Thai / English

ราคาชีวิตแรงงานมนุษย์


รวงข้าว
19 .. 51
กรุงเทพธุรกิจ

ขอไว้อาลัยแก่แรงงานต่างด้าวชาวพม่า ที่เสียชีวิตในรถบรรทุก 10 ล้อ (ตู้คอนเทรนเนอร์สำหรับแช่แข็งอาหารทะเล) ทั้ง 54 คน จากการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากระบบทำความเย็นขัดข้องกลางทาง ริมถนนเพชรเกษม บริเวณหมู่ 3 บ้านบางกล้วย ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เมื่อกลางคืนวันที่ 9 เมษายน และอีก 21 คนอาการสาหัส

แม้จะเป็นแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานเถื่อน แต่ทุกชีวิตของมนุษยชาติมีคุณค่าคู่ควรแก่การดำรงอยู่เท่าเทียมกัน

ยุคที่ยังมีการต่อสู้ระหว่างสองค่าย สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และทุนนิยมเสรี หรือนับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมผ่านจากยุคศักดินาเข้าสู่ยุคทุนนิยม กรรมกรเป็นสากล แรงงานไม่มีรัฐไม่มีพรมแดนแบ่งแยก แรงงานทั่วโลก ล้วนถูกขูดรีดโดยนายทุนทั้งหมด

"กรรมกรทั่วโลกจงสามัคคีกัน" เป็นคำขวัญที่ถูกชูขึ้นมาเพื่อต่อสู้ทำความฝันให้เป็นจริง ในการโค่นล้มระบอบทุนนิยมยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของส่วนรวม ชนชั้นกรรมาชีพเป็นเจ้าของอำนาจ มีประวัติศาสตร์บันทึกความสำเร็จชัยชนะของกรรมกรในการสถาปนาคอมมูนปารีสที่ฝรั่งเศสในระยะเวลาสั้นๆ

ค่ายสังคมนิยมล้มไปพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตรัสเซีย เมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ความยากแค้นของผู้ใช้แรงงานยังคงอยู่ แม้ความเป็นสากลของกรรมกรที่ไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดนและเชื้อชาติ จะถูกเบียดขับด้วยความจริงของการยึดผลประโยชน์แห่งชาติตนเองเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นประเทศสังคมนิยม หรือเสรีนิยมก็ตาม

ยุคสงครามเย็นที่ผ่านมา นอกจากจะต่อสู้ระหว่างค่ายแล้วยังมีการต่อสู้กันเองของแต่ละประเทศในค่ายเดียวกัน เมื่อทุนนิยมไม่ล่มสลายเพราะการแพ้ภัยตัวเอง ในประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วแรงงานถูกพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต เข้าสู่ยุคการสื่อสารไร้พรมแดน มีการดูดซับทรัพยากรและแรงงานข้ามชาติไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ประเทศเหล่านั้นประชากรเป็นผู้บริโภคทรัพยากรสูงกว่าประเทศที่ถูกดูดซับทรัพยากรหลายเท่าตัว คุณภาพชีวิตของประชากรจึงต่างกันหลายเท่าตัวด้วย

คุณภาพชีวิตประชากรของประเทศที่ปกครองในระบบเปิด จะได้รับการพัฒนาไปมากกว่าประเทศที่ปกครองในระบบปิด โดยเฉพาะประเทศที่เป็นรัฐเผด็จการที่มีทหารเป็นผู้ปกครอง แม้จะเริ่มต้นพัฒนาหรือมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจมาพร้อมกัน แต่ความเป็นรัฐเผด็จการจะเหนี่ยวรั้งการพัฒนาและการเติบโตด้านเศรษฐกิจให้ล้าหลังได้อย่างยาวนาน ทรัพยากรไม่ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม มูลค่าทางการผลิต ถูกกอบโกยมาสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ถือครองอำนาจ ผู้ใช้แรงงานได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำมาก

ชีวิตที่ยากแค้นลำเค็ญของประชากรในประเทศดังกล่าว รวมทั้งภัยสงครามในประเทศที่มีความขัดแย้งของชนต่างกลุ่ม ทำให้การอยู่ในประเทศของพวกเขาไม่มีหลักประกันความอยู่รอด นอกจากการถูกกดขี่คุกคาม ชีวิตขาดความปลอดภัย แต่ละคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด หวังพบแสงสว่างปลายทางข้างหน้า แม้จะเป็นการไปตายดาบหน้า ที่หลายชีวิตพบกับความตายจริงๆ

ความตายของแรงงานต่างด้าวเบาหวิวดังขนนกในความรู้สึกของคนทั่วไป แต่เป็นความสูญเสียที่หนักแน่นดุจภูผาสำหรับลูกเมีย พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพราะเขาเป็นนักสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของผู้อยู่ข้างหลังผู้รอคอย

ผู้สูญเสียเหล่านั้นเป็นนักรบแรงงาน เป็นผู้ยอมทุกข์ยากแทนเจ้าของประเทศ ทำงานที่แรงงานงานในประเทศไม่ทำ ไม่ว่าเป็นงานสกปรก ทุกข์ยาก อันตราย ถูกกดขี่ขูดรีดเพียงใด แรงงานเหล่านี้ไม่มีทางเลือก ไม่ว่าเป็นกิจการประมง ก่อสร้าง แรงงานเกษตร อุตสาหกรรมล้าหลัง เต็มไปด้วยมลพิษ งานรับใช้ตามบ้าน รวมถึงงานบริการทางเพศ

นอกจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากความทุกข์ยากแร้นแค้นแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นการกระตุ้นของขบวนการค้ามนุษย์ ที่ใช้ทั้งการหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ หรือการซื้อเป็นสินค้าโดยตรงในแรงงานเด็ก หรือแรงงานบริการทางเพศ เพื่อนำไปแสวงหากำไรสูงสุด

รูปแบบการนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศของแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไป เดิมจังหวัดระนองใช้การดัดแปลงสภาพรถอำพรางเจ้าหน้าที่ด้วยการใช้โครงเหล็กสูงต่อเป็นคอกขึ้นไป ปูพื้นไม้ใต้โครงเหล็กหลังคา ก่อนจะนำพืชผักหรือสินค้ามาวางทับอำพราง วิธีการนี้มีใช้ในจังหวัดอื่นๆ ด้วย และมีแรงงานเถื่อนที่เคลื่อนย้ายด้วยวิธีนี้เสียชีวิตไปหลายรายแล้ว ทั้งที่เป็นข่าวที่ได้รับรู้และอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่เป็นข่าว

ส่วนค่าหัวในการค้ามนุษย์นำแรงงานต่างด้าวเข้าไทยอยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นบาท มีการป้องกันความเสี่ยงของนายหน้าค้ามนุษย์ โดยให้นายหน้าที่อยู่เมืองไทยโอนเงินเข้าบัญชีให้ก่อน เมื่อได้รับเงินครบแล้วจึงจะพาขึ้นรถ ส่วนที่จังหวัดกาญจนบุรีมีรายงานว่า หากมีแรงงานถูกจับกุม และผลักดันออกนอกประเทศ จะเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอัตราหัวละ 3,000 บาท

ด้านจังหวัดตากนายหน้าจะ "ตีตั๋ว" ให้แรงงานที่สมัครใจจะกลับบ้าน อัตราหัวละ 2,400 บาท จากนั้นจะพาไปส่งที่หมอชิตเพื่อขึ้นรถโดยสารกลับ แต่เมื่อเดินทางถึงบริเวณด่านตรวจแห่งหนึ่ง ก็จะมีเจ้าหน้าที่ (บางคน) เรียกไปทำประวัติ ก่อนจะ "เรียกเก็บ" หัวละ 500 บาท และผลักดันกลับประเทศไป

องค์การสหประชาชาติร่วมกับองค์กรอื่นๆ อีกหลายองค์กร ประกาศการจัดตั้งกองทุนระดับโลกขึ้นมา เพื่อรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเยี่ยงทาสเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้คนหลายล้านคนในแต่ละปี และมีมูลค่าสูงระหว่าง 3 ถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์

รายงานของสหประชาชาติประมาณว่า ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเยี่ยงทาสที่เกี่ยวข้องกับผู้คนราวๆ 2.5 ล้านคน โดยที่อาชญากรรมดังกล่าวมักไม่ค่อยจะมีการรายงาน และตัวเลขขององค์กรอื่นๆ อีกหลายองค์กรที่ประมาณกันไว้สูงกว่านี้

ตามอนุสัญญาว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์ของสหประชาชาติ ซึ่ง 110 ประเทศได้ให้สัตยาบันแล้วนั้น การค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ แต่นาย Antonio Maria Costa เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ กล่าวว่า บางประเทศไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขัน และทำให้เป็นปัญหามากขึ้นต่อไปอีก

รายงานของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมขององค์การสหประชาชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ประเทศไทย จีน ไนจีเรีย แอลเบเนีย บัลแกเรีย แบลลารูส มัลโดวา และยูเครน รวมอยู่ในกลุ่มประเทศที่เป็นแหล่งการค้ามนุษย์มากที่สุดในโลก

กรณีแรงงานต่างด้าวที่เสียชีวิตในรถตู้คอนเทรนเนอร์ที่จังหวัดระนอง แหล่งข้อมูลในพื้นที่ เปิดเผยว่า การค้าแรงงานเถื่อนเหล่านี้มีมานานแล้ว ทำเป็นขบวนการใหญ่โต กรณีล่าสุดขนย้ายเป็นขบวนถึง 4 คัน แต่ถูกรับรู้เพราะชาวบ้านไปเจอ หลังได้ยินเสียงทุบรถดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด และมีส่วนหนึ่งที่ตกใจเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาวิ่งหนีไปเสียชีวิตในบริเวณข้างเคียง

สภาทนายความฝ่ายสิทธิมนุษยชนเข้าไปดูแลแล้ว และจะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเร็วๆ นี้ เพราะเป็นเรื่องการละเมิดศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ สำหรับร่างแรงงานพม่าผู้เสียชีวิตได้ถูกนำไปรวมไว้ที่สุสานบ้านหินดาด หมู่ 3 ตำบลทรายแดง อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง พื้นที่เกิดเหตุ เพราะทั้งหมดเป็นมุสลิมอารกัน

ขบวนการค้าแรงงานมนุษย์ในประเทศไทย เป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ความมั่งคั่งให้ผู้เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนายหน้าในพื้นที่ ผู้ทำการขนย้าย ผู้ดำเนินการมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ซึ่งเกี่ยวโยงทั้งในพื้นที่ และระดับชาติ ผู้มีสีและกลไกของรัฐเองที่ปราบปรามจับกุมได้เฉพาะผู้เกี่ยวข้องรายเล็กรายน้อยเท่านั้น แต่ไม่เคยสาวไปถึงรายใหญ่ที่เป็นนักค้ามนุษย์ตัวจริงได้เลย

เป็นเพราะอยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันใช่หรือไม่ ถึงเวลาที่ผู้เป็นเจ้าของประเทศต้องยอมรับฐานะความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของแรงงานเหล่านั้น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้ใครทำอะไรก็ได้กับผู้คนเหล่านั้น เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด