Thai / English

ค่าแรง 28 บาทต่อวัน! ชีวิตลำเค็ญคนงานพม่าที่แม่สอด หลังถูกปิดงาน



01 .. 51
ประชาไท

เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนใน จ.ตาก เปิดเผยว่า บริษัท จิวกี่อุตสาหกรรมการทอ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานทอผ้า ตั้งอยู่ที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ทำการปิดงาน ทำให้พนักงานซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่ากว่า 600 คนของบริษัทได้รับความเดือดร้อน

แต่เดิมที่บริษัทยังดำเนินกิจการนั้น เมื่อ 3 เดือนก่อนได้ไล่พนักงานชาวพม่าออก 300 คน เนื่องจากไม่มีบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว ทั้งๆ ที่พนักงานจำนวนนี้ทำงานให้บริษัทมาเป็นเวลานาน ทำให้เหลือพนักงานปัจจุบันประมาณ 600 คนเศษ ประกอบด้วยพนักงานรายเดือน ซึ่งเป็นช่างและหัวหน้างาน 65 คน และพนักงานจ้างเหมารายชิ้น 550 คน เกือบทั้งหมดเป็นชาวพม่า

บริษัทดังกล่าวเปิดโรงงานทุกวันไม่มีวันหยุดวันอาทิตย์ ทำงานตั้งแต่ 8.00 น. พักเที่ยง 1 ชั่วโมง แล้วเริ่มทำงานต่อ 13.00 น. จนถึง 17.00 น. และบังคับทำงานล่วงเวลา (โอที) ในวันจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี และศุกร์ ทำงาน 18.00 น. – 23.00 น. จะจ่ายค่าแรงเพิ่ม 20 บาท เฉพาะพนักงานประจำ หากทำงานเกินเวลา 21.00 น. จนถึง 23.00 น. ส่วนวันพุธ และวันเสาร์ทำงานถึง 21.00 น. ไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลาเนื่องจากทำงานไม่เกิน 21.00 น. ส่วนวันอาทิตย์ทำงานจนถึงเวลา 17.00 น. ไม่มีล่วงเวลา

สำหรับพนักงานจ้างเหมารายชิ้นถูกปฏิบัติเหมือนพนักงานประจำทุกอย่าง เช่น ตอกบัตรเข้าทำงาน ทำงานล่วงเวลา แต่ไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลาเพิ่มแต่อย่างใด เนื่องจากได้รับค่าจ้างเป็นรายชิ้นแล้ว โดยบริษัทจะจ่ายเงินค่าจ้างให้พนักงาน ในวันที่ 15 ของเดือน และทั้งเดือนมีวันหยุดเพียงวันเดียว คือวันที่ 16 ของเดือน

โดยพนักงานรายเดือนซึ่งเป็นช่างเทคนิคและหัวหน้างานมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,600 – 7,000 บาท ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ส่วนพนักงานจ้างเหมารายชิ้น คิดค่าแรงตามจำนวนผลผลิต โดยทอผ้าชิ้นเล็ก จำนวน 1 โหล ใช้เวลาทอ 2 วัน จ่ายค่าแรงโหลละ 100 บาท ชิ้นละเอียด จำนวน 1 โหล ใช้เวลาทอ 5-6 วัน จ่ายค่าแรง 450 บาท โดยเฉลี่ยแล้ว พนักงานจ้างเหมารายชิ้น ได้ค่าแรงตกวันละ 50 – 70 บาทต่อคน

ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ทำการปิดงาน เนื่องจากไม่มียอดสั่งผลิตสินค้า โดยบริษัทปิดงานสำหรับพนักงานจ้างเหมารายชิ้นในวันที่ 8 ธ.ค. 50 และปิดงานสำหรับพนักงานประจำในวันที่ 25 ธ.ค. โดยพนักงานของบริษัทดังกล่าว ต้องกินนอนอยู่ในหอพักของโรงงาน เพื่อรอนายจ้างเปิดงานอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงจ่ายค่าแรงเต็มให้กับพนักงานรายเดือน แต่พนักงานจ้างเหมารายชิ้น บริษัทจ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่ง แต่แทนที่จะจ่ายให้วันละ 73.50 บาท ซึ่งเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของอัตราค่าแรงขั้นต่ำของ จ.ตาก บริษัทได้หักค่าค่าที่พัก ค่าน้ำประปา และน้ำดื่ม ค่าไฟฟ้า ค่าข้าวจำนวน 3 มื้อ คิดเป็นเงิน 45.50 บาทออก ดังนั้นหลังจากหักค่าใช้จ่ายทางบริษัทจึงต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างบริษัทปิดงานวันละ 28 บาทต่อคน

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่ 15 ม.ค. 50 ซึ่งเป็นวันกำหนดจ่ายค่าจ้าง พนักงานก็ยังไม่ได้รับค่าจ้าง ส่วนข้าวสารก็ได้รับเพียงวันละ 2 มื้อจากนายจ้างก็ไม่กิน ทำให้เมื่อ 25 ม.ค. 51 ที่ผ่านมา ลูกจ้างชาวพม่าจึงต้องเจรจากับนายจ้างที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตาก สาขา อ.แม่สอด

โดยมีการทำ ‘บันทึกข้อตกลง ฉบับที่ 1 ระหว่างตัวแทนลูกจ้างกับตัวแทนนายจ้างบริษัทจิวกี่อุตสาหกรรมการทอ จำกัด’ 25 ม.ค. 2551 เวลา 10.00 น. โดยได้เจรจาและได้ข้อตกลงว่า

1.บริษัทจิวกี่อุตสาหกรรมการทอ จำกัด นายจ้างรับจะจ่ายค่าจ้างจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในช่วงที่ปิดกิจการชั่วคราว เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2550 เป็นต้นไป

2.บริษัทจิวกี่อุตสาหกรรมการทอ จำกัด มีภาระค่าใช้จ่ายเนื่องจากลูกจ้างพักอาศัยในโรงงานและนายจ้างเป็นผู้จัดหาอาหารให้ลูกจ้าง ดังนั้นจึงได้ข้อตกลงกำหนดค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่พัก ค่าน้ำประปา และน้ำดื่ม ค่าไฟฟ้า ค่าข้าวจำนวน 3 มื้อ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 45.50 บาท ต่อวัน

3.นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างทุกวันที่ 15 ของเดือน

4.ค่าจ้างงวดระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน - 7 ธันวาคม 2550 นายจ้างพร้อมจะจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในวันนี้ และค่าจ้างจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2550 - 25 มกราคม 2551 นายจ้างจะจ่ายให้ลูกจ้างภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551

โดยพนักงานรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) กล่าวว่า จะรอจนกว่าโรงงานจะเปิดอีกครั้ง และรอให้ถึงวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งเป็นวันกำหนดจ่ายค่าแรงที่ค้าง หากไม่มีการจ่ายตามที่ตกลงกันไว้ และพนักงานตรวจแรงงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไม่เข้ามาบังคับ อาจต้องฟ้องศาลแรงงานแทน

ทั้งนี้ การปิดงานของโรงงานใน อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากเป็นโรงงานที่ผลิตตามออเดอร์หรือคำสั่งการผลิตของบริษัทแม่ หากไม่มีงานเข้า นายจ้างจะใช้วิธีปิดงานชั่วคราว แล้วยอมตกลงจ่ายค่าแรงให้คนงานครึ่งหนึ่ง ระหว่างรอเปิดโรงงานใหม่ หากมีคำสั่งการผลิตเข้ามาอีก