Thai / English

ดูด 3.6 พันล้าน ขึ้นเงินเดือน รสก.



03 .. 50
ผู้จัดการ

เผยรัฐสูญเสียรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 3,639 ล้านบาท หลัง ครม.ไฟเขียวขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจไม่เกิน 4% ชง ก.คลังเป็นผู้กำหนดนโยบายการปรับเงินเดือนแทนกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ค่าจ้างรัฐวิสหกิจ และข้าราชการสอดคล้องกัน ชี้ปี 47-49 ขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ 2 ครั้งรวม 20%

นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. (2 ต.ค.) มีมติเห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจไม่เกิน 4% ของอัตราค่าจ้างที่ได้รับ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป โดยใช้งบประมาณของรัฐวิสาหกิจนั้น เบื้องต้นคาดว่ารัฐวิสาหกิจทุกแห่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกปีละ3,639 ล้านบาท ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ไปศึกษาโครงสร้างการกำหนดค่าจ้าง ค่าตอบแทนภาพรวมของรัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการในระยะต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ แทนกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังตั้งข้อสังเกตว่า ระหว่างปี 47-49 มีการขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ 2 ครั้งรวมกัน 20% ซึ่งมากกว่าการขึ้นเงินเดือนข้าราชการในช่วงเวลาเดียวกันที่ปรับเพิ่มแค่ 6% ทำให้มีความลักลั่นกันค่อนข้างมาก ขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐวิสาหกิจกลับไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ขณะเดียวกัน ภาพรวมรัฐวิสาหกิจยังมีกำไรลดลงต่อเนื่องในปี 47-49 โดยปี 47 มีความสามารถทำกำไร 8.26% ลดลงเหลือ 6.75% ในปี 48 และ 7.08% ในปี 49 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายบุคลากรสูงขึ้น

"การปรับค่าจ้างครั้งนี้ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำรัฐวิสาหกิจเพิ่มจาก 5,290 บาท เป็น 5,510 บาท หรือเพิ่ม 220 บาท และค่าจ้างขั้นสูงจาก 109,150 บาท เป็น 113,520 บาทหรือ 4,370 บาท ซึ่งสูงกว่าการปรับเงินเดือนข้าราชการ 4% ในช่วงที่ผ่านมาที่ทำให้ขั้นต่ำ เพิ่มขึ้น เดือนละ180 บาท คือจาก 4,450 บาท เป็น 4,630 บาท ขณะที่ขั้นสูงเพิ่มขึ้น 2,560 บาท คือจาก 63,960 บาท เป็น 66,480 บาท"

ผู้ช่วยโฆษกฯ กล่าวว่า การปรับเพิ่มเงินเดือนของรัฐวิสาหกิจครั้งนี้ ต้องพิจารณาประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งว่าดีเพียงใด และพิจารณาด้วยว่าได้พัฒนาขึ้นหรือไม่ โดยให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งกำหนดค่าตอบแทนผันแปรตามตัวชี้วัดที่สัมพันธ์กับผลงานที่เพิ่มขึ้น ของรัฐวิสาหกิจ และหากมีการปรับเพิ่มค่าจ้าง ก็ควรจัดหารายได้เพิ่มเติม หรือลดค่าใช้จ่ายขององค์กรลง เพื่อให้เพียงพอต่อรายจ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องการให้ต้นทุนที่สูงมีผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในอนาคต โดยเฉพาะการขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที)

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย การขอปรับค่าจ้างรัฐวิสาหกิจ 3 ส่วน คือ รัฐวิสาหกิจ 13 แห่ง ที่ ครม.เคยมีมติให้สามารถกำหนดอัตราเงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ เองได้ ให้เป็นอำนาจคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง และให้ปรับได้ไม่เกิน 4% ของค่าจ้าง โดยใช้เงินงบประมาณของรัฐวิสาหกิจนั้น, รัฐวิสาหกิจ 39 แห่ง ที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้าง 58 ขั้น ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ให้ปรับค่าจ้างของลูกจ้างทุตำแหน่งในอัตรา 4% ของค่าจ้างที่ได้รับ ยกเว้นตำแหน่งผู้บริหารซึ่งใช้สัญญาจ้าง และลูกจ้างระดับผู้บังคับบัญชาซึ่งใช้สัญญาจ้าง ที่มีระยะเวลากำหนดไว้ โดยใช้เงินของรัฐวิสาหกิจนั้นเอง

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจ 14 แห่ง ที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือน ค่าจ้างเป็นของตนเอง ให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณาปรับค่าจ้างของลูกจ้างทุกตำแหน่งในอัตราไม่เกิน 54% ของอัตราค่าจ้างที่ได้รับ ยกเว้นตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งใช้สัญญาจ้าง และลูกจ้างระดับผู้บังคับบัญชา ที่ใช้สัญญาจ้าง โดยใช้งบของรัฐวิสาหกิจเอง และในกรณีมีการปรับค่าจ้างแล้วอัตราใดเกินอัตราขั้นสูงสุดให้ถือว่าอัตรานั้น เป็นอัตราขั้นสูงสุดด้วย

นายโชติชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังตั้งข้อสังเกตว่า ฐานเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจระดับล่าง กลาง ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับฐานเงินตลาดจ้างงานเอกชนในระดับเดียวกัน เพราะเงินเดือนรัฐวิสาหกิจบางแห่งใกล้เคียงกับเงินเดือนของเอกชนแล้ว