Thai / English

คนงานรับได้ขึ้นค่าจ้าง กทม.7บาท ต่างจังหวัด 2-6 บาท



12 .. 50
กรุงเทพธุรกิจ

คนงาน รับได้ แต่ไม่พอใจ ค่าจ้าง กทม.เพิ่ม 7 บ. ตจว. 2-6 บ.เผยไม่สะท้อนความจริง จ่าย เดือนละกว่า 1.4 หมื่นบาท ขณะที่นายจ้าง ชี้ปรับค่าจ้างทำโรงงานเจ๊งเพิ่ม คนไทยตกงาน เหตุนายทุนย้ายฐาน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการค่าจ้างกลางจะมีการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำใน วันที่ 21 ก.ย.เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2551 โดย กทม.ปรับเพิ่มไม่เกิน 7 บาท ต่างจังหวัดปรับเพิ่มตั้งแต่ 2-6 บาท ว่าในส่วนของกทม.7 บาทนั้นถือว่าพอรับได้ระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายจริงของผู้ใช้แรงงานตามที่ คสรท.เรียกร้อง 233 เท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันว่าทุกคนต่างก็ลำบาก อีกอย่างหนึ่ง 7 บาทก็เทียบเท่ากับ 4% ที่รัฐปรับขึ้นกับข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่เห็นด้วยในส่วนต่างจังหวัดนั้นขึ้นให้แค่ 2-6 บาท เพราะถือเป็นการเลือกปฏิบัติทั้งที่ค่าใช้จ่าย ราคาสินค้า ค่า ครองชีพเท่ากัน

“พอรับได้ แต่ก็ยังไม่พอใจ เนื่องจากที่เราสำรวจค่าใช้จ่ายจริงของลูกจ้างทุกวันนี้ ไหนจะค่ารถ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ค่าที่เช่าบ้าน ค่าไฟฟ้า ประปา เลี้ยงลูก ค่าเล่าเรียนลูก ตกเดือนละ 13,740 บาท ซึ่ง กทม.เพิ่มขึ้นอีก 7 บาท ก็เท่ากับ 198 ต่อวัน เดือนหนึ่งก็ตกประมาณ 6,000 บาท คิดดูสิว่าจะต้องแบกรับภาระหนี้สินอีกมากเท่าไหร่ ชีวิต คนงานจะมีความสุขได้อย่างไร มันไม่พอหรอก” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

น.ส.สุกานตา สุขไผ่ตา คณะอนุกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ลูกจ้างเสนอไป 7 บาท นายจ้างเสนอ 2 บาท ราชการ 3 บาท ซึ่งโหวตกันสุดท้ายได้แค่ 3 บาท มันจะไปพอใช้จ่ายได้อย่างไร มันไม่เห็นจะสะท้อนความเป็นจริงเลย ค่าใช้จ่ายสินค้าทุกอย่างแพง ทั้งที่เราคำนวณค่าใช้จ่ายไปแล้วอย่างน้อยสุดต้อง 7 บาทขึ้นไปจึงจะ อยู่ได้ อย่างไรก็ตามคิดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้ คงประกาศใช้ไม่ทันแน่นอน

ด้านนายสมพงษ์ นครศรี รองประธานอาวุโสด้านแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ด้วยสภาวะ เศรษฐกิจปัจจุบันนายจ้างได้รับผลกระทบส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจนแบกภาระไม่ไหว หาก ขึ้นอีก 7 บาท จะทำให้หลายโรงงานเลิกกิจการ โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาด เล็ก อีกอย่างหนึ่งผลเสียจะเกิดตามมาจากการปรับค่าจ้างสูงๆนั้น จะทำให้ผู้ประกอบการมองหาแหล่งผลิตใหม่ที่มีค่าแรงถูกกว่า เช่น เวียดนาม จีน เป็นต้น ซึ่งมีต้นทุนด้านแรงงาน เพียงวันละ 60-70 บาท ส่งผลให้ลูกจ้างแรงงานไทย ตกงานกันเพิ่มขึ้น