Thai / English

วันสตรีสากล: เสาวลักษณ์ ชายทวีป “จุดเริ่มอยู่ที่แรงงานของผู้หญิง”



08 .. 51
ประชาไท

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ ชายทวีป คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแรงงานอุตสาหกรรม แรงงานสัมพันธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการมองคนละมุม สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ FM100 Mhz โดย ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ ได้พูดถึงที่มาของวันสตรีสากล และสถานการณ์แรงงานสตรีในปัจจุบัน

อยากให้ช่วยบอกเล่าถึงความเป็นมาของวันสตรีสากล ?

วันสตรีสากลเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานมากของผู้หญิง จุดเริ่มต้นนั้นมาจากกรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานหญิงในโรงงานทอผ้า เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้มีการต่อสู้เดินขบวนเรียกร้องสิทธิ เนื่องจากว่าในช่วงนั้นมีคนงานในโรงงานทำงานเป็นเวลานานมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ซึ่งการทำงานในตอนนั้นเฉลี่ยวันละ 12 – 15 ชั่วโมง ผู้หญิงจึงมีการเรื่องร้องให้นายจ้างลดชั่วโมงการทำงาน และปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้ผู้หญิงมีสิทธิในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องของการเลือกตั้งรวมไปถึงการดูแลผู้หญิงในขณะตั้งครรภ์

จากนั้นคนที่มีบทบาทขับเคลื่อนให้มีการเห็นความสำคัญของผู้หญิงมากขึ้น โดย ‘คลาร่า เซทคิน’ กรรมกรหญิงชาวเยอรมันซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มแรงงานทอผ้าสตรีสากล เธอเป็นผู้ที่เสนอต่อการประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เรื่องร้องให้เห็นความสำคัญของผู้หญิง ซึ่งในที่ประชุมครั้งนั้นมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ 18 ประเทศได้ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของผู้หญิง จึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล

แล้วความเป็นมาของกลุ่มแรงงานสตรีในประเทศไทย เริ่มต้นกันอย่างไรบ้าง ?

จุดเริ่มต้นนั้นมาจากการเคลื่อนไหนทางด้านแรงงาน โดยการเคลื่อนไหวมักจะมีส่วนเริ่มมาจากแรงงานหญิง ซึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการเรื่องร้องในที่ต่างๆ ผู้หญิงจะอยู่ในส่วนที่เป็นส่วนเสริม เป็นกำลังสำรองให้กับกระบวนการแรงงานที่ต่อสู้ควบคู่ไปกับแรงงานชาย เนื่องจากในค่านิยมนั้น ผู้หญิงมักจะถูกมองว่ามีบทบาทที่อยู่เบื้องหลัง การที่ผู้หญิงจะอยู่แถวหน้าและเข้ามามีบทบาทเป็นแกนนำในสหภาพแรงงานต่างๆก็ต่อสู้พอสมควร ในการต่อสู้ของผู้หญิงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมาผู้หญิงก็มีบทบาทเยอะมากในการรวมตัวเรียกร้องสิทธิต่างๆ ถ้าหากเราดูประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของแรงงาน เราจะเห็นว่ากลุ่มผู้หญิงที่เข้ามาในยุคแรกๆก็จะเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากโรงงานทอผ้า ที่เข้าไปเรียกร้องสวัสดิการและการรวมกลุ่มกัน ซึ่งมีการรวมกันในหลายๆส่วน

สถานการณ์ด้านแรงงานในปัจจุบัน ซึ่งจากตัวเลขล่าสุดในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยมีแรงงานทั้งหมดประมาณ 8,600,000 คน ซึ่งมีแรงงานที่เป็นผู้หญิง ประมาณ 4,300,000 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เป็นกลุ่มที่เริ่มต้นมาจากนักวิชาการและ NGO ทางด้านแรงงานและกลุ่มผู้นำสตรี โดยการสนับสนุนของมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ทให้การสนับสนุนในเรื่องของความคิดและเงินทุนที่เอามาจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆของกลุ่ม ซึ่งมีการรณรงค์ในเรื่องของสิทธิของแรงงานในกลุ่มแรงงานสตรี และยังมีกลุ่มต่างๆที่เข้ามาเป็นแกนหลักในเรื่องของสหภาพแรงงาน

อยากให้ช่วยเปรียบเทียบระหว่างแรงงานสตรีในประเทศไทยกับแรงงานในประเทศอุตสาหกรรม

เป็นการยากที่จะมีการเปรียบเทียบ ซึ่งหากย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์แล้ว การต่อสู้ของประเทศอุตสาหกรรมนั้นมีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มที่มีแนวคิดในเรื่องการรักษาความเป็นธรรมโดยพื้นฐานหรือกลุ่มที่ต้องการจะเห็นการขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจ จะมีแนวทางการพัฒนาควบคู่กันไป ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ในขณะที่ประเทศไทยนั้น แรงงานได้ถูกแยกออกจากกระบวนการอื่นๆ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงแรงงาน เรามักจะนึกถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งในปัจจุบันแรงงานก็ได้ยอมรับขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง และแรงงานก็เริ่มมีการขยายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีมิติในเรื่องของสตรีเข้ามา ทำให้พื้นที่ในการทำงานของผู้หญิงกว้างออกไป เพราะฉะนั้นผู้หญิงก็ไม่ได้มีมิติที่จำกัดในเฉพาะแรงงาน แต่ยังขยายพื้นที่ไปยังกลุ่มอื่นๆอีกด้วย ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรหากเทียบกับประเทศอุตสาหกรรม

สถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง ?

ถ้าเราดูสถานการณ์ที่เจาะลึกลงไปในเรื่องของการจ้างงาน ในปัจจุบันในภาวะของการแข่งขันทางเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการเข้ามาของระบบการค้าเสรี ทำให้ผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของสถานประกอบการณ์นั้นต้องการลดต้นทุน เนื่องจากเหตุผลของการแข่งขัน เพราะฉะนั้นระบบการจ้างงานแบบใหม่ก็เริ่มเข้ามา นั้นก็คือ การจ้างงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งส่งผลเสียต่อแรงงานในด้านของความมั่นคงและสวัสดิการของแรงงาน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย

ผู้หญิงจะเข้าไปสู่ระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่นมากที่สุด เนื่องจากในส่วนหนึ่งผู้หญิงจะต้องดูแลครอบครัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งอาจจะทำให้เข้าไปสู่ระบบจ้างงานแบบเต็มรูปแบบนั้นทำไม่ได้เต็มที่

การจ้างงานแบบยืดหยุ่นนั้นมีหลายรูปแบบ อย่างเช่น การจ้างงานในรูปแบบการเหมาช่วง การจ้างงานแบบชั่วคราว หรือการที่บริษัทกระจายการผลิตออกไปในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะเข้ามากระทบความมั่นคงด้านแรงงาน โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งมักจะถูกจ้างโดยได้รับค่าจ้างที่ต่ำ

การจ้างงานในลักษณะนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการผลิต โดยเฉพาะโรงงานทอผ้า ซึ่งตอนนี้เราจะเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน โรงงานทอผ้าหลายแห่งได้ผิดตัวลง แต่จะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของการจ้างงานโรงงานย่อยๆในการผลิต ซึ่งอธิบายง่ายๆก็คือ การจ้างแบบเย็บผ้าโหล ซึ่งจะไม่ใช่เป็นพนักงานของบริษัท แต่พนักงานก็อาจจะกระจายการผลิตไปที่ต่างๆ และนำผลผลิตเข้าสู่ตลอด แต่ผู้ที่ผลิตไม่ได้เป็นพนักงาน ซึ่งจะไม่มีสิทธิและได้รับการคุ้มครอง

แต่การจ้างงานแบบยืดหยุ่นนั้นทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการ ?

ในเรื่องของการศึกษาอย่างเป็นระบบในเรื่องของแรงงานที่ได้รับการจ้างงาน หรือที่เราเรียกทั่วไปว่าแรงงานนอกระบบ ก็มีการศึกษาบ้าง แต่ในเชิงที่จะติดตามสถานการณ์ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพื่อที่จะเอาไปกำหนดในเชิงนโยบายว่าเราจะแก้ไขตรงจุดนี้อย่างไร เพื่อที่จะคุ้มครองแรงงานเหล่านี้ มีการพยายามที่จะให้ดูแรงงานในส่วนนี้ ในส่วนของกฎหมายประกันสังคม แรงงานก็อาจจะเข้าถึงได้ อีกประเด็นก็คือว่าการนิยามตัวนายจ้างที่แท้จริงที่จ้างแรงงานเหล่านี้ ยังไม่ชัดเจน จึงทำให้การออกกฎหมายที่มีผลไปถึงแรงงานเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นผล

อย่างไรก็ตาม แรงงานเหล่านี้ก็ได้มีการพยายามที่จะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของแรงงานที่จะลงไปถึงสภาพปัญหา และร่วมกันผลักดันให้เป็นกฎหมาย และนายจ้างที่ขึ้นมาเป็นเจ้าของสถานประกอบการขนาดย่อยที่จะดูแลสวัสดิการตรงนี้ แต่ในบางแห่งนายจ้างที่มาจากชาวบ้านเองซึ่งเป็นผู้ผลิต เพราะฉะนั้นศักยภาพในการจ่ายจึงมีจำกัด ซึ่งถ้าเราเรามีนายจ้างที่มีศักยภาพในการจ่ายมากพอ สิ่งนี้จะช่วยแรงงานได้เยอะขึ้น

ในเชิงของการดูแลแรงงานนั้นจะต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ซึ่งในเรื่องของประกันสังคมก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วทั้งนายจ้าง รัฐบาล ตัวแรงงาน ซึ่งค่าจ้างแรงงานเราก็ต่ำ คงจะไปกระทบรายรับของของลูกจ้างหรือผู้ประกอบการขนาดย่อยที่จะต้องรับภาระในส่วนนี้

ทางออกที่จะทำอย่างไรต่อแรงงานในกรณีนี้ ก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องมาพบกันทั้ง 3 ฝ่าย เราจะต้องหาจุดที่เหมาะสม ถ้าหากเมื่อเราเปรียบเทียบกับแรงงานภาคอุตสาหกรรมในต่างประเทศ เขาสามารถที่จะเข้าหากินได้ ในลักษณะที่รัฐบาล หรือกลุ่มที่สนใจเรื่องนี้ในเชิงวิชาการก็สามารถที่จะเข้าไปดึงผู้ที่เป็นเจ้าของ เป็นผู้ผลิตนั้นเข้ามารองรับในด้านใดด้านหนึ่ง อย่างเช่นการรองรับด้านการศึกษา ในเชิงการวิจัย หรือการแก้ไขปัญหาในด้านนี้จะทำอย่างไร

เมื่อเร็วๆนี้มีการประชุมเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ณ เมืองดูไบ มีการพูดคุยในเรื่องของการจ้างงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งการประชุมครั้งนี้ก็ได้รับการสนับสนุนในส่วนที่เป็นภาคธุรกิจเอกชนด้วย ซึ่งถ้าบ้านเราเกิดแบบนี้ขึ้นได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี

สังคมควรมีการปรับเปลี่ยนมุมมองในเรื่องผู้หญิงกับแรงงานกันอย่างไรบ้าง ?

เรื่องความรุนแรงจริงๆแล้วนั้น ความรุนแรงที่เรายังไม่ได้เข้าถึงประเด็นนี้โดยละเอียด เพราะอยู่ในระดับย่อยที่จะรวมไปถึงระดับครอบครัว ค่านิยม และที่สำคัญคือวัฒนธรรมทางการคิด ถ้าหากเราสามารถที่จะแก้ไขประเด็นในเรื่องของมุมมองนี้ได้ก็จะแก้ไขฐานความคิดทั้งระบบในสังคมไทยด้วย เพราะดูเหมือนว่าการรณรงค์ในเรื่องของความรุนแรงนั้นจะได้ผล แต่ถ้าหากเราศึกษาลงไปถึงในระบบฐานความคิดของกลุ่มต่างๆไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงในทุกภาคส่วนที่ทำงานอยู่ ผู้หญิงทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่อยู่ในระดับรากหญ้า ซึ่งฐานคิดตรงนี้มันไม่ได้มีการแก้ไขมากเท่าที่ควร

มุมมองและระบบความคิดการมองความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง ว่า ผู้หญิงจี้ต้องได้รับสิทธิในทางความคิดที่เขาจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย หรือรับรองสิทธิอะไรก็ได้ที่ผู้หญิงอยากจะทำ สิ่งนี้ก็เป็นมิติอีกด้านหนึ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไข

ซึ่งครอบครัวเป็นฐานที่ว่า การที่เขาจะรับเอาแนวคิดหรือถูกบ่มเพาะมาอย่างไร สิ่งนี้ก็จะเป็นจุดหนึ่งในเรื่องของการสะสมมุมมองในเรื่องของความรุนแรง แต่การที่ผู้หญิงไปอยู่ในส่วนต่างๆอย่างเช่นในที่ทำงาน หรือหน่วยงานต่างๆเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นถ้าหากมุมมองเปลี่ยน ฐานคิดมีการพัฒนาขึ้น การมีทัศนะคติต่อผู้หญิงก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องได้รับการแก้ไข และพัฒนาไปสู่การออกกฎหมาย แต่ถึงอย่างไรก็คงต้องใช้เวลานานพอสมควร

มองว่า ‘สตรีกับการเมือง’ นั้นยังมีความจำเป็นอยู่ใช่ไหมสำหรับประเทศไทย ?

หากเปรียบเทียบในอดีต กระแสที่ผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทโดดเด่นแบบนี้ รู้สึกว่าจะลดน้อยลงด้วยซ้ำไป เนื่องจากว่าบทบาทผู้หญิงเมื่อเข้าไปสู่กระแสการเมืองหลัก ผู้หญิงก็จะถูกกำหนดให้อยู่ใต้บทบาทของนักการเมืองผู้ชาย ซึ่งตอนนี้ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองมีน้อยมาก ซึ่งไม่ง่ายที่ผู้หญิงจะขึ้นมาตรงนี้”

ถ้าหากให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีตอนนี้คนไทยคิดอย่างไร ซึ่งจุดนี้เราจะต้องก้าวข้ามและพัฒนาไปอีก โดยผู้หญิงจะต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนกว่าจะถึงจุดนั้น ทั้งๆ ที่มีหลายองค์กรสนับสนุนผู้หญิงในด้านการเมือง เพราะฉะนั้นผู้หญิงก็ต้องทำงานหนักต่อไป