Thai / English

เผยสินค้าใช้แรงงานสูงน่าห่วง



22 .. 50
ผู้จัดการ

แบงก์ชาติเผยผลประเมินความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวของภาคการผลิตไทย พบกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานสูง-เสื้อผ้าสำเร็จรูปน่าห่วงความสามารถในการแข่งขันลด ส่วนสินค้ากลุ่มยานยนต์และภาคเกษตรยังเติบโตได้ดีตามอุปสงค์ในตลาดโลก แนะรัฐ-เอกชนวางนโยบายที่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาแรงงานต่อเนื่อง

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนตุลาคม 2550 ได้ระบุว่า จากการประเมินความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวของภาคการผลิตของไทย พบว่า สินค้าที่ใช้แรงงานสูง(Labor Intensive) เช่น สิ่งทอที่ไม่ใช่ผ้าผืน รองเท้า และเครื่องหนัง มีความสามารถในการแข่งขันในทิศทางแย่ลง คือ มีอุปสงค์ขยายตัวต่ำและความสามารถในการแข่งขันต่ำ ทำให้ต้องมีการลดการลงทุนหรือถอนการลงทุนมากที่สุด ขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูป แม้อุปสงค์ขยายตัวต่ำ แต่ยังมีความสามารถในการแข่งขันสูง จึงมีการปรับกลยุทธ์ด้วยการรักษาตลาดไว้ แต่เริ่มมีแนวโน้มเช่นเดียวกับสินค้าที่ใช้แรงงานสูง เนื่องจากเสียเปรียบด้านต้นทุนแรงงาน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศจีนและเวียดนาม

สำหรับสินค้าที่เน้นการใช้เทคโนโลยีในการผลิต เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ ซึ่งอุตสาหกรรมกลุ่มนี้เป็นอุตสาหกรรมที่เกิดจากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาของบริษัทข้ามชาติและมีนโยบายให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ โดยปัจจัยที่ดึงดูดบริษัทข้ามชาติกลับเป็นประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของแรงงานไทยที่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีค่าจ้างถูกอย่างจีนและเวียดนามได้ จึงไม่ใช่เรื่องของต้นทุนแรงงานที่ถูก

ส่วนสินค้าในกลุ่มยานยนต์ แม้ว่าไทยจะมีส่วนแบ่งการตลาดไม่มากนัก แต่การที่ไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแรง รวมทั้งมีการเพิ่มสายการผลิตรถยนต์ Eco-car และการขยายตลาดส่งออกไปสู่ประเทศตะวันออกกลาง ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มดีต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง กุ้งแช่แข็ง และน้ำตาล ที่ยังคงความสามารถในการแข่งขัน ส่วนหนึ่งเพราะไทยมีความได้เปรียบในการผลิต ประกอบกับอุปสงค์ในตลาดโลกยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ภาพรวมของการส่งออกไทยมีผลกระทบจากการแข่งขันลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการที่ผู้ประกอบการพยายามปรับกลยุทธ์ด้านการตลาด โดยแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยกลุ่มสินค้าที่ยังคงมีความสามารถในการแข่งขันดี คือ สินค้าที่เน้นการใช้เทคโนโลยีการผลิต เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และแผงไฟฟ้า ส่วนการผลิตคอมพิวเตอร์ แม้ปัจจุบันยังคงความสามารถในแข่งขันไว้ได้ แต่มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากมีการกระจุกตัวของตลาดเพิ่มขึ้น และยิ่งมีลักษณะของการรับจ้างผลิตด้วยแล้ว ยิ่งทำให้การปรับตัวของผู้ประกอบการค่อนข้างจำกัด

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว และเมื่อเผชิญกับการแข่งขึ้นของค่าเงินบาท จึงมีโรงงานบางแห่งต้องปิดกิจการลงในที่สุด โดยจากข้อมูลการเปิด-ปิดโรงงานของกรมโรงงาน พบว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ มีโรงงานที่ปิดกิจการแล้วทั้งสิ้น 1,303 แห่ง และมีพนักงานที่เลิกจ้างงานทั้งสิ้น 32,215 คน ขณะที่โรงงานที่เปิดกิจการอยู่มีจำนวน 2,946 แห่ง มีพนักงานทั้งสิ้น 74,091 คน โดยอุตสาหกรรมที่มีโรงงานปิดตัวลงมักมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบนำเข้าต่ำและมีการใช้แรงงานในการผลิตสูง ทำให้มีการปรับตัวของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ทำได้ค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ในขณะที่มีโรงงานปิดตัวลงก็มีโรงงานใหม่ทดแทน รวมทั้งบางส่วนมีการขยายกิจการ ทำให้ในภาพรวมการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัว และการจ้างงานรวมของประเทศก็ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคเศรษฐกิจอื่นยังมีความสามารถรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างได้

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางนโยบาย เพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาแรงงานให้มีการทักษะและความสามารถสอดคล้องกับความต้องการแรงงานของภาคการผลิต เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต