Thai / English

รพ. 112 แห่ง ลงมติไม่เซ็นสัญญา 'กองทุนเงินทดแทน' ขู่ถอนตัวออกจากระบบประกันสังคม



24 .. 50
เครือมติชน

รพ. 112 แห่ง ลงมติไม่ร่วมเซ็นสัญญากับกองทุนเงินทดแทน สปส. อ้างแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นไม่ไหว ใช้เวลานานกว่าจะเบิกได้ หันมาเรียกตรงจากสถานประกอบการแทน พร้อมขู่ถอนตัวออกจากระบบประกันสังคม เรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามจริงกับผู้ป่วยที่มาใช้บริการ

ชมรมโรงพยาบาล (รพ.) เพื่อการพัฒนาระบบบริการประกันสังคม ที่มี นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เป็นประธาน ทำหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า สมาชิก รพ.ในเครือข่าย 112 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเปิดให้บริการรักษาดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายและเจ็บป่วยจากการทำงาน เช่น รพ.หัวเฉียว, รพ.เกษมราษฎร์, รพ.เปาโล, รพ.กล้วยน้ำไท, รพ.ยันฮี, รพ.นวนคร เป็นต้น มีมติร่วมกันว่า ไม่เข้าร่วมเซ็นสัญญากับกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นได้ และที่ผ่านมากองทุนเงินทดแทนก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างสมาคม รพ.เอกชนกับกองทุนเงินทดแทน เมื่อเดือนธันวาคม 2548 ชมรมจึงมีความจำเป็นต้องเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากสถานประกอบการโดยตรง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป ซึ่งได้ทำหนังสือแจ้ง ไปถึงสถานประกอบการและลูกจ้างที่ใช้บริการกับ รพ.เอกชนทั้ง 112 แห่ง ให้ทราบแล้ว

หนังสือเวียนดังกล่าวยังระบุว่า เหตุผลที่ไม่สามารถลงนามข้อตกลงกับกองทุนเงินทดแทนใน ปี 2551 มีจำนวน 12 ข้อ เช่น อัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วย ที่กองทุนเงินทดแทนจ่ายให้กับผู้ประกันตนรายละ 35,000 บาท แต่ถ้าเป็นกรณีบาดเจ็บหลายส่วน เช่น กระดูกหักหลายท่อน หรืออวัยวะภายในแตก แต่ ผู้ป่วยยังรอดชีวิต กองทุนก็จะยอมจ่ายค่ารักษารายละ 85,000 บาท รวมทั้งกรณีบาดเจ็บสาหัส อาทิ ผ่าตัดสมอง ลำไส้แตก จ่ายให้ไม่เกินรายละ 2 แสนบาท ซึ่งอัตราค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่เพียงพอกับการรักษาที่เป็นจริง เพราะเป็นอัตราที่ใช้มากว่า 11 ปีแล้ว

ขณะที่ นพ.นพดล นพคุณ รองประธานชมรม กล่าวว่า การที่ รพ.เอกชน 112 แห่ง บอกเลิกสัญญากับกองทุนเงินทดแทนนั้น สะท้อนให้เห็นว่าเหลืออดแล้ว เพราะทนแบกรับค่าใช้จ่ายฝ่ายเดียวมานาน โดยที่กองทุนก็ไม่เคยเหลียวแล แม้จะมีหนังสือขอเข้าร้องเรียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนอง ทำให้ปัญหายังดำรงอยู่ ซึ่งทุกวันนี้ รพ.จะต้องสำรองค่ารักษาพยาบาลไปก่อน แต่เมื่อถึงเวลาทำเรื่องขอเบิกคืนจากกองทุนกลับทำได้ยาก และใช้เวลานานร่วมปี รวมทั้งยังได้รับค่ารักษาคืนไม่ตรงกับข้อเท็จ จริง ทำให้เกิดยอดเงินค้างสะสมเป็นจำนวนมาก

นพ.นพดลยังกล่าวกรณีความไม่ชัดเจนของ ค่าใช้จ่ายรายหัวของผู้ประกันตน ตามที่ชมรมยื่นเรื่องให้กองทุนประกันสังคมกำหนดตัวเลขรายหัวที่ชัดเจนว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ หาก สปส.ยังไม่ให้คำตอบว่าจะให้ค่าหัวเท่าไหร่ ทาง รพ.ทั้ง 112 แห่ง คงต้องพิจารณาตัดสินใจว่าอาจถอนตัวออกจากระบบประกันสังคม และจะต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามจริงกับผู้ป่วยที่มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกันตนหรือใครก็ตาม