Thai / English

ประชาพิจารณ์เลือกบอร์ดสปส.ส่อวุ่น



07 .. 51
กรุงเทพธุรกิจ

ประชาพิจารณ์เลือกบอร์ด สปส.วุ่น ผู้นำแรงงานเห็นต่าง ทั้งหนุนเลือกตั้งตรง-เลือกผ่านสหภาพแรงงาน รองเลขาฯ ตั้งตุ๊กตาอ้างเลือกตรงใช้งบสูง 500 ล้านไม่พอ ถูกถล่มยับ แถมถูกแฉกลับว่าใช้เงินไม่มาก

วานนี้ (6 มี.ค.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคีของ สปส. โดยมีผู้ประกันตนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 200 คนเข้าร่วม

นายชลชนะ สุยะนาคางกูล รองเลขาธิการ สปส.เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบการกว่า 3 แสนแห่ง และผู้ประกอบการ 9 ล้านคน หากให้เลือกบอร์ดโดยตรงแบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก 300-500 ล้านบาท ดังนั้นควรเลือกทางอ้อม จึงยกร่างไว้ โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนในแต่ละจังหวัดหรือเขตพื้นที่ สมัครเป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งมีผู้เลือกผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ที่มาจากสถานประกอบการแต่ละจังหวัดเขตพื้นที่เป็นผู้ส่งมา

โดยมีหลักเกณฑ์ ผู้ประกันตนไม่เกิน 300 คนส่งตัวแทนได้ 1 คน ผู้ประกันตน 301-500 คน ส่งตัวแทนได้ 2 คน ผู้ประกันตน 501-800 คน ส่งตัวแทนได้ 3 คน และผู้ประกันตน 801 คนขึ้นไป ส่งผู้แทนได้ 4 คน สำหรับผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง 75 จังหวัดเขตพื้นที่ส่งผู้แทนได้ตามสัดส่วนผู้ประกันตนไม่เกิน 3 แสนคน ส่งได้ 1 คน ผู้ประกันตน 3-5 แสนคน ส่งได้ 2 คน ผู้ประกันตน 5-8 แสนคน ส่งได้ 3 คน และผู้ประกันตน 8 แสนคนขึ้นไป ส่งได้ 4 คน จากหลักเกณฑ์จะได้ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างทั่วประเทศ 98 คน

หลังจากนั้นผู้แทนฝ่ายลูกจ้างจะเป็นผู้สมัครเข้าเลือกตั้งในคณะกรรมการ 3 คณะ คือ คณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โดยภายใน 98 คนจะเลือกตั้งผู้แทนกันเองให้ได้ คณะกรรมการประกันสังคม 5 คน คณะกรรมการอุทธรณ์ 3 คน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน 3 คน ส่วนการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างนั้น ก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับการได้มาของตัวแทนลูกจ้าง

“วิธีการนี้ใช้เงินเพียงไม่เกิน 10 ล้านบาทเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามอันนี้เป็นแค่ร่างเท่านั้น สปส.จะไม่ยัดเยียดเพราะจะให้ผู้ประกันตนเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดเลือกเอาเองให้เห็นว่าได้ประโยชน์มากที่สุด โดย สปส.จะทำการรับฟังเสียงของผู้ประกันตนจนกว่าทุกคนเห็นว่าดีร่วมกัน ก่อนตัดสินใจเลือกตั้ง” นายชลชนะ กล่าว

ด้านนางบุญราศรี บุรพธานินทร์ ผู้อำนวยการกองประโยชน์ทดแทน กล่าวว่า ตนมาในฐานะนายจ้าง และเห็นว่าควรให้ผู้ประกันตนได้เลือกตั้งโดยตรง เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญคือไม่ได้ใช้งบประมาณสูงเป็นร้อยล้านอย่างที่นายชลชนะระบุ

ขณะที่นายชาลี ลอยสูง เลขาธิการสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลานานในการสรรหา

นายทวีเกียรติ ทองสวัสดิ์ ผู้แทนสภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ กล่าวว่า ควรใช้หลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือวิธีการอื่นที่สะดวกและง่ายกว่านี้ และค่อยคิดวิธีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้เร่งทำเกิน อาจสร้างความเสียหายให้กับสำนักงานประกันสังคมได้