าเพชรบุรีได้ปรับเพิ่มค่าจ้างเพียง 4 บาท ขณะที่ราชบุรีและประจวบฯปรับเพิ่ม 8 บาท

อย่างที่บอกไว้ในตอนต้นว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่สอดรับกับความเป็นจริงของชีวิตลูกจ้าง เพราะค่าใช้จ่ายประจำวันสูงกว่า 200 บาทมาก ยิ่งตอนนี้ทุกอย่างรอบตัวต่างปรับเพิ่มกันหมด หากคำนวณจากฐานที่รัฐบาลยุคทักษิณคิดไว้สำหรับลูกจ้างภาคราชการที่ระบุว่าจะอยู่ได้ต้องมีรายรับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 7,000 บาท หรือเฉลี่ยต้องมีรายได้วันละ 233 บาท

แล้วอย่างนี้ลูกจ้างจะอยู่กันอย่างไร

ทุกวันนี้การคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำคิดไว้สำหรับลูกจ้างเพียง 1 คน แต่สภาพความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่นอกจากเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแล้ว ผู้ใช้แรงงานยังต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วย ซึ่งลูกจ้างกลุ่มหนึ่งเคยรวบรวมข้อมูลรายจ่ายประจำวัน พบว่าพวกเขาต้องหารายได้ให้ได้เกือบ 300 บาท จึงจะสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปรอด

ทุกวันนี้ลูกจ้างจึงต้องหวังพึ่งอยู่กับการทำงานนอกเวลา ทำให้คุณภาพชีวิตยิ่งย่ำแย่ไปอีก

คิดแล้วก็ชวนเศร้าใจ แต่ไหนแต่ไรมา เราได้ยินแต่คำโฆษณาว่าการพัฒนาอุตสาหกรรม จะทำให้แรงงานมีงานทำและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ซึ่งหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้คนในชนบทต่างทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนจากภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นทุนใหญ่ที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในเมืองและภาคอุตสาหกรรม แต่บทสุดท้ายคุณภาพชีวิตกลับไม่ได้ดีขึ้นเลย และยังต้องวิ่งไล่ตามตัวเลขกันทุกปี แต่วิ่งอย่างไรก็วิ่งไม่ทัน

ยามนี้พอข้าวยากหมากแพงและเกิดความตึงเครียดในสถานการณ์ด้านอาหารของโลก บางคนถึงหวนคิดถึงทุนเดิม แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะปฎิรูประดับโครงสร้าง

ถึงเวลาหรือยังที่ผู้บริหารประเทศต้องทบทวนโจทย์ใหญ่ ทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของคนก้าวนำตัวเลขได้บ้าง