Thai / English

ก่อม็อบใหญ่กดดัน20พ.ค. "233บาท" ทั่วประเทศ

หลายจว.จี้กก.ค่าจ้างทบทวน "สมัคร"รับขึ้นเงินเดือนทหาร

05 .. 51
เครือมติชน

แรงงานสมานฉันท์นัดม็อบใหญ่ 20 พ.ค. ยันให้ขึ้นค่าแรงทั่ว ปท.เท่ากัน 233 บาท/วัน ชี้สินค้ายังขึ้นราคาเดียวกัน "สุโขทัย-อุตรดิตถ์"โวย ขึ้นทำไมแค่วันละ 2 บ. เตรียมถก กก.ค่าจ้างทบทวนใหม่ อยุธยาขอขึ้นเท่า กทม. เผยเกณฑ์ปรับค่าแรงสับสน เหลื่อมล้ำเห็นได้ชัด มีถึง 47 จว.ได้ไม่ถึง 160 บาท ขณะที่"เชียงราย"ขึ้นสูงสุดวันละ 11 บ.

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามประชาชนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าตอบแทนให้ข้าราชการและบุคลากรของรัฐ ผ่านรายการ "สนทนาประสาสมัคร" ว่า ได้รับจดหมายจากลูกจ้างในส่วนราชการเขียนมาเล่าให้ฟังว่าได้รับเงินเดือนเพียง 4,100 บาท ขณะที่แรงงานขั้นต่ำได้เดือนละ 6,000 บาท และเวลาที่รัฐบาลประกาศขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ก็ไม่เคยได้รับอานิสงส์ ดูแล้วน่าสงสารมาก ดังนั้น หลังจาก นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กลับจากต่างประเทศ คงต้องมาพูดจากัน เช่นเดียวกับบัญชีเงินเดือนของข้าราชการทหารที่ไม่เท่ากับบัญชีข้าราชการพลเรือน ก็จะต้องไปดูให้เท่าเทียมกัน

@ ม็อบใหญ่ร้องขึ้น233บ.ทั่วปท.

นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อมูลราคาสินค้า โดยจะรวบรวมให้เสร็จในวันที่ 13 พฤษภาคม และแถลงข่าวในวันที่ 18 พฤษภาคม ก่อนที่จัดการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 20 พฤษภาคม เพื่อให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากเห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่ผ่านมา 2-11 บาททั่วประเทศ ไม่เหมาะสม หากดูจากอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พุ่งสูงถึงระดับ 6.2% ดังนั้น ต้องปรับขึ้นค่าแรงอย่างน้อย 12 บาท โดยยังยืนยันข้อเรียกร้องเดิมให้ปรับขึ้นเป็น 233 บาท เท่ากันทั่วประเทศ และให้มีมาตรการในการควบคุมราคาสินค้า

"จากข้อมูลของกลุ่มพบว่าการขึ้นราคาสินค้าปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ จึงต้องรวบรวมข้อมูลของแต่ละจังหวัด เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง โดยการปรับขึ้นค่าจ้าง ควรให้สอดคล้องกับความเป็นจริง" นางวิไลวรรณกล่าว

@ "อุตรดิตถ์-สุโขทัย"ให้ทบทวน

นายวิรัตน์ วิรัชพงษ์ ส.ส.สุโขทัย เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงโดยที่ไม่ขอข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่จริง โดยอ้างอิงจากอนุกรรมการประจำจังหวัดที่รีบทำขึ้น ส่งข้อมูลที่มีผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน

นายยงศักดิ์ อัครชัยพันธุ์ คณะอนุกรรมการผู้ใช้แรงงานขั้นต่ำ จ.สุโขทัย กล่าวว่า คณะอนุกรรมการจังหวัดสุโขทัยที่มีตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วจึงมีมติให้เพิ่มค่าแรงอีก 2 บาท ซึ่งน้อยกว่าจังหวัดใกล้เคียงซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ได้ขึ้น 3 บาท เนื่องจาก จ.สุโขทัย ส่วนมากประชาชนจะทำการเกษตร

ด้านนายวันชัย สุทิน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 149 บาท เป็น 151 บาท หรือขึ้นจากเดิม 2 บาท น้อยกว่าจังหวัดใกล้เคียงเพียง 1 บาทเท่านั้น แต่ถ้าผู้ใช้แรงงานหรือคณะอนุกรรมการต้องการที่จะขอเพิ่ม ทางจังหวัดก็พร้อมจะส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการกลางพิจารณาทบทวนต่อไป

นายอัษฎางค์ สีหาราช ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับแรงงานแล้ว ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าการปรับค่าแรงแค่ 2 บาท สู้ไม่ต้องปรับดีกว่า สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สนใจปัญหาปากท้องและความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง จากนี้จะประสานกับคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้งแรงงานอีกครั้ง โดยจังหวัดควรเชิญนายจ้างและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อหาข้อยุติการปรับค่าจ้างที่ต้องมากกว่า 2 บาท เพื่อเสนอคณะกรรมการส่วนกลาง หากเป็นไปได้ต้องการให้ปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ

@ พปช.อุตรดิตถ์เมินช่วยประสานงาน

ด้านนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 2 บาท เทียบกับเขตปริมณฑลที่ได้ขึ้น 9 บาท น่าจะสมน้ำสมเนื้อกัน และยังไม่ได้รับการประสานงานจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานใน จ.อุตรดิตถ์ หน่วยราชการและนายจ้างว่าจะให้ช่วยเหลือด้านใดบ้าง อย่างไรก็ตาม การให้ตนเข้าประสานงานเรื่องนี้จะไม่เหมาะสม เพราะไม่ได้เป็นคณะกรรมการพิจารณาเพิ่มค่าแรง อาจถูกมองได้ว่าไปก้าวก่ายงาน แต่หากมีการประสานมาก็พร้อมที่จะเสนอข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการพิจารณาค่าแรง หรือรัฐบาล

@ อยุธยาโวยได้น้อย-ขอเท่ากทม.

นายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จังหวัดมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 8 บาท ถือว่าน้อยเกินไปไม่ตรงต่อสภาพเศรษฐกิจของจังหวัด จึงจะมีการเรียกประชุมไตรภาคีด้านแรงงานโดยด่วนในต้นสัปดาห์นี้ เพื่อหาข้อสรุปว่าตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะกับทุกฝ่ายควรเป็นเท่าไหร่ เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ทบทวน ทั้งนี้ ผู้ใช้แรงงานในอยุธยา ยืนยันว่าค่าแรงขั้นต่ำต้องเท่ากับกรุงเทพ คือวันละ 203 บาท เพราะค่าครองชีพในอยุธยาปัจจุบันเท่ากรุงเทพแล้ว ที่สำคัญจังหวัดใกล้เคียงล้วนได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าอยุธยา เช่น จ.สระบุรี ได้เพิ่ม 9 บาท จากเดิม 170 บาท เป็น 179 บาท

@ พบ47จว.ได้ไม่ถึง160บาท/วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ประจำปี 2551 ที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติให้ปรับเพิ่มระหว่าง 2-11 บาท โดยคณะกรรมการค่าจ้างฯ อ้างว่าใช้หลักเกณฑ์ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ แต่จากการตรวจสอบพบว่า การปรับขึ้นในแต่ละจังหวัดไม่ได้เป็นตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยการปรับเพิ่มมีความสับสน และเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในจังหวัดที่ใกล้เคียงกัน หรือมีขนาดเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ากลุ่มจังหวัดที่ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มสูงเป็นวันละ 203 บาท เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่จำนวนมาก เพียง 6 จังหวัดเท่านั้น คือกรุงเทพฯและปริมณฑล ในขณะที่ส่วนใหญ่จำนวน 62 จังหวัดได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่สูงสุดไม่เกินวันละ 170 บาทเท่านั้น ต่ำกว่ากลุ่มแรกถึงวันละ 33 บาท โดยกลุ่มนี้มี 47 จังหวัด ได้เพิ่มขึ้นต่ำกว่า 160 บาท โดยจังหวัดที่ได้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต่ำสุด คือ จ.ชัยภูมิ ได้เพิ่มเป็น 148 บาท ต่ำกว่ากลุ่มแรกถึงวันละ 55 บาท

@ "เชียงราย"ได้สูงสุดวันละ11บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากนี้จังหวัดในภาคเดียวกัน ยังได้รับการปรับค่าจ้างที่แตกต่างกัน เห็นได้จากภาคอีสานตอนใต้ เห็นได้จาก จ.นครราชสีมา ได้ปรับขึ้นวันละ 5 บาท แต่ จ.อุบลราชธานี ที่มีขนาดพื้นที่และเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ได้ปรับขึ้นวันละ 9 บาท ส่วนจังหวัดที่พื้นที่ใกล้เคียงแต่ขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่า อย่า จ.อำนาจเจริญ ได้ปรับเพิ่มขึ้นวันละ 8 บาท ทั้งที่ จ.นครราชสีมา มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่นและค่าครองชีพสูงกว่า นอกจากนี้ ภาคใต้ตอนล่าง คือ จ.ปัตตานีและยะลา ที่เคยได้รับค่าแรงในกลุ่มเดียวกับ จ.นราธิวาส ปรากฏว่าปีนี้ปัตตานีและยะลาได้ปรับเพิ่มค่าแรงวันละ 7 บาท แต่นราธิวาส ได้ปรับเพิ่ม 5 บาท เช่นเดียวกับ จ.สงขลา ได้ปรับเพิ่ม 5 บาท

นอกจากนี้ มี 3 จังหวัดที่ปี 2550 ไม่ได้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และมาครั้งนี้ได้ปรับขึ้นวันละเพียง 2 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเพิ่มที่น้อยที่สุด แตกต่างจาก จ.เชียงราย ที่ปี 2550 ไม่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดียวกัน แต่ปีนี้มีการปรับแบบก้าวกระโดด คือเพิ่มขึ้นถึงวันละ 11 บาท ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มสูงสุดและได้เพียงจังหวัดเดียว สำหรับภาคตะวันออก จ.ระยอง ได้ปรับเพิ่ม 8 บาท แต่ จ.ชลบุรี ที่มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ กลับได้ปรับเพิ่มวันละ 5 บาท (อ่านรายละเอียดรายงานหน้า 10)

@ แม่บ้านไทยในฮ่องกงยื่นรัฐช่วย5ข้อ

วันเดียวกัน น.ส.บังอร ธรรมสอน ประธานสมาคมรวมไทย น.ส.สวีท อินอ่ำ ประธานสมาคมเพื่อนไทย และนางวาสนา ศรีสมัย ประธานสมาคมสตรีไทย ได้ทำหนังสือในนามของแรงงานหญิงอาชีพผู้ช่วยแม่บ้านฮ่องกง ถึงนางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้สนใจคุ้มครองแรงงานไทย ที่ออกไปทำงานในฮ่องกง เนื่องจากปัจจุบันแรงงานหญิงต้องทำงานภายใต้แรงกดดันต่างๆ ที่เกิดจากนายจ้าง และรัฐบาลฮ่องกง ไม่มีสวัสดิการสังคมและการดูแลทางด้านสุขภาพอนามัยที่ดี และหากถูกยกเลิกสัญญาจ้างก่อนกำหนด หรือมีอายุมากขึ้น ก็ไม่สามารถทำงานในฮ่องกงได้อีก เมื่อต้องกลับประเทศไทย มักจะกลายเป็นคนว่างงานขาดหลักประกันในความมั่นคงของชีวิต ทั้งนี้ ตัวแทนขอยื่นขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้คุ้มครองแรงงานไทยที่ออกไปทำงานในฮ่องกง 5 ข้อ คือ 1.จัดให้มีบุคคลที่มีความรู้ด้านการวางแผนประกอบชีพในอนาคตมาให้การอบรมแก่แรงงานไทยในฮ่อง เพื่อเตรียมพร้อมก่อนตัดสินใจกลับประเทศไทย 2.เปิดสาขาอาชีพแม่บ้านในไทยให้ถูกต้อง มีสัญญาว่าจ้างที่ถูกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างถุกกฎหมาย 3.ภาครัฐควรแนวทางให้แรงงานที่ทำงานในต่างประเทศมีส่วนร่วมในกองทุนประกันสังคม เพื่อให้มีสิทธิใช้เงินกองทุนเมื่อกลับประเทศไทยแล้ว 4.ภาครัฐ ต้องกำหนดอัตราการจัดเก็บค่าบริการของสำนักงานจัดหางานในไทยให้ชัดเจนและควบคุมการเก็บค่าบริการให้เข้มงวด มีกฎหมายลงโทษอย่างจริงจังหากเก็บเกินกำหนด และ 5.ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้กลุ่มองค์กรที่ทำงานให้แรงงานไทยในฮ่องกง เพื่อให้โอกาสแรงงานช่วยเหลือกันเองได้