Thai / English

เปิดจดทะเบียนแรงงานเถื่อน



17 .. 51
กรุงเทพธุรกิจ

กระทรวงแรงงานเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่บัตรขาดอายุปี 2547 ตั้งแต่ 21 ม.ค.- 27 เม.ย.นี้ เตรียมประกาศเก็บเงินค่าธรรมเนียมผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นรายหัว พร้อมเก็บเงินแรงงานตั้งกองทุนส่งกลับ และให้ทำงานในระหว่างถูกเนรเทศได้

นายมนูญ ปุญญกริยากร อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และ กัมพูชา ในปี 2551 ว่า รัฐบาลได้มีมติให้จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อยู่ภายในประเทศ โดยนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าว ที่มีใบอนุญาต ท.ร.38/1 ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นไป ให้นำมาจดทะเบียน และขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานในปี 2551 ได้ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. - 27 เม.ย. ทั้งนี้จะต้องนำตัวแรงงานต่างด้าวไปทำการตรวจสุขภาพในระหว่างวันที่ 21 ม.ค. - 5 มี.ค.

นายมนูญ กล่าวว่า ในการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนนั้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่จะหมดอายุในวันที่ 28 ก.พ.2551จำนวน 141,289 คน ให้มาต่ออายุได้ตั้งแต่วันที่ 1-28 ก.พ.นี้ ส่วนกลุ่มผู้ที่หมดอายุในวันที่ 14 มี.ค.จำนวน 10,540 คน สามารถมาต่ออายุได้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. -14 มี.ค. และกลุ่มสุดท้ายที่หมดอายุในวันที่ 30 มิ.ย. จำนวน 394,443 คน สามารถมาต่ออายุได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.

รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่เคยมารายงานตัว และจดทะเบียนไว้กับกรมการปกครอง เฉพาะผู้ที่เคยมี ท.ร.38/1 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและทำงานได้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. 2553 เท่ากันทุกกลุ่ม ซึ่งแรงงานต่างด้าวดังกล่าวนั้นจะต้องมาขอใบอนุญาตทำงานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด

นายมนูญ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ....โดยมีเนื้อหาสาระเปลี่ยนวิธีการกำหนดโควตาแรงงานต่างด้าวให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากในอดีตเคยใช้วิธีการกำหนดโควตาให้แต่ละจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการขอโควตาแรงงานต่างด้าวเกินความต้องการที่แท้จริง ส่งผลให้เกิดปัญหาไม่ทราบความต้องการแรงงานอย่างแท้จริง และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน

พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะให้นายจ้างเสียค่าธรรมเนียมในการจ้างแรงงานเป็นรายหัว เพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างแจ้งความต้องการจ้างเกินจริง เพราะหากนายจ้างแจ้งจำนวนความต้องการเกินความต้องการก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมมากตามไปด้วย

ผู้สื่อข่าวถามถึงอัตราค่าธรรมเนียมโควตาที่จะเก็บกับผู้ประกอบการเป็นจำนวนเท่าไร นายมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่จะส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณา ภายหลังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แล้ว จึงจะประกาศเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ ภายหลังจากนั้นจึงจะมาพิจารณากันต่อไปว่าจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเท่าใด โดยจะพิจารณาจากอัตราเรียกเก็บของประเทศเพื่อนบ้านด้วย

นายมนูญ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถูกเนรเทศ หนีเข้าเมือง และถูกเพิกถอนสัญชาติ และอยู่ในระหว่างรอส่งกลับประเทศ มีสิทธิในการขอใบอนุญาตทำงานได้ชั่วคราว และ พ.ร.บ.ยังให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับประเทศ โดยให้นายจ้างหักเงินเดือนของลูกจ้างในแต่ละเดือนมาเข้ากองทุน