Thai / English

ผู้ประกันตน กว่า 6 ล้านป่วน สปส.วิ่งวุ่นหา รพ.ใหม่ทดแทน



17 .. 50
ผู้จัดการ

โรง พยาบาลเอกชน 112 แห่งมีมติถอนตัวกับกองทุนเงินทดแทนแล้ว มีผลสิ้นปี 2550เป็นต้นไป ด้านรองเลาขา สปส.ซัด รพ.เอกชนทำไปเพราะต้องการเพิ่มค่าหัว ขณะที่ปลัดกระทรวงแรงงานลั่น "ไม่แคร์และไม่เซ้าซี้"ชี้ยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่พร้อมจะเป็นสมาชิก ของ สปส.

รพ.เอกชนถอนจากกองทุนทดแทนแล้ว

หลังจากมีการเจรจากันมาหลายรอบระหว่างชมรมโรงพยาบาลเอกชนฯและสำนักงาน ประกันสังคมในที่สุดก็มาถึงคราว "แตกหัก"เมื่อชมรมโรงพยาบาลเอกชนเพื่อการพัฒนาระบบบริการประกันสังคมที่มี สมาชิก 112 แห่งประกาศยกเลิกทำสัญญาต่อกับกองทุนเงินทดแทนซึ่งจะมีผลในสิ้นปี 2550 นี้

นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี ประธานชมรมโรงพยาบาลเอกชนเพื่อการพัฒนาระบบบริการประกันสังคม เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่โรงพยาบาลสมาชิกชมรมฯ 112 แห่ง เคยมีมติเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่าจะถอนตัวออกจากการทำข้อตกลงกับกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำหรับสาเหตุที่ชมรมโรงพยาบาลเอกชนถอนตัวจากกองทุนเงินทดแทนมีสาเหตุเพราะ กองทุนเงินทดแทนไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำกับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปัญหานี้ยืดเยื้อมานาน 4-5 ปีแล้ว พวกเราอึดอัดมาก เนื่องจากต้องให้เครดิตทดลองจ่ายให้นายจ้าง ลูกจ้างไปก่อนแล้วไปเบิกกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ทีหลัง แต่ด้วยกฎเกณฑ์การพิจารณาของ สปส.ที่ตั้งมาอย่างซับซ้อน ทำให้โรงพยาบาลเก็บค่ารักษาได้เต็มที่ ทั้งที่รักษาผู้ป่วยหายเป็นปกติไปแล้ว และตอนนี้ค่าแพทย์ค่ายาเราถูกตัด ขณะที่โรงพยาบาลยังต้องคงมาตรฐานของโรงพยาบาลไว้ เพื่อป้องกันผู้ป่วยตำหนิ ทำให้โรงพยาบาลแบกรับภาระไว้เอง ซึ่งขณะนี้ไม่ไหวแล้ว ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลต้องการรู้ตัวเลขค่าใช้จ่ายรายหัว ค่ารักษาล่วงหน้า ที่กองทุน สปส.กำหนดให้ชัดเจน เพื่อได้คำนวณและกำหนดราคาว่าพอกินหรือไม่ อีกทั้ง อยากให้สปส.มีระบบแน่นอน

"ผู้บริหารกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมได้เชิญให้ชมรมฯมาร่วมประชุม แต่จนถึงขณะนี้ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันหลายประการ ทำให้ล่าสุดสมาชิกมีความเห็นว่า เมื่อข้อตกลงที่ทำไว้กับสปส. สิ้นสุดลงในสิ้นปี 2550 จะไม่มีการทำข้อตกลงต่อไปอีก เพราะข้อตกลงไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการที่ข้อตกลงนี้ไม่มีวันสิ้นสุด เพียงแต่บอกว่าสามารถยกเลิกได้ โดยบอกล่วงหน้า 90 วัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของ สปส."

นพ.ไพบูลย์ อธิบายอีกว่า ที่ผ่านมาทางชมรมฯได้เปิดเจรจาเพื่อหาข้อตกลงกับสำนักงานประกันสังคมถึง 3 ครั้งแต่ก็ไม่มีข้อยุติและล่าสุดมีการเจรจาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมาปรากฏว่าหาข้อยุติไม่ได้ ประกันสังคมไม่ยอมที่จะทบทวนสัญญาทางชมรมจึงมีมติถอนตัวจากกองทุนทดแทนซึ่ง จะมีผลตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป

ในกรณีที่ผู้ประกันตนประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเดิมทีนั้นโรงพยาบาลมีข้อ ตกลงกับ สปส.ว่าจะเป็นผู้สำรองค่าใช้จ่ายไปก่อนแล้วจะเบิกเงินจากกองทุนเงินทดแทนที หลังแต่หากเรายกเลิกสัญญาผู้ประกันตนต้องไปเบิกเงินดังกล่าวจากนายจ้างและ นายจ้างจะไปเบิกกับ สปส.ทีหลัง

"แม้ไม่มีการทำข้อตกลงกับสปส.แต่ไม่ทำให้ผู้ประกันตนเดือดร้อน เพราะการให้บริการยังเป็นไปตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีเบิกจ่ายจากเดิมที่โรงพยาบาลในข้อตกลงสำรองค่าใช้จ่าย ไปก่อนแล้วเบิกจากกองทุนเงินทดแทน แต่ถ้าถอนตัวจากสปส.แล้วจะใช้วิธีเบิกค่าใช้จ่ายจากนายจ้างและให้นายจ้างไป เบิกจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งวิธีการนี้ไม่ใช่การผลักภาระให้นายแจ้ง แต่ที่ผ่านมาโรงพยาบาลพยายามอำนวยความสะดวกให้นายจ้างเท่านั้น ซึ่งในทางปฎิบัติเมื่อโรงพยาบาลนำไปเบิกจ่ายก็มีปัญหาล่าช้ามาตลอด ทำให้โรงพยาบาลเป็นหนี้เป็นสิน แม้สปส.บอกว่าจะแก้ไขให้ดีขึ้นแล้วก็ตาม"

ซัด รพ.เอกชนต้องการค่าหัวเพิ่ม

สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการของ สปส.ปัจจุบันมีมากกว่า 150 แห่งแต่ละแห่งจะต้องเป็นโรงพยาบาลที่มี 100 เตียงขึ้นไปตามข้อกำหนดของ สปส.และโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีโควต้ารับผู้ประกันสูงสุด 130,000 คน ต่ำสุด 100,000 คน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกันตนทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านคน และที่เลือกใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนถึง 6 ล้านคน คิดเป็นสามในสี่ของผู้ประกันตนทั้งหมด และถ้าหากโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 112 แห่งไม่ทำสัญญาต่อไปผู้ที่เดือดร้อนก็คือผู้ประกันตนซึ่งในปีหน้าจะต้อง เลือกโรงพยาบาลแห่งใหม่แทน

สิทธิพล รัตนากร รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว สปส.กับโรงพยาบาลเอกชนเจรจาทำความตกลงกันแล้วถึง 3 ครั้ง โดยเฉพาะปัญหาการเบิกจ่ายเงินช้า และการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเราสั่งให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกไม่ให้เกิดปัญหาอีก ส่วนเรื่องที่สปส.มีสัญญาข้อตกลงให้มีผลตลอดไปนั้น เพราะเห็นเป็นเรื่องดี ที่โรงพยาบาลเอกชนไม่ต้องเสียเวลามาทำข้อตกลงปีต่อปีหรือสองปีครั้ง อีกทั้ง ยังรักษาลูกค้าเดิมไว้ได้ ถ้าโรงพยาบาลใดไม่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกก็สามารถที่แจ้งยกเลิกได้ ยืนยันว่า ที่ผ่านมาสปส.ยอมผ่อนปรนแก้ไขปัญหามาตลอด

"โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นประเด็นหลอกแต่ประเด็นจริงก็คือ การเรียกร้องอัตราค่าเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลรายหัวมากกว่า แต่ทั้งนี้ก็ขอให้เข้าใจว่า สปส.ก็กำลังดำเนินการอยู่ โดยเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นเป็น 45,000 บาท จากเดิม 35,000 บาท กรณีเจ็บป่วยรุนแรงเรื้อรังเบิกได้ไม่เกิน 300,000 บาทจากเดิม 200,000 บาท เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา"

นายสิทธิพล อธิบายต่อไปว่าหากโรงพยาบาลเอกชนรายใดมีปัญหาอึดอัดใจสามารถมาหารือกันได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องและเหมาะสมในขณะเดียวกันทาง สปส.ก็จะพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุดและขอยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดเหตุ ฉุกละหุก และไม่เป็นปัญหาจนส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนแน่นอน เนื่องจากได้คุยกับโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ รวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่สอนด้านการแพทย์อีกหลายแห่งไว้แล้ว และขอให้มั่นใจว่าจะมีโรงพยาบาลอีกหลายพันแห่งที่ต้องการเข้าร่วมกับ สปส.

ปลัดกระทรวงแรงงานลั่น "ไม่เซ้าซี้"

ด้านจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงานและประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม กล่าวว่า ในเมื่อโรงพยาบาลเอกชนประกาศแล้วว่าจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกองทุนเงิน ทดแทนก็ไม่รู้จะไปเซ้าซี้ทำไม เท่านี้ก็เป็นที่เข้าใจและจบแล้ว เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหามานาน

"ช่วงที่ผ่านมาเรามีปัญหาเยอะทำให้ต้องแก้ทีละเรื่อง แต่โรงพยาบาลกลับมาใช้วิธีออกข่าวโจมตีการทำงานของข้าราชการ อย่างนี้มันก็ไม่ค่อยดี เราเป็นข้าราชการ ทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนมากกว่า ทุกครั้งที่พูดกัน ท่านไม่ได้พูดถึงเรื่องข้อตกลง พูดแต่เพียงว่าเงินมีอยู่เท่าไร จะได้เท่าไร ผมอยากถามกลับไปว่าตอนนี้โรงพยาบาลของท่านให้บริการเป็นอย่างไร เพราะถึงขณะนี้เราได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องการบริการจำนวนมาก ไปบอกเลย ผมไม่กลัวเลย เบื่อเต็มทีกับเรื่องนี้"

สำหรับกองทุนเงินทดแทนเป็นหนึ่งในกองทุนประกันสังคมโดยให้ความคุ้มครองลูก จ้างที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะ หรือ ตาย จากการทำงาน โดยเก็บเงินสมทบจากนายจ้างฝ่ายเดียวในอัตราไม่เกิน 5% ของค่าจ้างลูกจ้างต่อปีบางแห่งเก็บแค่เพียง1- 2% เท่านั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของประเภทงานด้วย เช่น ก่อสร้าง จะถูกจัดเก็บในอัตราที่ สูงอาจจะถึง 5% ส่วนการเก็บในอัตราที่ต่ำจะเป็นงานบริการ เช่น ธุรกิจ โรงแรม เป็นต้น

กองทุนเงินทดแทนได้ทำสัญญากับโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกว่า จะต้องรักษาพยาบาลให้ กับผู้ประกันตนที่บาดเจ็บจากการทำงานและให้เบิกเงินโดย 1. การทำใบส่งตัวไปยังโรง พยาบาลที่ทำข้อตกลงไว้แล้วให้โรงพยาบาลมาเบิกจ่ายจากกองทุน 2. นายจ้างหรือลูกจ้าง สำรองจ่ายไปก่อนแล้วนำหลักฐานมาเบิกจ่ายกับกองทุน โดยสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ได้รับค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทน เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 35,000 บาท กรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกิน 35,000 บาท ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 50,000 บาท

นอกจากนี้กรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเพิ่มอีก 50,000 บาท ไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่ม ขึ้นอีก ทั้งนี้ รวมค่ารักษาพยาบาลทั้ง 2 กรณีแล้ว ต้องไม่เกิน 200,000 บาท ปัจจุบันกองทุนเงินทดแทนมีโรงพยาบาลเป็นสมาชิกให้บริการทั้งสิ้นจำนวน 1,132 แห่ง แยกเป็นเอกชน 261 แห่ง รัฐบาล 871 แห่ง มีเงินกองทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านจากกองทุนเงินประกันสังคมทั้งหมด 4.5 แสนล้านบาท