Thai / English

‘บทบาทขบวนการแรงงานกับประเด็นแรงงานข้ามชาติ’: รายงานจากการประชุมที่สมุทรสาคร


บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, อดิศร เกิดมงคล และเสถียร ทันพรม คณะทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย1
24 .. 51
ประชาไท

เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 22-23 มีนาคม 2551 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “บทบาทขบวนการแรงงานกับประเด็นแรงงานข้ามชาติ” ณ โรงแรมเซ็นทรัลเพลส จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ผู้นำสหภาพแรงงานไทย นักพัฒนาจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ และพี่น้องแรงงานข้ามชาติจากจังหวัดเชียงใหม่ รวมประมาณ 40 คน

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินภาพรวมสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่กำลังดำเนินการอยู่ , ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงานและองค์กรที่ทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติ และร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมกันผลักดันและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการทำงาน โดยคาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเกิดแผนงานความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติ ในเรื่องการรณรงค์นโยบายสิทธิแรงงานข้ามชาติและการส่งเสริมการรวมกลุ่ม

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2551 ภาคเช้าเป็นการนำเสนอภาพรวมประเด็นแรงงานข้ามชาติ โดยคณะทำงานแรงงานข้ามชาติในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ภาคบ่ายเป็นการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยเรื่อง ความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกัน ส่วนวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2551 ภาคเช้าเป็นการนำเสนอเรื่อง การรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยคณะผู้แทนจาก ILO และการอภิปรายทั่วไปเรื่องความเป็นไปได้ในการนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในบริบทประเทศไทย ภาคบ่ายเป็นการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย เรื่องบทบาทสหภาพแรงงานในการส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

รายงานฉบับนี้จึงเป็นการสรุปเนื้อหาจากการนำเสนอของวิทยากรกับการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมใน 4 เรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) ภาพรวมประเด็นแรงงานข้ามชาติ

(2) ความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกัน

(3) การรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติและความเป็นไปได้ในการนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในบริบทประเทศไทย

(4) บทบาทสหภาพแรงงานในการส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

ภาพรวมประเด็นแรงงานข้ามชาติ

คุณอดิศร เกิดมงคล จาก International Rescue Committee (IRC) เป็นคนแรกที่นำเสนอเรื่องภาพรวมประเด็นแรงงานข้ามชาติใน 7 ประเด็นหลัก คือ

1. แรงงานข้ามชาติคือใคร

2. แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับปัญหาใดบ้างในชีวิตประจำวัน

3. มีใครเข้ามาเกื้อกูล/สนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

4. มีนโยบาย/กฎหมาย/กฎระเบียบใดบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

5. มีนโยบาย/กฎหมาย/กฎระเบียบใดบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

6. นโยบาย/กฎหมาย/กฎระเบียบที่มีอยู่ เพียงพอต่อการทำงานหรือไม่ อย่างไร

7. ก้าวต่อไปของการทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

พบว่าแรงงานข้ามชาติ คือ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา เช่น งานผู้ช่วยแม่บ้าน ประมงทะเลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเล เกษตรกรรม ก่อสร้าง คนที่ทำงานต่างๆเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนข้ามชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านของ 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา พวกเขาได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญมีคนจำนวนมากที่ได้จ้างแรงงานเหล่านี้มาทำงานทั้งในบ้านและในสถานประกอบการ

ที่ผ่านมาประเทศไทยขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในส่วนของภาคกรรมกรและคนรับใช้ในบ้านค่อนข้างมาก ประกอบกับการเคลื่อนย้ายของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาประเทศไทย ทั้งด้วยปัจจัยทางการเมือง เช่น กรณีประเทศพม่าที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนต้องหลบหนีภัยดังกล่าวเข้ามายังประเทศไทย หรือด้วยสาเหตุของความต้องการแรงงานของประเทศไทยและแรงผลักดันทางเศรษฐกิจจากประเทศต้นทาง ทำให้รัฐบาลไทยในแต่ละยุคจึงมีนโยบายที่อนุญาตให้จ้างแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ได้เป็นการชั่วคราวปีต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆมาเป็นระยะๆและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติอย่างน้อย 2 ล้านคน ที่ทำงานประเภทที่เสี่ยงอันตราย สกปรก และแสนลำบาก แลกกับค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ชีวิตของพวกเขาจะต้องอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวที่จะถูกส่งกลับอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งต้องเผชิญกับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากสถานภาพที่ผิดกฎหมาย กับสภาพการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานและไร้ซึ่งกลไกที่จะคุ้มครองป้องกันตนเอง พบว่าความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆที่แรงงานข้ามชาติจะต้องเผชิญมี 8 เรื่องหลัก คือ (1) การถูกขูดรีดจากนายหน้าในระหว่างการขนย้ายแรงงานข้ามประเทศ (2) ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย (3) การถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ (4) ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ (5) ความเสี่ยงที่จะถูกขูดรีดจากตำรวจ ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการถูกจับ (6) ความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมเนื่องมาจากการเดินทางข้ามเขตจังหวัด (7) ความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการไม่มีบัตรแรงงานต่างด้าว (8) ความรุนแรงเชิงอคติทางชาติพันธุ์

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเมื่อสืบสาวไปจะพบว่าเกิดจากความหวาดระแวงต่อแรงงานข้ามชาติ คิดว่าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวอันตรายน่ากลัว แรงงานข้ามชาติเองก็ต้องคอยหลบๆซ่อนๆด้วยเกรงว่าจะถูกจับกุมทำร้าย ส่งกลับ สภาพการณ์เหล่านี้ถูกสร้างเป็นภาพมายาที่กดทับให้สังคมไทยหวาดระแวงแรงงานข้ามชาติอยู่ตลอดเวลา การดำรงอยู่ของสังคมแห่งความกลัวนี้เองที่ช่วยเสริมสร้างให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพต่อแรงงานข้ามชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้การกดขี่ขูดรีดคนข้ามชาติเกิดขึ้นเหมือนเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งกลายเป็นแนวนโยบายแนวปฏิบัติของรัฐ และกลายเป็นความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

การเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทั้งการเอารัดเอาเปรียบทางเพศ การละเมิดสิทธิมนุษยชน กระบวนการขูดรีดในกระบวนการค้ามนุษย์ ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องพยายามช่วยเหลือตนเองให้ผ่านภาวะดังกล่าวไปให้ได้ ในสภาวะที่แรงงานข้ามชาติเผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก พวกเขาและเธอสามารถเอาตัวรอดได้ผ่านกระบวนการรูปแบบต่างๆที่พวกเขาเลือกสรรมาปรับใช้ ทั้งการเรียนรู้ที่จะจัดวางความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐเพื่อให้รัฐให้การยอมรับตนเอง ผ่านการนำเสนอตัวตนในฐานะการเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายผ่านการจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน และในฐานะการนำเสนอตัวตนผู้อยู่อาศัยในรัฐไทยที่ดี เพื่อต่อรองเรื่องความมั่นคงในการอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยโดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะด้วยสถานะที่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ได้มีเครือข่าย ไม่มีสถานะทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจที่ดี ที่จะเป็นเงื่อนไขที่จะสามารถทำให้ต่อรองกับรัฐไทยได้

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การที่แรงงานข้ามชาติมักจะเล่าถึงการได้ทำงาน การได้ส่งเงินกลับบ้าน การกระทำตนเป็นแรงงานที่ดีที่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง การนำเสนอความเป็นลูกจ้างที่ดีของนายจ้าง การเป็นลูกที่ดีของครอบครัวที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศพม่า การเป็นตัวจักรหรือกลไกขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ การนำเสนอเหล่านี้เองที่นำมาซึ่งความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางกายภาพและทางจิตใจให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้อย่างเป็นสุข

นอกจากนั้นการที่แรงงานข้ามชาติได้นำเสนอวัฒนธรรมประเพณีของตนที่มีรากเหง้า มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงหรือเหมือนกับชุมชนไทย เช่น ชุมชนมอญในแถบจังหวัดภาคกลาง กลุ่มกะเหรี่ยงหรือกลุ่มไทยใหญ่ในแถบจังหวัดภาคเหนือ จะสามารถก่อให้เกิดความรู้สึกที่เป็นพวกเดียวกันหรือเหมือนกันได้ เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับในการมีตัวตนและดำรงชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ

ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติเองก็มีการรวมตัวกันโดยตรง โดยเฉพาะการรวมตัวของประชาชนที่มาจากพม่า เพื่อเป็นองค์กรในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ เช่น Yaung Chi Oo Workers Association (YCOWA) Migrant Karen Labour Union (MKLU) หรือ Federation of Trade Unions - Burma (FTUB) เป็นต้น

นอกจากการพยายามช่วยเหลือตนเองแล้ว แรงงานข้ามชาติยังมีภาคประชาสังคมเข้ามาเกื้อกูล/สนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ทั้งผ่านองค์กรทางวิชาการที่ได้จัดทำงานวิจัย เช่น ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, ผ่านองค์กรอิสระภาครัฐ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ และ ผ่านการทำงานรณรงค์และการผลักดันเชิงนโยบายขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยและต่างประเทศ เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants- ANM) เพื่อร่วมกันเปิดพื้นที่ทางสังคมในมุมมองใหม่ๆให้กับแรงงานข้ามชาติ และทำการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติได้อย่างสะดวกขึ้น

สำหรับการสนับสนุนทางด้านการเมืองในระบบนั้น กลับพบว่านักการเมืองมองเรื่องแรงงานข้ามชาติเพียง 2 ประเด็น คือ ประเด็นทางเศรษฐกิจและประเด็นความมั่นคงเพียงเท่านั้น ทำให้การขับเคลื่อนประเด็นแรงงานข้ามชาติผ่านภาครัฐเป็นไปได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามจากการที่รัฐบาลไทยมักจะถูกประชาคมโลกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องแรงงานข้ามชาติในเวทีระดับโลกบ่อยครั้ง ทำให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องให้ความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น

ในปัจจุบันพบว่ายังมีนโยบาย/กฎหมาย/กฎระเบียบหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ ทั้งสถานการณ์ด้านกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ , สถานการณ์ด้านกฎเกณฑ์ มาตรการควบคุมแรงงานข้ามชาติ, สถานการณ์ด้านแนวนโยบาย และสถานการณ์อื่นๆ

สถานการณ์ด้านกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ เช่น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 88 ที่กำหนดคุณสมบัติลูกจ้างผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานซึ่งต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น , กฎกระทรวงฉบับที่ 9 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่มิให้บังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กับนายจ้างซึ่งลูกจ้างทำงานเกษตรกรรม, กฎกระทรวงฉบับที่ 10 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่คุ้มครองงานประมงทะเลที่มีจำนวนลูกจ้างน้อยกว่า 20 คน และเรือประมงที่ไปดำเนินการประจำอยู่นอกราชอาณาจักรติดต่อกันแต่หนึ่งปีขึ้นไป , ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเรื่องประเภทขนาดของกิจการและท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบ พ.ศ. 2537 ที่ยกเว้นกิจการบางกิจการที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนเงินทดแทน เช่น เพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ การค้าเร่ แผงลอย ทำงานบ้าน ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในกองทุนเงินทดแทนได้ , หนังสือเวียนสำนักงานประกันสังคม ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 เรื่อง การให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยกำหนดให้แรงงานต่างด้าวต้องมีหนังสือเดินทาง ต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างซึ่งจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเท่านั้น

สถานการณ์ด้านกฎเกณฑ์ มาตรการควบคุมแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ ประกาศจังหวัด ระนอง ระยอง พังงา ภูเก็ต ที่กำหนดมาตรการเพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยมีเนื้อหาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของแรงงานข้ามชาติ เช่น ให้นายจ้างควบคุมดูแลมิให้แรงงานและผู้ติดตามออกนอกสถานที่พักอาศัย ตั้งแต่เวลา 20.00-06.00 น. การห้ามมิให้แรงงานใช้โทรศัทพ์มือถือ การห้ามมิให้แรงงานชุมนุมนอกที่พักอาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

สถานการณ์ด้านแนวนโยบาย ได้แก่ นโยบายผลักดันแรงงานข้ามชาติซึ่งตั้งครรภ์กลับประเทศต้นทาง , จดหมายเวียนของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่กำชับให้แรงงานจังหวัดและสถานประกอบการทุกแห่งควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัด และไม่สนับสนุนให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของคนต่างด้าว, แนวนโยบายห้ามไม่ให้แรงงานทำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์

สถานการณ์อื่นๆ ได้แก่ อคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ ที่ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติมักถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงสิทธิต่างๆ , สื่อมวลชนมักรายงานข่าวซึ่งสร้างมายาคติให้แรงงานข้ามชาติ, เหตุการณ์อาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อแรงงานบ่อยครั้ง, การละเมิดสิทธิในการชุมนุมโดยสันติของแรงงาน และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งปรากฎหลายเหตุการณ์ที่แรงงานข้ามชาติตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมแต่ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้

แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายหรือแนวนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อแรงงานข้ามชาติ ก็ยังมีนโยบาย กฎระเบียบบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานข้ามชาติเช่นเดียวกัน ได้แก่ ปฏิญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานและปฏิญญาต่อเนื่อง ซึ่งกำหนดรับรองสิทธิ และเสรีภาพแรงงาน ดังต่อไปนี้ เสรีภาพในการสมาคมและการรับรองที่มีผลจริงจังสำหรับสิทธิในการเจรจาต่อรอง, การขจัดการเกณฑ์แรงงานและการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบ, การขจัดการเลือกปฏิบัติในด้านการมีงานทำและการประกอบอาชีพ, การยกเลิกอย่างได้ผลต่อการใช้แรงงานเด็ก

รวมทั้งยังมีสนธิสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศต่างๆ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการเกณฑ์แรงงาน (ฉบับที่ 29) ค.ศ. 1930 , อนุสัญญาว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่ากัน (ฉบับที่ 100) ค.ศ. 1951, อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในเรื่องค่าทดแทนกรณีเกิดอุบัติเหตุ (ฉบับที่ 19) ค.ศ.1925, อนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการจัดตั้ง (ฉบับที่ 87) ค.ศ. 1948, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิในการจัดตั้งและการเจรจาต่อรองร่วม (ฉบับที่ 98) ค.ศ. 1949 และอนุสัญญาว่าด้วยการยกเลิกแรงงานบังคับ (ฉบับที่ 105) ค.ศ. 1957

นโยบายดังที่กล่าวมาได้สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายบางเรื่องก็ยังไม่เอื้อต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติได้อย่างจริงจัง ยังมีกฎหมายนโยบายอีกหลายตัวที่ขัดขวางต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ เช่น ข้อจำกัดในเรื่องคุณสมบัติของผู้ก่อตั้งและกรรมการสหภาพแรงงาน ระเบียบที่ปิดกั้นไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ประกาศจังหวัดต่างๆ ประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ห้ามไม่ให้แรงงานข้ามชาติเดินทางออกนอกพื้นที่ โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าแม้กฎหมายที่คุ้มครองแรงงานข้ามชาติเอง ดังเช่น พรบ.คุ้มครองแรงงานก็ยังไม่มีกลไกที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติมากนัก เพราะไม่ได้ตระหนักถึงข้อจำกัดทางด้านภาษา สถานะทางกฎหมายที่แรงงานข้ามชาติมักจะถูกลงโทษด้วยกฎหมายคนเข้าเมืองก่อนที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายยังไม่คุ้มครองอย่างเต็มที่ในกิจการบางประเภทเช่น งานรับใช้ในบ้าน ภาคประมงทะเล หรือภาคเกษตร ที่สำคัญตัวกฎหมายเองก็ยังไม่มีกลไกที่จะเอื้อให้เกิดการคุ้มครองในประเด็นที่อ่อนไหวกับแรงงานข้ามชาติ เช่น กรณีนายจ้างยึดบัตรของแรงงานข้ามชาติ ก็พบว่ากฎหมายมีบทลงโทษต่อแรงงานที่ไม่พกพาบัตรประจำตัว แต่ไม่มีบทลงโทษต่อนายจ้างที่ยึดบัตรไว้ ยกเว้นจะแจ้งความดำเนินการในคดีอาญา

ฉะนั้นก้าวต่อไปของการทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย สังคมไทยต้องมีมุมมองใหม่ในการมองปัญหาแรงงานข้ามชาติว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาคนข้ามชาติ เพราะแรงงานข้ามชาติจากพม่า ลาว กัมพูชา มีแรงผลักดันของปัญหาที่มากกว่าแง่มุมทางเศรษฐกิจ ประการต่อมา คือ แนวคิดในการจัดทำนโยบายการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติควรวางอยู่บนฐานของแนวคิดสามประการคือ แนวคิดเรื่องความมั่นคงของสังคมและของประชาชน แนวคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงาน และแนวคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงงาน และสิ่งสุดท้าย คือ การนำแรงงานข้ามชาติที่หลบซ่อนอยู่ในสังคมไทยขึ้นมาปรากฎตัวให้เห็นโดยกระบวนการที่ทำให้ถูกกฎหมาย

เมื่อคุณอดิศร เกิดมงคล นำเสนอจบลง ต่อมาคุณจายแลง ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจากจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มแรงงานสามัคคี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของแรงงานข้ามชาติไทยใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า นำเสนอถึงถึงสถานการณ์ในพื้นที่

กลุ่มแรงงานสามัคคีเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ความคิดในการก่อตั้งกลุ่มแรงงานสามัคคีนั้นมีมานานแล้ว เพราะพบว่าแรงงานไทยใหญ่ที่มาทำงานในประเทศไทยไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้เรียนหนังสือ ขาดความรู้เรื่องกฎหมาย ทำให้โอกาสที่จะเผชิญกับการละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่รัฐและนายจ้างจะมีสูงมาก กลุ่มจะช่วยในการทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆให้เข้ามาช่วยเหลือหรือสนับสนุนเรื่องต่างๆต่อไป เริ่มแรกมีสมาชิกในกลุ่มเพียง 18 คน ตอนนี้มีสมาชิกรวม 57 คน การทำงานของกลุ่มจะทำงานร่วมกับ MAP Foundation ผ่านการฝึกอบรม การจัดรายการวิทยุ การให้ความรู้เรื่องต่างๆ สมาชิกในกลุ่มจะมาพบปะกันเดือนละ 1 ครั้ง จะมีการเก็บค่าบำรุงสมาชิกปีละ 200 บาท

ปัญหาสำคัญของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่เชียงใหม่ คือ การที่แรงงานไม่สามารถขับขี่มอเตอร์ไซด์ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพบแรงงานขณะที่ขับขี่มอเตอร์ไซด์ ซึ่งบางครั้งตำรวจก็ไม่มีการตั้งด่านตรวจ แต่ใช้วิธีการเรียกตรวจโดยตรง ตำรวจจะสังเกตว่าเป็นแรงงานผ่านการดูร่างกายของแรงงานที่จะมีการสักบนร่างกาย หรือบางคนจะมีกระติ๊บข้าววางไว้ด้านหน้ารถ แรงงานจะถูกจับกุมและเสียค่าปรับครั้งละ 2,000 บาท โดยนายจ้างจะต้องจ่ายร่วมด้วย 1,000 บาท และแรงงานจ่ายอีก 1,000 บาท แต่อย่างไรก็ตามนายจ้างก็จะมาหักเงิน 1,000 บาทที่เสียไปจากแรงงานอีกครั้งหนึ่ง เหตุการณ์ล่าสุดที่แรงงานเกิดความหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง คือ ตำรวจได้เข้าไปยึดมอเตอร์ไซด์ของแรงงานจำนวน 10 คัน ที่ศูนย์แรงงานแห่งหนึ่ง ขณะนี้มอเตอร์ไซด์เหล่านั้นอยู่ที่โรงพัก แต่ก็ไม่มีแรงงานคนใดกล้าเข้าไปพูดคุยกับตำรวจเพื่อนำกลับมา เพราะพวกเขาไม่มีบัตรประจำตัวแรงงานข้ามชาติ

แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มักจะซื้อมอเตอร์ไซด์ด้วยเงินสด ฉะนั้นเมื่อพวกเขาถูกจับแต่ละครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วเดือนหนึ่งๆจะมีโอกาสถูกจับประมาณ 3 ครั้ง ทำให้ต้องเสียเงินรวมทั้งสิ้น 6,000 บาท สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้แรงงานบางคนต้องตัดสินใจขายมอเตอร์ไซด์แทนการถูกจับ ข้อเรียกร้องที่สำคัญของแรงงาน คือ อยากให้รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้แรงงานสามารถขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ได้ มีใบขับขี่ที่ถูกกฎหมาย เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลไทยเคยเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่มีใบอนุญาตขับขี่ได้ในอำเภอมาแล้วครั้งหนึ่ง

การเดินทางจากรัฐฉานมาทำงานในจังหวัดเชียงใหม่นั้น พวกเขาต้องเสียเงินให้นายหน้าเป็นค่านำพามาอย่างน้อยคนละ 12,000 บาท ถ้าเดินทางไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ ที่ไกลกว่านี้ เช่น กรุงเทพ ค่านำพาก็จะสูงยิ่งขึ้น เงินที่พวกเขาจ่ายให้นายหน้านั้นส่วนใหญ่แล้วเขาจะต้องหยิบยืมเงินจากคนอื่นในหมู่บ้านก่อนแล้วค่อยจ่ายคืนภายหลัง โดยจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวของเงินที่ยืมมา เช่น ยืมเงินมา 10,000 บาท จะต้องจ่ายคืนรวม 20,000 บาท ในรัฐฉานปัจจุบันนี้ประชาชนไม่สามารถทำมาหากินได้ เมื่อก่อนจะมีเพียงคนในชนบทอพยพย้ายถิ่นไปยังเชียงใหม่เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้กลับพบว่ามีประชาชนในเมืองด้วย เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถทำธุรกิจได้อีกต่อไป เพราะไม่มีลูกค้ามาซื้อของ มีคนจำนวนมากจากรัฐฉานที่เดินทางไปเมืองไทยแล้ว แม้ว่าพวกเขาจะรู้ว่าการทำงานในเมืองไทยจะมีโอกาสถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ เช่น ค่าแรงได้ไม่ครบตามค่าแรงขั้นต่ำ การถูกขูดรีดจากตำรวจ จากนายจ้าง แต่ก็ยังดีกว่าอยู่ในรัฐฉานต่อไปที่ไม่สามารถทำมาหากินได้แม้แต่น้อย

จากตัวเลขการจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตทำงานในจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนลดลง เขาตั้งข้อสังเกตว่าเนื่องมาจากสาเหตุ 4 ประการที่สำคัญคือ (1) มีนายจ้างจำนวนมากที่รับเงินแรงงานเพื่อไปจัดทำใบอนุญาตทำงาน แต่จริงๆแล้วไม่ได้ทำจริง รวมทั้งเวลาที่แรงงานไม่ขอเงินคืนนายจ้างเหล่านั้นก็ไม่คืนให้ (2) แรงงานบางคนที่เดินทางกลับบ้านที่รัฐฉาน จะถูกเจ้าหน้าที่ยึดบัตรหรือเก็บบัตรคืน ทำให้แรงงานไม่มีบัตรไปต่อใบอนุญาตทำงานครั้งต่อไป (3) แรงงานพบว่าถึงแม้พวกเขาจะมีบัตรแรงงาน แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าพวกเขาจะได้รับสิทธิต่างๆจริงดังที่บัตรได้ระบุไว้ (4) มีแรงงานบางคนได้เลือกที่จะเข้าไปจดทะเบียนตามยุทธศาสตร์สถานะสิทธิบุคคลแทนที่จะมาจดทะเบียนของแรงงานข้ามชาติโดยตรง

***รายละเอียดเพิ่มเติม***

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=11619&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai