Thai / English

รง.แอร์ยอร์คหารือ ‘ลูกจ้าง’ไม่ได้ข้อสรุปหวั่นมีตกงาน



06 .. 50
เดลินิวส์

ประท้วงบริษัทผลิตแอร์ดัง “ยอร์ค” ยังยืดเยื้อ พนักงานกว่า 300 ชีวิตเมินข้อเสนอเงินชดเชยนายจ้างด้านรองพ่อเมืองชลบุรี เรียกประชุมหน่วยงาน ตัวแทนนายจ้างเก่า-ใหม่ ได้ข้อสรุป บ.นายจ้างไม่ได้ทำผิด ก.ม. นัดหารืออีกรอบ 6 ก.ย.ด้าน ก.แรงงาน ลั่นไม่มีคนตกงาน ประสานงานกรมจัดหางานหาตำแหน่งรองรับไว้แล้ว "อธิบดี กสร." คาดโทษนายจ้างไทยศิลป์ฯ หากไม่จ่ายเงิน 29 ล. ให้ลูกจ้างกว่า 500 คนภายในวันที่ 7 ก.ย.นี้

กรณีพนักงาน บจก.จอห์นสัน คอน โทรลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บจก.ยอร์ค อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) ผู้ผลิตแอร์ยี่ห้อยอร์ค ในเขตส่งออก 2 นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กว่า 300 คน ชุมนุมประท้วงเนื่องจากโรงงานขายกิจการให้กับ บมจ.เอสเอ็นซี ฟอร์เมอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและประกอบแอร์ทั่วโลก ทำให้พนักงานดังกล่าวหวั่นเกรงว่าจะถูกลอยแพ แม้ว่าบริษัทต้นสังกัด จะยินยอมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และจ่ายค่าชดเชยเป็นกรณีพิเศษ 30% แต่กลุ่มคนงานก็ไม่รับข้อเสนอ ยืนกรานให้นายจ้างใหม่รับเข้าทำงานทั้งหมด เนื่องจากมีพนักงานจำนวนมากที่มีอายุการทำงานนานมาก หากไม่ได้ทำงานที่เดิมก็หวั่นเกรงจะตกงาน เลยปักหลักชุมนุมที่หน้าสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรม แหลมฉบังต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ตามข่าวที่นำเสนอไปนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มพนักงานได้ย้ายมาชุมนุมประท้วงที่หน้าสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ติดที่ว่าการอำเภอศรีราชาตั้งแต่ช่วงเช้าวันเดียวกัน เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างใหม่รับเข้าทำงาน ต่อมาเวลา 13.00 น. นายคมสัน เอกชัย รอง ผวจ.ชลบุรี ได้เดินทางมาพร้อมเชิญตัวแทนนายจ้างเดิม ตัวแทนผู้ซื้อกิจการใหม่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไปประชุมหาข้อยุติในเรื่องนี้ ได้ข้อสรุปว่าเจ้าของโรงงานเดิมไม่ได้ทำผิดกฎหมายแรงงาน เพราะยอมชดใช้ค่าทดแทนให้ตามกฎหมายรวม 5 ประการ คือ 1.จ่ายชดเชยทดแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ) 2.ชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 3.ชดเชยค่าพักร้อนวันทำงานที่เหลืออยู่ 4.โบนัสประจำปีจนถึงเดือนสิงหาคม 2.78% ของเงินเดือน 5.เบี้ยขยันล่วงเวลา (โอที) โดยบริษัทจะโอนเงินเข้าบัญชีกับคนงานทุกคนภายใน 3 วัน หลังจากวันนี้ และหากคนงานยินยอมเซ็นหนังสือเพื่อไม่ฟ้องร้องตามกฎหมายแรงงานภายหลังที่พึงกระทำได้ บริษัทยินดีจ่ายเป็นค่าชดเชยเพิ่มให้เป็นกรณีพิเศษอีก 30% ซึ่งในที่ประชุมวันนี้ ได้ยินยอมจ่ายเงินชดเชยพิเศษดังกล่าวเพิ่มเป็น 40%

ส่วนตัวแทนเจ้าของกิจการใหม่ ยืนยันว่าเข้าซื้อทรัพย์สินและกิจการโรงงานผลิตแอร์ยอร์คเท่านั้น ไม่ใช่การเทคโอเวอร์ซึ่งหมายถึงการซื้อกิจการควบทั้งหมดรวมทั้งคนงานด้วย ดังนั้นหากคนงานเก่าต้องการกลับเข้าทำงานก็ให้เขียนใบสมัครงานทิ้งไว้เพื่อพิจารณารับเป็นราย ๆ ไป จากนั้นที่ประชุมได้เชิญตัวแทนสหภาพแรงงานฯ มารับทราบข้อสรุป ซึ่งทางสหภาพฯ ได้ต่อรองเรื่องเงินชดเชยพิเศษ 40% เป็นชดเชยปีละ 1 เดือน พนักงานรายใดทำงานมา 10 ปี ต้องได้เงินชดเชย 10 เดือน ซึ่งผู้ประกอบการเดิมไม่สามารถรับได้ ขณะที่กลุ่มพนักงานได้ยืนยันชุมนุมประท้วงต่อที่หน้าสำนักงานสวัสดิการฯ และมีการนัดเจรจาใหม่ในวันที่ 6 ก.ย.นี้

ด้าน บจก.จอห์นสัน คอนโทรลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ชี้แจงกรณีปิดโรงงาน บจก.ยอร์ค อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) ว่า เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายในการบริหารจัดการการผลิตของบริษัทฯ ในระดับโลก รวมถึงปรับให้ตรงความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยโรงงานได้ร่วมมือกับ สำนักงานจอนห์สัน คอนโทรลส์ฯ สาขาอื่น ๆ ทั้งในประเทศและประเทศใกล้เคียง ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียง เพื่อหาโอกาสจ้างงานให้กับพนักงานของโรงงานให้มากที่สุด รวมถึงเสนอจ่ายชดเชยให้กับพนักงานทั้งหมดสูงกว่ากฎหมายแรงงานไทยกำหนด ซึ่งสำนักงานของ บจก.จอห์นสัน คอนโทรลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) รวมถึงเครื่องปรับอากาศยอร์ค ที่ดำเนินการจัดจำหน่ายและให้บริการ จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการปิดโรงงานครั้งนี้ โดยบริษัทฯ ดำเนินการด้วยความมุ่งมั่นต่อธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยสำนักงาน 7 สาขา มีพนักงานในกลุ่มประมาณ 500 คน โดยไม่มีผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้นจากการปิดโรงงานครั้งนี้

วันเดียวกัน ที่กระทรวงแรงงาน นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการช่วยเหลือลูกจ้างพนักงาน บริษัท ยอร์ค อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตแอร์ยี่ห้อยอร์ค ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี 333 คน ว่า ได้รับรายงานข้อเท็จจริงจากสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีแล้ว โดยทราบว่าบริษัทดังกล่าวได้ขายกิจการให้บริษัท เอสเอ็นซี ยองซาน เอฟโวลูชั่น จำกัด ซึ่งมีผู้บริหารเป็นคนไทย และไม่มีความประสงค์รับพนักงานเดิมทำงาน ซึ่งอาจจะต้องการเปลี่ยนให้ได้มาตรฐานตามที่บริษัทใหม่กำหนด

นายผดุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นบริษัทดังกล่าวสามารถตกลงกับพนักงานได้ประมาณ 100 คน เหลืออีกประมาณ 200 คน ที่ต้องตกงานหรือบางคนอาจจะต้องการทำงานที่เดิม ซึ่งยืนยันชัดเจนว่า กสร.จะเข้าไปดูเรื่องสิทธิประโยชน์และขอรับรองว่าคนงานที่เหลือนั้นไม่ตกงานแน่นอน เพราะขณะนี้ได้ประสานไปยังกรมการจัดหางานเพื่อหาตำแหน่งงานว่างอื่น ๆ ในพื้นที่บริเวณ จ.ชลบุรีและใกล้เคียงรองรับไว้แล้ว และลูกจ้างคนไหนที่ตกงานขอให้แจ้งมาได้ที่ กสร.จะเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน ส่วนในเรื่องสิทธิประโยชน์กรณีบริษัทเลิกจ้างนั้น ทางบริษัทได้รับปากว่าจะจ่ายให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น เงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เบี้ยขยันรายปี ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 57 วัน เป็นต้น รวมเป็นเงินกว่า 90 ล้านบาท

นายผดุงศักดิ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือพนักงานบริษัทไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต จ.สมุทรปราการ ว่า กสร. คงเข้าไปเกี่ยวข้องได้ไม่มาก เนื่องจากนายจ้างและลูกจ้างได้ทำการตกลงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อร่วมกันขายเครื่องจักรเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นค่าชดเชย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,800 เครื่องขายไปแล้วเกือบ 2,000 เครื่องเหลือ 840 เครื่อง ได้เงินประมาณ 63 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวน ดังกล่าวยังอยู่ในบัญชียังไม่มีการเบิกจ่ายให้กับพนัก งานโดยขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของคณะ กรรมการฯ ว่าจะจ่ายให้เมื่อไหร่ กสร.ไม่เข้าไปยุ่งเรื่องนี้ ทำได้เพียงพิจารณาข้อเรียกร้องที่ลูกจ้างเขียนคำร้องเป็น คร.7 มา โดยขณะนี้มีพนักงาน บริษัทไทยศิลป์ฯ เขียนคำร้องมาแล้ว 560 คน และ กสร.ก็ได้ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้กับคนงานเหล่านี้ 29 ล้านบาทภายในวันที่ 7 ก.ย.นี้ ซึ่งถ้าหากนายจ้างยังไม่จ่าย กสร.ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.